Retail Disruption การดิสรัปค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค

Retail Disruption  การดิสรัปค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค

คำถามสำคัญในห้วงเวลานี้ ฤา 'Modern Retail' หรือ ค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย กำลังถูก Disrupt กำลังหมดเสน่ห์ หรือ ถึง 'กาลอวสาน' ยอดขายไม่โต หรือ โตช้า อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาและยุโรป?

  • ส่อง Timeline ความเป็นมาและเป็นไปค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค จากยุค Pre-modernize Retail (2499-2540) สู่  ยุค Modernize Retail (2531-2565)
  • วิกฤติการเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ไม่ได้เป็นตัว Disruption แต่เป็นปัจจัยเร่งให้การพลังการ Disruption ครั้งที่ 3 เร็วขึ้น สู่ยุค  Digital Retail หรือ New Retail 
  • นับจากปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา เป็นยุคบุกเบิกตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของผู้ประกอบภูธรอย่างแท้จริง
  • ธุรกิจยุคใหม่ต้องผสมผสานสร้างโอกาสทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์

Forbes นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรากฏว่า Walmart เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน ตั้งแต่ ค.ศ.2013-2019 อย่างไรก็ตาม จากการจัดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกล่าสุด ปี 2022 Walmart หล่นไปอยู่อันดับที่ 10

ขณะเดียวกัน Forbes ก็ได้จัดอันดับเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก ในปี 2020 ปรากฎว่า 'Walmart ยังคงครองอันดับ 1' มายาวนานตลอด 20 ปี ส่วนอันดับที่ 2 คือ Amazon และตามมาด้วย Alibaba นี่แสดงถึง ค้าปลีกแบบ Modern Retail ที่ Walmart เป็นต้นแบบกำลังถดถอยลงเรื่อย ๆ และอาจจะถึงกาลอวสานอยู่เร็ววัน

 

การค้าปลีกออนไลน์ หรือ Digital Retail รายใหญ่อย่าง Amazon และ Alibaba ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดหายใจลดต้นคอเบอร์ 1 อย่าง Walmart อย่างกระชั้นชิด!

เมื่อการค้าออนไลน์ที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างมาก ประชากรไทยสัดส่วนกว่า 90% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย 'สินค้าราคาถูก' จึงไม่ใช่คำตอบในการเลือกซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์ความพึงพอใจทั้งความสะดวกและประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ดี

นอกจากนี้ การค้าออนไลน์ ยังมีการสร้างรูปแบบมากมายหลากหลายที่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการซื้อได้ง่ายขึ้นในแบบทุกที่ทุกเวลา สามารถส่งมอบสินค้ากระจายเข้าไปในชุมชนย่อยๆ ได้ชั่วข้ามคืน

คำถาม ฤา 'Modern Retail' หรือ ค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย กำลังถูก Disrupt กำลัง 'หมดเสน่ห์' หรือ ถึงกาล 'อวสาน' ยอดขายไม่โตหรือโตช้าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาและยุโรป?

 

Timeline ความเป็นมาและเป็นไป ค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค

ยุค Pre-modernize Retail (2499-2540)  

- ก่อนปี พ.ศ. 2475 ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ยังคงเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กที่ขายให้กับผู้คนในชุมชนตลาดสด และละแวกใกล้เคียง ที่พัฒนาจนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ต่อมาก็มีร้านค้าแบบสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์กรุงเทพฯ และสหกรณ์พระนคร

- ปี พ.ศ.2466 'ห้างไนติงเกลโอลิมปิก' ห้างสรรพสินค้าเครื่องดนตรีและเครื่องกีฬาแห่งแรกในไทย

- ปี พ.ศ.2494 'ตันตราภัณฑ์' ร้านค้าแห่งแรกของเชียงใหม่เกิดขึ้นบนถนนท่าแพ

- ปี พ.ศ.2495 'ห้างใต้ฟ้า' (ซึ่งตอนนี้เป็นที่ตั้งโรงแรมไชน่า ปริ้นเซส เยาวราช) 'ห้างแมวดำ' (ยังอยู่ตรงที่แยกถนนราชวงศ์ตัดกับถนนเยาวราช)

Disruption ครั้งที่หนึ่ง ห้างสรรพสินค้าและห้างสรรพาหารปรากฏขึ้น

- ปี พ.ศ.2499 'เซ็นทรัล' เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่วังบูรพา ตามแนวความคิดการค้าปลีกแบบตะวันตก

- ปี พ.ศ.2507 ห้างสรรพสินค้า 'ไทยไดมารู' ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก็ได้เปิดสาขาแห่งแรก ที่ราชประสงค์ ถือได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าต่างชาติแห่งแรกที่นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่บันไดเลื่อน และเครื่องปรับอากาศ เข้ามาเป็นส่วนประกอบของห้าง

- ปี พ.ศ.2510 ร้านค้าปลีกแบบห้างสรรพาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต แบบตะวันตกเริ่มจากร้านขายของชำขนาดใหญ่ มีเคาน์เตอร์เครื่องคิดเงิน แต่ก็ยังไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็มีอยู่หลายร้าน อาทิเช่น ร้านธานีที่บางรัก ร้านสุ่ยฮั้ง ร้านตงฮู ร้านใต้ดินสโตร์ที่สุขุมวิท และสนามเป้า

- ปี พ.ศ.2517 ซูเปอร์มาร์เก็ตเต็มรูปแบบก็ได้เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ 'ฟู้ดแลนด์' (Foodland) ซึ่งเปิดสาขาแรกที่ถนนพัฒน์พงศ์ และเปิดสาขาเพลินจิตในเวลาต่อมาอีกไม่นาน ซึ่งน่าจะสามารถบันทึกเป็นตำนานได้ว่า Foodland เป็นต้นแบบของซูเปอร์มาร์เก็ตสแตนด์อโลน ( Stand Alone) ของซูเปอร์มาร์เก็ตของเมืองไทย

- ปี พ.ศ.2522 'ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน' สาขาอนุสาวรีย์ เป็นสาขาแรก

- ปี พ.ศ.2524 'ห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์' เชียงใหม่ เปิดอีก สาขาช้างเผือก

- ปี พ.ศ.2525 'ส.การค้า' เปิดสาขาแรกบนถนนวิชยานนท์ ในชื่อ ส.ชอปปิ้งมอลล์

Disruption ครั้งที่ 2 ศูนย์การค้า เข้าแทนที่ ห้างสรรพสินค้า Stand Alone

- ปี พ.ศ.2525 'เซ็นทรัล ลาดพร้าว' ศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกไทย ซึ่งประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นแรงดึงดูดลูกค้า

- ปี พ.ศ.2526 'เดอะมอลล์' เปิดศูนย์การค้าาสาขาแรกที่ราชดำริ

- ปี พ.ศ.2527 'ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ราชดำริ' เปิดสาขาด้วยเทคโนโลยีลิฟท์แก้วตัวแรกของไทย

- ปี พ.ศ.2528 'ศูนย์การค้ามาบุญครอง' เปิดดำเนินการ

- ปี พ.ศ.2530-2535 ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเกิดขึ้นใหม่ต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2530 ไม่ว่าจะเป็นห้างขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เช่น พาต้า ตั้งฮั่วเส็ง เมอรี่คิงส์ บางลำพู แก้วฟ้า อาเซียน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีห้างสรรพสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะห้างญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาดำเนินกิจการ เช่น คาเธ่ย์ โซโก้ โตคิว เยาฮัน ฯลฯ

- ปี พ.ศ.2530 'สีสวนพลาซ่า' ถือกำเนิดขึ้นบนถนนช้างคลาน มีลักษณะเป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบแห่งแรกของเชียงใหม่

- ปี พ.ศ.2532 ห้างสรรพสินค้า 'วรวัฒน์ช๊อปปิ้งเซ็นเตอร์'

- ปี พ.ศ.2531-2538 เกิดโครงการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าจำนวนมากต่อเนื่อง พบว่ามีห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเกิดขึ้นทั่วประเทศนอกเขตกรุงเทพปริมณฑล กว่า 42 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ สีสวนพลาซ่า วรวัฒน์ช๊อปปิ้งเซ็นเตอร์ กาดสวนแก้ว แอร์พอร์ตพลาซ่า อุบลราชธานี ห้างสรรพสินค้ายิ่งยง อุดรธานี ศูนย์การค้าเจริญศรี ศูนย์การค้าโอเชี่ยน ที่ภูเก็ต หาดใหญ่ และ นครศรีธรรมราช คลังพลาซ่า โคราช อภิพลาซ่า เชียงราย ห้างแฟรี่ ขอนแก่น ท้อปแลนด์พลาซ่า พิษณุโลก แฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ วิถีเทพ นครสวรรค์ ทวีกิจพลาซ่า บุรีรัมย์, นาซ่า สุพรรณบุรี สหไทย สุราษฎร์ และ นครศรีธรรมราช

- หลังวิกฤติการทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540  กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัวโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดต้องปิดตัวกันเป็นจำนวนมาก

ยุค Modernize Retail (2531-2565)

เมื่อเอ่ยถึง Modern Retail ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยเรามักจะเข้าใจว่าเป็นรูปแบบที่แบ่งประเภท Hypermart Convenience store Supermarket Department Store ฯลฯ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนมากมาย เมื่อพูดถึง Modern Retail เราจะหมายถึงกระบวนการบริหารจัดการสินค้า ร้านค้า บุคลากร เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งเป็นกระบวนการและแนวคิดที่แตกต่างจาก Traditional Retail ค้าปลีกดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง และไม่เคยเข้าใจและให้ความสำคัญกับแนวคิดต่างๆ อาทิ

1.Concept ธุรกิจ ต้องมาก่อนทุกปัจจัยไม่ว่าจะเรื่อง Location, Buying, Merchandising, Store Layout และ Store Design

2.ตัวเลขจำนวนลูกค้า Transaction Count/Number of Customer และ Transaction Value/Per Basket สำคัญกว่าตัวเลขยอดขาย

3.บุคลากร Operation สำคัญพอๆกับ บุคลากรฝ่ายจัดซื้อและฝ่ายการเงิน

4.การบริหารการขายต้องมาก่อนการบริหารการซื้อ จะซื้ออะไรเท่าไร ต้องมาจากการขาย ว่าจะขายได้เท่าไร

5.Inventory สำคัญกว่า Gross Margin Inventory คือ เงินสด Inventory ไม่ใช่ทรัพย์สิน

6.จะตั้งราคาแบบ EDLP (Everyday Low Price) ได้ ต้องรู้จักบริหาร Everyday Low Cost ให้ได้ก่อนไม่ใช่จะลดราคาลงมาเฉยๆ

7.เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กว่า 80% อยู่ด้านหลังหรือกองสนับสนุนของธุรกิจ สิ่งที่เห็นที่หน้าร้านหรือภายในร้านเป็นเพียงแค่ 20% ของกิจการ

8.Information Technology และ Logistics เป็น backbone กระดูกสันหลังหลักของการบริหาร Merchandise และ Supplychain

9.หากมีสาขามากกว่า 10 สาขา ต้องบริหารภายใต้หลักการ Chain Store Management

10.หากสามารถลดยอดสูญเสียได้มากเท่าไร นั่นคือกำไรของธุรกิจโดยตรง Loss Prevention จึงมีบทบาทสำคัญอีกหน่วยหนึ่งที่มาสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น

Disruption ครั้งที่ 3 Modern Chain Store เข้ามาแทนที่ การบริหารสินค้าและร้านค้าแบบเดิม ด้วย Information Technology, Logistics และ Know How การบริหารสินค้า 

- ปี พ.ศ.2532 เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิด Makro ห้างสรรพสินค้าประกอบการค้าส่งเป็นสาขาแรก

- ปี พ.ศ.2532 บริษัท ซีพีเซเว่นอีเลเว่น จํากัด ได้เปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven สาขาแรกที่ถนนพัฒน์พงษ์

- ปี พ.ศ.2532 เซ็นทรัลนำรหัส Bar Code มาใช้ในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตเซ็นทรัลเป็นครั้งแรกในไทย

- ปี พ.ศ.2534 ร้านสะดวกซื้อ Familymart เปิดสาขาแรกที่พระโขนง

- ปี พ.ศ.2535 ร้านสะดวกซื้อ AMPM เปิดสาขาแรกที่หน้าวัดธาตุทอง เอกมัย

- ปี พ.ศ. 2536 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับมอบสิทธิ Bar Code จากเซ็นทรัลให้สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย (Thai Article Numbering Council) ดำเนินการแทน

- ปี พ.ศ.2536 ยุคเริ่มต้นไฮเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มเซ็นทรัลนับเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ที่สาขาแจ้งวัฒนะ ใช้ชื่อว่า 'Big C Supercenter'

- ปี พ.ศ.2537 กลุ่ม CP หรือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิด 'Lotus Supercenter' ในศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ด้วยพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร

- ปี พ.ศ.2537 กลุ่ม Land & House ร่วมทุนกับกลุ่มผู้บริหารโรบินสันเดิม ก็ได้ก่อตั้ง 'Save One Supercenter' ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

- ปี พ.ศ.2538  ห้าง Carrefour จากฝรั่งเศส ร่วมทุนกับเซ็นทรัล ตั้งบริษัท CENCAR บริหารค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเต็มตัว โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3

- ปี พ.ศ.2538  สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมจัดตั้ง สถาบัน ECR นำ know How Category Management และ Supplychain Management พร้อมๆกับ Spaceman ซอฟแวร์ในการบริหารพื้นที่และแพลนโนแกรม

- ปี พ.ศ.2538  ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ให้ความสนใจรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตและเริ่มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ Big King กลุ่มเมอรี่คิงส์, Save Co. ของกลุ่มเมเจอร์, Metro, T SQUARE กลุ่มตั้งฮั่วเส็ง อมรพันธุ์, เอดิสัน, เอ็กเซล, บิ๊กเบลล์, นิวเวิลด์, อิมพีเรียล และสยามจัสโก้

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ไม่ได้เป็นตัว Disruption แต่เป็นปัจจัยเร่งให้การพลังการ Disruption ครั้งที่ 3 เร็วขึ้น

- ปี พ.ศ.2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co., Big King, Imperial, T Square และห้างขนาดกลางๆ เลิกกิจการ

- ปี พ.ศ.2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus

- ปี พ.ศ.2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cen Car คืนให้กับ Carrefour

- ปี พ.ศ.2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino จากฝรั่งเศส

- ปี พ.ศ.2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

- ปี พ.ศ. 2553 คาร์ฟูร์ประกาศถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยหลังจากเข้ามาลงหลักปักฐานนานถึง 15 ปี โดยขายกิจการ Hypermarket ในไทยทั้งหมดให้แก่ Big C

- ปี พ.ศ. 2559 Casino Group ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่และบริหาร Big C ตัดสินใจออกจากตลาด ประกาศขาย Big C ในประเทศไทย ให้กับกลุ่ม BJC

- ปี พ.ศ. 2563 กลุ่มบริษัท ซี.พี. ได้เข้าซื้อกิจการ เทสโก้โลตัสในไทยทั้งหมด

- ปี พ.ศ. 2565 สมรภูมิการแข่งขันค้าปลีกส่วนกลางไซส์ใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ออกอาการนิ่ง เนื่องจากมีผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย

นับจากปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา เป็น ยุคบุกเบิกตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของผู้ประกอบภูธรอย่างแท้จริง 

ผู้ประกอบการระดับต้นๆ เริ่มขยายธุรกิจจากฐานจังหวัดเดิมสู่จังหวัดข้างเคียง เริ่มลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างแพร่หลาย ทุกๆ จังหวัดจะมีผู้นำค้าปลีกท้องถิ่นภูธรที่ยกระดับก้าวข้ามนิยาม SME สู่ Large Enterprise ไม่น้อยกว่า 10-20 ราย

อาทิ ตั้งงี่ซุ่น อุดรธานี, ยงสงวน อุบลราชธานี, The One สุรินทร์, ห้างฮกกี่ พิมาย, วิชโก้ โคราช, ส.ทวีภัณฑ์ เลย, ธนพิริยะ เชียงราย, ริมปิง เชียงใหม่, ศูนย์การค้าแจ่มฟ้า ลำพูน, สหแสงชัยซุปเปอร์สโตร์ พิจิตร, ซุปเปอร์ชีพ ภูเก็ต, มาเธ่อร์มาเช่ กระบี่, ศรีสมัย ยะลา, เค แอนด์ เค หาดใหญ่, แสงทอง ระยอง ร้านวรรณ ระยอง, ห้าง TMK กาญจนบุรี,เกียรติสิน ขอนแก่น, สิน 2000 ขอนแก่น, ส.ล. โฮลเซล นครสวรรค์, บิ๊กซ้ง สมุทรสงคราม, บิ๊กแคท ยโสธร, จุ๋มจิ๋มซุปเปอร์ ระนอง และ วัฒนานุกิจ ระยอง

ยุค  Digital Retail หรือ New Retail  (2555 เป็นต้นไป) 

New Retail เป็นคำที่ใช้ครั้งแรกและคิดค้นโดย แจ๊ค หม่า เจ้าพ่อแห่ง Alibaba เป็นแนวคิดยุคใหม่ที่อาจเป็นอนาคตของวงการค้าปลีก New Retail เป็น 1 ใน 5 กลยุทธ์ของ Alibaba ที่ประกอบไปด้วย New Finance, New Manufacturing, New Technology และ New Energy นิยามคำว่า New Retail ของ Alibaba คือ การนำเอาค้าปลีกแบบออฟไลน์และออนไลน์มาผสมผสานกัน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ เพื่อทำให้ค้าปลีกไร้เส้นแบ่งระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์อีกต่อไป เราอาจเรียก New Retail ในภาษาไทยได้ว่า 'ค้าปลีกยุคใหม่' หรือ 'ค้าปลีกดิจิทัล'

การจะเปลี่ยนผ่านจาก Modernize Retail มาสู่ Digital Retail หรือ New Retail ได้ หัวใจสำคัญคือ การสร้าง Mindset และ การ Transform องค์กรรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ New Retail

1.Digital Mindset คือไม่ใช่คนที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ทันสมัย แต่จริงๆ หมายถึงทัศนคติของคนที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่แวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างสุดขีด

2.ผู้ประกอบที่มี Digital Mindset จะต้องมีมุมมองที่ Proactive & Growth mindset และ Customer Centricity มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมทั้ง Data Driven ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

3.ในยุคที่มีการแข่งขันสูง Digital transformation คือส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างเท่าทันเทคโนโลยีและมีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง

4.Digital Transformation คือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับทุกหน่วยงานในการทำธุรกิจ ตั้งแต่รูปแบบในการทำธุรกิจ (Business model) จนถึงการสร้างประสบการณ์ของลูกค้า เป็นการเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานที่ทำให้องค์กรต้องคิดค้นหาวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ พร้อมทดลองสิ่งใหม่ๆ และคุ้นเคยกับความล้มเหลว โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับความคาดหวังของลูกค้า และสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจนั่นเอง

Retail Disruption  การดิสรัปค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค

สถานการณ์ค้าปลีกออนไลน์โลก

- ปี พ.ศ.2527 Walmart เปิดร้านค้า Supercenter แห่งแรกใน Washington DC

- ปี พ.ศ.2538 Jeff Bezos เปิด เว็ยไซด์ amazon.com ขายหนังสือออนไลน์

- ปี พ.ศ.2542 Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba เป็นตลาดขายส่งสินค้าในจีน

- ปี พ.ศ.2545  Walmart เป็นเจ้าแรกๆ ที่เชื่อมโยง Online-Offline ขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันในทุกขั้นตอน ปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) เป็นผู้นำตลาดออนไลน์อันดับ 2 ของสหรัฐ รองจาก Amazon

- ปี พ.ศ.2542 Forbes นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้ 'Walmart คืออันดับ 1' และยังคงเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมา 20 ปี (2562)

- ปี พ.ศ.2562 Forbs จัดให้ 'Amazon อยู่อันดับ 2' รองเพียงแค่ Walmart ในขณะที่ ปี พ.ศ. 2557 อยู่ในอันดับที่ 172

สถานการณ์ค้าปลีกออนไลน์ไทย

- ปี พ.ศ.2555 Lazada ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเริ่มให้บริการในประเทศไทย

- ปี พ.ศ.2558 Shoppee เปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

- ปี พ.ศ.2560 JD Central เปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

- ปี พ.ศ.2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าตลาด B2C E-Commerce มีมูลค่าตลาด 628,000 ล้านบาท หรือราว 17% ของมูลค่าค้าปลีกออฟไลน์ 3.6 ล้านล้านบาท

- ปี พ.ศ.2560 Central ประกาศยุทธศาสตร์ New Central New Retail เพื่อก้าวสู่ค้าปลีกไร้พรมแดน พัฒนา Omni Channel Platform เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ค้าปลีกต่างๆ ของ 'เซ็นทรัล รีเทล' ได้ทุกที่ทุกเวลา

- ปี พ.ศ.2564 Central ประกาศใช้แพลตฟอร์ม Omni-channel ได้อย่างครบวงจร Omni-channel ได้อย่างครบวงจร

- ปี พ.ศ.2565 Lotus ประกาศความเป็น Omni-Channel ให้ลูกค้าสั่งได้ทุกรูปแบบ

- ปี พ.ศ.2566 Makro เปิดตัว Makro PRO Omni-Channel All in One Business Supercharging Platform สำหรับ  B2B

- ปี พ.ศ.2566 J D Central ประกาศยุติให้บริการในประเทศไทย

บทสรุปวิวัฒนาการค้าปลีกค้าส่งไทย 3 ยุค

1.Retail Disruption ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นทุกๆ 30-40 ปี เป็นวิถีธุรกิจปกติ โดยมีเทคโนโลยีและโนว์ฮาวเป็นตัวเร่ง ยุค Pre Modernize ก็อยู่ในช่วง ปี พ.ศ. 2499-2540 Modernize Retail ราว ปี พ.ศ. 2530-2570 โดยมี Timeline Overlap กับ Pre Modernize ราว 10 ปี Digital Retail หรือ New Retail เริ่มจาก ปี พ.ศ. 2555  ต่อเนื่องไปอีกราว 30-40 ปี

2.Disruption ในแต่ละช่วง เราจะพบห้างเก่าเดิมๆ ที่เคยรุ่ง ก็จากไป ห้างใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ก็มาแทนที่ ธุรกิจที่ยังอยู่รอดได้คือธุรกิจยอมทำลายธุรกิจตัวเอง ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ นวัตกรรมใหม่ เพื่อเอาตัวรอด ไม่ยอมให้ใครต้องมาทำลายธุรกิจของตัวเอง

3.Time Gap ระหว่างส่วนกลางและภูมิภาคหดสั้นลงทุกวัน สะท้อนถึงการแข่งขันจะดุเดือดเพิ่มมากขึ้น

4.Trend อย่ามองข้ามเทรนด์ใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ข้อผิดพลาดเดียวของวอลมาร์ทคือ การมองข้ามเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพราะความชะล่าใจนั่นเอง สิ่งนี้คือ 'จุดอันตราย' ที่ ผู้ประกอบการ ต้องเรียนรู้และจำให้มั่น เพราะกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลบวกแก่ผู้ที่มองเห็นและปรับตัวรับกับมัน ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียอย่างมหาศาลแก่ผู้ที่ตามมันไม่ทัน จงสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแล้วคุณจะไม่ตกเทรนด์

5.Competition ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีคู่แข่ง แต่ธุรกิจที่อยู่รอดได้คือธุรกิจที่เอาชนะธุรกิจตัวเองได้ตลอดเวลา ธุรกิจที่ล่มสลายส่วนใหญ่คือยอมให้คู่แข่งเอาชนะตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าสักวันหนึ่งวันนี้ก็มาถึง แต่...

6.Offline-Online ต้องผสมผสาน ทำธุรกิจยุคดิจิทัลต้องสร้างโอกาสทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ช่องทางการตลาดเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการทำกลยุทธ์การตลาด หากรบไปมีแค่อาวุธหรือเครื่องมือ ก็ย่อมจะเพลี่ยงพล้ำแพ้พ่ายให้กับคู่ต่อสู้แม้เขาไม่ได้มีอาวุธใดๆ ก็ตาม หากแต่เขามีกลยุทธ์ด้านการตลาดที่ดี ก่อนรบ ก่อนทำ