สยามพิวรรธน์จุดพลุดึงทัวริสต์ทั่วโลก ย้ำเบอร์1โกลบอลเดสติเนชั่นเมืองไทย

สยามพิวรรธน์จุดพลุดึงทัวริสต์ทั่วโลก ย้ำเบอร์1โกลบอลเดสติเนชั่นเมืองไทย

'สยามพิวรรธน์' ประกาศเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ชู 4 Strategic Pillars ย้ำจุดแข็ง Global Destinations พร้อมอัดฉีดงบ 1,000 ล้านบาท ไฮซีซันลุยบิ๊กอีเวนต์ ปั้นเคาน์ดาวน์กระหึ่ม หนุนทัวริสต์แตะ 30 ล้านคนนปีนี้

  • กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ วาง 4 Strategic Pillars ย้ำจุดแข็งในการเป็นผู้สร้าง Global Destinations อันดับหนึ่งของประเทศไทย 
  • ผู้นำการสร้างประสบการณ์ shopping ยิ่งใหญ่ เหนือความคาดหมาย เสริมแกร่งตลาด Luxury retail ที่มีความครบครันที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 
  • ผู้นำ การจัด World Class Event และการประชุมนานาชาติ 
  • ผู้นำในการยกระดับผลงานศิลปะไทย สนับสนุนกรุงเทพฯ สู่ศูนย์กลางศิลปะระดับโลก 
  • ผู้นำในการปั้น Soft power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก 

หนึ่งในวาระเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ มุ่งส่งเสริมและพัฒนา 'ภาคท่องเที่ยว' อย่างเต็มกำลังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพุ่งทะยาน กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ในฐานะผู้พัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลก หรือ Global Destinations อันดับ 1 ของเมืองไทย ประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล เตรียมอัดฉีดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4 นี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แตะ 30 ล้านคนตามเป้าหมายในปีนี้

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า การเดินหน้าของรัฐบาลใหม่พร้อมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเป็นโอกาสดีที่ของการดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ดังนั้นในฐานะภาคเอกชน และครองแชมป์ Global Destination ของสยามพิวรรธน์ จึงพร้อมทุ่มสุดตัวในทุกพละกำลัง เชื่อมทุกเน็ตเวิร์กกิ้ง ดึงดูดผู้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมเยือน

จะเห็นว่า 8 เดือนแรกที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์มีจำนวนถึง 14 ล้านคน! เพิ่มขึ้น 46% จากปี 2565 มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 8,500 บาท/คน/วัน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อว่าในสิ้นปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคนอย่างแน่นอน 

“ประเทศไทยต้องการกำลังใจ ภาคเอกชนเท่านั้นที่จะช่วยกันลงทุนและดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เราคนเดียว แต่รวมถึงทุกๆ ที่จะช่วยกันให้เราชนะประเทศอื่น ซึ่งไตรมาสสุดท้ายนี้ สยามพิวรรธน์พร้อมทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท จัดกิจกรรมทุกศูนย์การค้าเป็นแม่เหล็กให้ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชม ซึ่งไฮไลต์งานเคาน์ดาวน์ที่คนเข้าร่วมทุกครั้งกว่า 300,000 คนปีนี้จะทุ่มหนักสร้างปรากฎการณ์อย่างที่่ไม่เคยมีมาก่อน” 

สยามพิวรรธน์จุดพลุดึงทัวริสต์ทั่วโลก ย้ำเบอร์1โกลบอลเดสติเนชั่นเมืองไทย สยามพิวรรธน์จุดพลุดึงทัวริสต์ทั่วโลก ย้ำเบอร์1โกลบอลเดสติเนชั่นเมืองไทย

เกมรุกของสยามพิวรรธน์วาง 4 Strategic Pillars ย้ำจุดแข็งในการเป็นผู้สร้าง Global Destinations อันดับหนึ่งของประเทศไทย ขานรับนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยว เริ่มจากยุทธศาสตร์แรก สร้างประสบการณ์ Shopping ยิ่งใหญ่เหนือความคาดหมาย เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด Luxury retail ด้วยการผนึกกำลังกับ Luxury brand ร้านค้าผู้เช่า และพันธมิตรธุรกิจ เตรียมเปิดร้าน Luxury brands ใหม่ 20 ร้านค้าในไตรมาส 4 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นสาขาแรกในไทย รวมทั้ง Pop-up store และโกลบอลอีเวนต์ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ ไปจนถึงสิ้นปี 2567 รวมทั้งบรรดาลักชัวรีแบรนด์ทุกค่ายเตรียมขยายพื้นที่อีก “เท่าตัว” ให้เป็น Iconic store ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยามในปีหน้า

ยุทธศาสตร์ที่สอง มุ่งจัดงาน World Class Event และการประชุมนานาชาติ ภายใต้การทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตรภาคเอกชนต่างๆ ดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก โดยใช้พื้นที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และทรู ไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์มาตรฐานระดับโลกหรือการประชุมนานาชาติ ซึ่งปีนี้รองรับงานสำคัญรวมกว่า 40 งาน และมีการจองใช้ในปี 2567 แล้ว 70% 

“เราอยู่ระหว่างเจรจากับผู้จัดงานอีเวนต์รายใหญ่ของโลกคืบหน้ากว่า 80% ที่จะร่วมลงทุนสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงในเมืองไทย”

ยุทธศาสตร์ที่สาม ส่งเสริมศิลปะไทย ยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก หรือ Hub of Art   ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ 

โดยสยามพิวรรธน์ เตรียมแผนเสนอรัฐบาลปั้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ S/E Asia ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย 

พร้อมกันนี้ เตรียมลงทุน 400 ล้านบาท เปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2569 พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร จะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ 

“เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดานักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาไทย นับเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะ ต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว”

ยุทธศาสตร์ที่สี่ ปั้น "ซอฟต์พาวเวอร์ไทย" ต่อยอดสู่เวทีโลก โดยกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่นำสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ ของไทย เพื่อนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี พ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด กว่า 6,000 ราย มารวมตัวกันนำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่างๆ ผ่านเมืองสุขสยาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่าวันละ 70,000 คนและเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน social media ทั่วโลก 

พร้อมสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยผ่านธุรกิจรีเทล ICONCRAFT, ODS และ ECOTOPIA ที่วันนี้ขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ ให้ผู้คนได้สัมผัสแบรนด์ไทย!

“ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็นเรื่องราวที่ขายได้ไม่รู้จบ เราโปรโมตเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี ต่อยอดให้ต่อเนื่อง สร้างรายได้ นำพาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ” 

สยามพิวรรธน์พร้อมผสานพลังทุกภาคส่วน สนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์จุดหมายปลายทางของโลก ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการจ้างงานกับประชาชนจำนวนมาก ส่งผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจไมซ์ (MICE) และบริการที่จะได้ประโยชน์จากการมาเยือนของชาวต่างชาติ

ชฎาทิพ ย้ำว่า ประเทศไทยเวลานี้เป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของค้าปลีกทั่วโลก ไทยกำลังฉายแสงอย่างร้อนแรง การลงทุนของอินเตอร์แบรนด์ 1 ร้าน ใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท จ้างงานจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินสะพัดอย่างมากในประเทศไทย ก้าวแห่งอนาคต “เราต้องมี New Story New Event มาขาย นอกจากซอฟต์พาวเวอร์แบบเดิมๆ” เพื่อที่จะผลักดันประเทศไทยก้าวไปอย่างมั่นใจ ชนะคู่แข่ง และมีจุดยืนที่สง่างามบนเวทีโลก