3 แบรนด์แฟชั่นไทยดาวรุ่ง โกยรายได้ ‘ร้อยล้าน’ ยังดังได้อีกไกล
เปิดประวัติ 3 แบรนด์แฟชั่นไทยมาแรงแห่งยุค “Carnival-Gentle Woman-boyy” เติบโตต่อเนื่อง-ดังไกลถึงต่างแดน งัดกลยุทธ์สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าแบรนดิ้งเป็นที่จดจำ ขึ้นแท่น “ของฝาก” จากแดนไกล กวาดรายได้นับ “ร้อยล้าน” ต่อเนื่องทุกปี
Key Points:
- การเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดียทำให้มีแบรนด์ไทยเกิดใหม่มากหน้าหลายตา ขณะเดียวกันก็ทำให้คู่แข่งเพิ่มขึ้นด้วย ในบรรดาแบรนด์ไทยที่มีผลงานโดดเด่น เติบโตจนมีฐานแฟนคลับ อาทิ คาร์นิวาล (Carnival) เจนเทิลวูแมน (Gentle Woman) และบอย (boyy)
- “คาร์นิวาล” เริ่มต้นจากการขายรองเท้าคอนเวิร์ส ก่อนขยายสู่ “มัลติแบรนด์ สโตร์” ต่อยอดด้วยกลยุทธ์ “Collaboration” สร้างมูลค่าแบรนด์จนชื่อ “คาร์นิวาล” ติดตลาด
- ส่วน “เจนเทิลวูแมน” แม้ก่อตั้งมาเพียง 5 ปี แต่กลับได้รับความนิยมจนมีรายได้แตะห้าร้อยล้านในปี 2565 ด้าน “บอย” โตจากนิวยอร์กก่อนขยายมายังประเทศไทย ทำให้คนที่เคยถือ “แอร์เมส” (Hermes) “หลุยส์ วิตตอง” (Louis Vuitton) เปลี่ยนมาสะพายกระเป๋าทรงหัวเข็มขัดได้
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ยุคสมัยนี้การแจ้งเกิดของแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยเฟื่องฟูมากกว่าครั้งไหนๆ อาจจะด้วยสื่อโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น ทำให้การทำการตลาดในพ.ศ.นี้ไวรัล-ดังไกลได้มากกว่าเดิม เรามักเห็นแบรนด์ไทยที่แจ้งเกิดผ่าน “เฟซบุ๊ก” หรือ “อินสตาแกรม” เป็นหลัก ไม่ต้องมีหน้าร้านก็สามารถเติบโตจนสร้างฐานลูกค้าได้ไม่ยาก
แต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงน่านน้ำแห่งนี้ได้ง่ายขึ้นก็ทำให้จำนวนผู้เล่นในสนามเพิ่มตามไปด้วย การแข่งขันบนลู่วิ่งนี้จึงเบียดเสียดไปด้วยผู้เข้าแข่งขันมากหน้าหลายตา จะทำอย่างไรให้แบรนด์โดดเด่น ติดตลาด เป็นที่พูดถึง และมี “Big Fan” ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้เกิด “Brand Love” พาแบรนด์เติบโตตามเป้าหมายได้
ในช่วงเวลาที่วงการแฟชั่นไทยฝุ่นตลบก็มีแบรนด์ไทยที่โดดเด่นดังไกลไปถึงต่างแดน บางเจ้าสะสมชื่อเสียงหลายปีจนขยับขึ้นเป็น “Top of mind” ในตลาดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะออกสินค้าชนิดไหน คอลเลกชันใด ก็มี “Big Fan” คอยจับจองจนขายหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง หนักเข้าถึงขั้นต้องไป “ตั้งแคมป์” นอนรอหน้าร้านกันข้ามคืนเลยก็มี!
“กรุงเทพธุรกิจ” หยิบ 3 แบรนด์แฟชั่นไทยที่มีผลงานโดดเด่น ตัวเลขผลประกอบการเติบโตด้วยเส้นโค้งที่ดีมาเล่าให้ฟังกัน แบรนด์เหล่านี้ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จจนมีแฟนๆ รอคอยผลงานอย่างสม่ำเสมอ
- คาร์นิวาล (Carnival)
มัลติแบรนด์ สโตร์ ครบวงจรที่เติบโตจากร้านขายรองเท้าสนีกเกอร์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนนักเรียนนอกที่มีความชื่นชอบสะสมรองเท้าเหมือนกัน “ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแบรนด์ “คาร์นิวาล” เล่าว่า ตอนแรกเขาเพียงอยากเปิดร้านขายรองเท้าเป็นงานอดิเรกจึงชวนเพื่อนอีกสองคนที่มีความชอบเหมือนกันมาร่วมหุ้นด้วย ในตอนแรกปิ๊นเลือกเพียงแบรนด์เดียวมาขายก่อน โดยเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลา 12 ปีก่อนหน้าว่า ตอนนั้น “วัยรุ่นสยาม” ยังมีความนิยมรองเท้าผ้าใบไม่หลากหลายเท่าปัจจุบัน เขาจึงเลือกแบรนด์ “คอนเวิร์ส” (Converse) มาวางขายเพียงแบรนด์เดียว โดยตั้งชื่อร้านตามแบรนด์ที่ขายว่า “Converse Carnival”
เวลาผ่านไปความรุ่มรวยของแฟชั่นในไทยเพิ่มมากขึ้น จากที่มีเพียงกลุ่ม “สนีกเกอร์เฮด” ที่สนใจเรื่องแฟชั่นรองเท้าผ้าใบพูดคุยเรื่องนี้กันเฉพาะกลุ่ม รู้ว่าจะซื้ออะไร มีเป้าหมายก่อนเดินมาถึงร้านด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันแฟชั่นสตรีตแวร์มาพร้อมกับเทรนด์รักสุขภาพ จากสินค้าเฉพาะกลุ่มจึงขยายสู่ตลาด “เมนสตรีม” จากที่ขายเพียงผ้าใบคอนเวิร์สก็ได้เติมแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย ชื่อร้านจึงถูกหั่นออกเหลือเพียง “Carnival” วางตัวเองเป็นร้านขายสินค้ามัลติแบรนด์มากมายทั้งรุ่นคลาสสิกและรุ่นลิมิเต็ด กระทั่งขยายสู่สินค้าแอคเซสเซอรีอื่นๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า จนถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดรองเท้าและชั้นวางเก็บรองเท้า
-ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “Carnival”-
แบรนด์คาร์นิวาลโด่งดังและเติบโตจากหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่การใช้กลยุทธ์ “Collaboration” ร่วมกับแบรนด์และคาแรกเตอร์ชื่อดัง ที่ได้รับการจดจำและพูดถึงจนมีการ “ตั้งแคมป์” รอจับจองกันข้ามคืนทั้งยังมีการนำมา “รีเซล” จนราคาพุ่งไปไกล คือคอลเลกชัน “Carnival X Naruto” ด้วยคาแรกเตอร์มังงะที่มีฐานแฟนอยู่แล้ว ประกอบกับการออกแบบที่มีดีไซน์ตรงใจกลุ่มเป้าหมายทำให้คอลเลกชันดังกล่าวหมดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากการผนึกกำลังร่วมกับตัวละครที่มีชื่อเสียง “คาร์นิวาล” ยังผุดโปรเจกต์ที่คาดไม่ถึงหลายครั้ง ใครจะไปคิดว่า แบรนด์แฟชั่นสตรีตแวร์จะคอลแลบฯ ร่วมกับเชนร้านอาหารอย่าง “เคเอฟซี” (KFC) หรือ “บาร์บีคิว พลาซ่า” (Bar-B-Q Plaza) ได้ ซึ่งก็ปรากฏว่า สินค้าคอลแลบฯ ในคอลเลกชันนี้ขึ้นป้าย “Sold out” เช่นกัน
“ผมมั่นใจว่า เราก้าวนำคนอื่น ผมกล้าพูดได้เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย” กลยุทธ์ของคาร์นิวาลที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คาร์นิวาลเติบโตด้วยความกล้าและแตกต่างเหมือนที่ปิ๊นเคยกล่าวไว้ ไม่ใช่แค่สินค้าคอลแลบฯ เท่านั้น แต่ยังกลับมาปั้นแบรนด์ให้แข็งแรงด้วยการออกสินค้าคอลเลกชันใหม่ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Carnival” อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นว่า สินค้าใดก็ตามที่มีโลโก้ “Carnival” ประทับตราก็สามารถขายหมดอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับแบรนด์นำเข้าอื่นๆ ภายในร้าน
ที่ผ่านมา ผลประกอบการของ “บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจาก “Creden Data” ย้อนหลัง 3 ปี มีดังนี้
- ปี 2563
- รายได้: 264,091,602 บาท
- กำไรสุทธิ: 816,802 บาท
- ปี 2564
- รายได้: 313,805,533 บาท
- กำไรสุทธิ: 2,536,275 บาท
- ปี 2565
- รายได้: 371,411,838 บาท
- กำไรสุทธิ: 8,330,011 บาท
- เจนเทิลวูแมน (Gentle Woman)
แบรนด์ที่ก่อตั้งได้เพียง 5 ปี ก็โตไกลทั้งในแง่ของแบรนดิ้งและผลประกอบการ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลประกอบการปี 2565 ของ “บริษัท เจนเทิลวูแมน จำกัด” เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง “253 เปอร์เซ็นต์” มีรายได้ก้าวกระโดดจากสิบล้านสู่ร้อยล้านภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี จากเป็นที่นิยมในไทยกลายเป็นสินค้าที่ต่างชาติต้องเข้ามาแย่งชิงจนเกิดเป็นคลิปไวรัล
“เจนเทิลวูแมน” ไม่ได้เกิดจากแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังที่คลุกคลีในวงการมาก่อน หากแต่ถูกตัดสายสะดือโดย “รยา วรรณภิญโญ” สาวบัญชี จุฬาฯ ที่มองเห็นช่องว่างของอินเตอร์แบรนด์และค่านิยมของคนไทยที่แม้จะมีสินค้าตรงใจแต่กลับไม่ได้ไซส์ตามที่ต้องการ รวมถึงสินค้าตามซีซั่นของแบรนด์นอกที่มีฤดูกาลสวนทางกับอากาศบ้านเรา คนไทยเจอกับอากาศร้อนทั้งปี ไม่ได้มีหน้าซัมเมอร์ ออทัม วินเทอร์ ชัดเจนเหมือนกับต่างประเทศ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “รยา” เห็นโอกาสที่ “เจนเทิลวูแมน” เข้าไปเติมเต็มได้
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ “กระเป๋าผ้าแคนวาส” แม้จะเป็นสินค้าง่ายๆ แต่กลับเป็นสินค้า “ไอคอนิก” จนทำให้ชื่อ “เจนเทิลวูแมน” เป็นที่จดจำภายในระยะเวลาไม่นาน “รยา” เคยให้สัมภาษณ์กับ “capitalread” ไว้ว่า ตอนแรกแบรนด์มีเพียงเสื้อผ้ายังไม่ได้นำแอคเซสเซอรีมาเติม แต่ผ่านไปสักพักทีมก็มีการคุยกันว่า อยากมีสินค้าที่ใช้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวันโดยไม่รบกวนสินค้าหลัก จึงเริ่มทำกระเป๋า “tote bag” ขึ้นมา
ในช่วงแรกยังไม่ได้นำโลโก้ตัวหนังสือ “GENTLE WOMAN” มาวาง เพราะมองว่า แบรนด์ยังใหม่เกินไปคนอาจจะไม่รู้จัก ผ่านไปสักพักจึงนำตัวอักษรชื่อร้านมาวาง แม้จะดูเบสิกแต่มีรายละเอียดเยอะมาก “รยา” เล่าว่า ต้องมีการดีไซน์ทั้งในแง่การวางโลโก้ว่า ต้องวางเหลื่อมแค่ไหน ไม่เห็นเต็มๆ ดีกว่าไหม ความสั้น-ยาวสายกระเป๋าเผื่อให้คนตัวเล็ก-ตัวใหญ่ถือสบาย กระทั่งคลอดออกมาเป็นสินค้า “GW Canvas Tote” ที่สาวๆ สะพายกันทั่วเมือง
-รยา วรรณภิญโญ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง “Gentle Woman”-
ปัจจุบัน “เจนเทิลวูแมน” ไม่ได้มีสินค้าขายดีเพียงกระเป๋าผ้าแคนวาส แต่ยังมีสินค้า “แรร์ไอเทม” ที่ลูกค้าคอยจับจองกันทุกๆ สัปดาห์ ในขณะที่สินค้าแบรนด์อื่นออกคอลเลกชันใหม่ตามฤดูกาล 3 เดือนครั้ง “เจนเทิลวูแมน” เน้นสร้างการรับรู้ ออกคอลเลกชันใหม่ทุกสัปดาห์ โดยจะมีแฟนๆ รอกดสั่งซื้อหน้าเว็บเป็นประจำ หากถามว่า ทำไมแบรนด์จึงออกคอลเลกชันได้ถี่ขนาดนี้ “รยา” เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จุดแข็งคือทีมหลังบ้านมีความ “Lean” สูงมาก มีวิธีการทำงานแบบ “Task Force” แต่ละคอลเลกชันจะมี 1 คน จาก 1 ตำแหน่งมารวมกลุ่มทำงานด้วยกัน พองานขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว ตำแหน่งนี้ก็จะสลับไปทำในคอลเลกชันอื่นๆ แทน กล่าวคือ 1 คนไม่ได้จำกัดทำเพียง 1 คอลเลกชัน ทีมถูกสอนให้ปรับตัวเร็ว เมื่อมีการขายสินค้าหน้าร้าน จะมีการเข้าไปเก็บข้อมูลว่า สินค้าชิ้นไหนขายดีที่สุดเพื่อนำมาพัฒนาในคอลเลกชันต่อไปทันที
ปัจจุบันผลประกอบการของ “บริษัท เจนเทิลวูแมน จำกัด” ในปี 2565 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งตัวเลขรายได้และกำไรสุทธิ ดังนี้
- ปี 2563
- รายได้รวม: 73,196,976.45 บาท
- กำไรสุทธิ: 4,862,694.94 บาท
- ปี 2564
- รายได้รวม: 168,247,566.52 บาท
- กำไรสุทธิ: 31,986,020.00 บาท
- ปี 2565
- รายได้รวม: 594,095,401.92
- กำไรสุทธิ: 183,876,645.68 บาท
- บอย (boyy)
แบรนด์กระเป๋าสัญชาติไทยที่ดังไกลจนมีเซเลบริตี้ทั้งไทยและเทศจับจองกันจนต้องสั่งซื้อล่วงหน้า กระเป๋าทรงเหลี่ยมถนัดมือ ตกแต่งด้วยดีไซน์หัวเข็มขัดเส้นใหญ่คาดด้านหน้าเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ “บอย” ที่ก่อตั้งขึ้นโดย “บอย-วรรณศิริ มั่นคง” ดีไซเนอร์สาวไทยที่มีจุดเริ่มต้นจากความชอบเรื่องกระเป๋า จน “เจสซี ดอร์ซีย์” (Jessie Dorsie) สามีของเธอผลักดันให้ทำแบรนด์กระเป๋าขึ้นมาเอง
-วรรณศิริ คงมั่น ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแบรนด์ “boyy”-
สองคนเริ่มต้นประกอบร่างกระเป๋าโปรโตไทป์ใบแรกขึ้นที่ “นิวยอร์ก” ขณะที่ยังเรียนอยู่ที่ “Fashion Institute of Technology” ทั้งคู่ช่วยกันออกแบบ หาวัตถุดิบอย่างจริงจัง กระทั่ง “บอย” ต้องย้ายกลับมาเมืองไทยแต่เธอก็ยังจริงจังกับการออกแบบต่อ “เจสซี” ได้เดินทางมาที่เมืองไทยแล้วนำแบบของบอยไปให้คนรู้จักในวงการแฟชั่นดู จนได้รับความสนใจจากสื่อหนังสือพิมพ์ และบายเออร์ที่ติดต่อขอนำสินค้าวางขายในโชว์รูม หลังจากนั้นจึงใช้เวลาอยู่ราว 1 ปีเศษๆ จนมีคอลเลกชันแรกออกมาในปี 2006 และวางขายที่นิวยอร์กก่อน
ในตอนแรก “บอย” ไม่ได้คิดจะนำสินค้ามาวางขายในไทย เพราะยุคนั้นยังไม่มีแบรนด์ไทยที่เป็น “ลักชัวรีแบรนด์” ได้รับความนิยมเลย ส่วนใหญ่คนเน้นใช้กระเป๋า “ซูเปอร์แบรนด์” อย่างหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) กุชชี (Gucci) หรือพราดา (Prada) มากกว่า กระทั่งตัดสินใจนำสินค้าทดลองวางขายในร้าน “Cloud9” ร้านมัลติแบรนด์ในห้างเกษรวิลเลจ (Gaysorn Village) ผลปรากฏว่า สินค้าขายหมดตลอด พอมีคอลเลกชันใหม่ลูกค้าก็ถามหา จึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านแห่งแรกที่ “เซ็นทรัล ชิดลม” และปัจจุบัน “บอย” เติบโตมีทั้งหมด 5 สาขา รวมถึงช่องทางออนไลน์ด้วย
“บอย” ให้สัมภาษณ์กับ “The Momentum” ถึงแรงบันดาลใจคอลเลกชัน “Bobby” และ “Karl” ที่โด่งดังเป็นพลุแตกด้วยกระเป๋าทรงหัวเข็มขัดว่า แรงบันดาลใจคอลเลกชันนี้เกิดจากถุงช้อปปิ้ง เธอเหลือบไปเห็นถุงช้อปปิ้งตอนนั่งอยู่ในร้านกาแฟ เมืองโคเปนเฮเกน ทันทีที่เห็นก็รู้ทันทีว่า นี่คือรูปทรงที่ใช่ จึงออกตามหาถุงชอปปิ้งดังกล่าวแล้วนำมาวางเป็นแพตเทิร์นกระเป๋าจนกลายเป็นคอลเลกชันอันโด่งดังถึงทุกวันนี้
สำหรับผลประกอบการของ “บริษัท บี โอ วาย วาย จำกัด” มีการเติบโตเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของรายได้และกำไร โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ปี 2563
- รายได้รวม: 506,777,253.31 บาท
- กำไรสุทธิ: 59,919,782.14 บาท
- ปี 2564
- รายได้รวม: 510,769,125.42 บาท
- กำไรสุทธิ: 53,567,049.14 บาท
- ปี 2565
- รายได้รวม: 653,645,822.21 บาท
- กำไรสุทธิ: 78,979,800.67 บาท
อ้างอิง: Capitalread, Creden Data, Data Warehouse, Prachachat, The Momentum, The Standard