ตะติยะ ซอโสตถิกุล พลังสร้างสรรค์ ปลุกพลังรักษ์โลก เคลื่อน 'ซีคอน' โตยั่งยืน

ตะติยะ ซอโสตถิกุล พลังสร้างสรรค์ ปลุกพลังรักษ์โลก เคลื่อน 'ซีคอน' โตยั่งยืน

รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ “กรุงเทพธุรกิจ” เจาะลึกแนวคิด 'ตะติยะ ซอโสตถิกุล' กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำทัพธุรกิจศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ และ ซีคอน บางแค ที่ยืดหยัดให้บริการมายาวนานร่วม 3 ทศวรรษ

ภายใต้การบ่มเพาะ “วัฒนธรรมองค์กรคนเก่ง” นำสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก้าวทันพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลง

ปักหมุดผู้นำศูนย์การค้าย่านชานเมืองร่วม 3 ทศวรรษ ทั้ง "ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์" ยึดเบอร์ 1 ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก และ "ซีคอน บางแค" หนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งย่านฝั่งธนบุรี

“วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ทำให้หลายๆ อย่างทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องคะยั้นคะยอ ไม่ต้องบังคับ มันจะมาเอง"

 

 

"ย่านบางนา-ศรีนคินทร์ เป็นชานเมืองแบบพรีเมียม ดึงดูดเพลย์เยอร์ทุกราย มาหมด ทำให้การแข่งขันสูง ขณะที่บางแค ค่อนข้างแมส เป็นตลาดทั่วไปของชานเมือง ฉะนั้นการแข่งขันไม่สูง เพลย์เยอร์ไม่มาทุกเจ้า  ทั้ง 2 แตกต่างกันในเรื่องการแข่งขัน"  ตะติยะ ฉายภาพธุรกิจศูนย์การค้าหลักบนทำเลยุทธศาสตร์หลัก 

แม้ในเชิงจำนวนจะมองว่าน้อย! หากเทียบคู่แข่ง แต่พลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มธุรกิจไม่ได้น้อยลงเลยแม้แต่น้อย พร้อมปรับให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งผสานแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืนตามหลัก ESG (Environment, Social, และ Governance)

 

ตะติยะ ซอโสตถิกุล พลังสร้างสรรค์ ปลุกพลังรักษ์โลก เคลื่อน \'ซีคอน\' โตยั่งยืน

เราเป็นศูนย์การค้าในเรื่อง ESG อาจไม่ได้มีช่องทางไปทำเรื่องนี้มากนัก แต่ถ้ามีโอกาสก็สามารถทำ อย่างซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ มีสเปซ บนรูฟท็อป 50,000 ตารางเมตร เอามาทำโซลาร์เซลล์ 30,000 ตารางเมตร พยายามหากิมมิคมาประกอบ เราไม่สามารถไปทำทุกอย่างได้ เราจะเทิร์นร้านอาหาร มาเป็นออร์แกกานิคทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็ต้องทำตามตลาด เป็นเรื่องเทรนด์และธุรกิจ"

การให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมของซีคอนสะท้อนภาพชัดเจนจากนโยบายการใช้พลังงานสะอาด มีการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” ซึ่งด้านบนอาคารของศูนย์การค้าเป็นอาคารเดี่ยว ที่มีพื้นที่ด้านบนแผ่กว้างมาก เป็นที่มาของแผงโซลาร์รูฟท็อปกว่า 30,000 ตารางเมตร และขยายโครงการไปยังซีคอน บางแค

โซลาร์เซลล์ ของซีคอน ศรีนครินทร์ ผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 เมกะวัตต์ ส่วนบางแค ผลิตไฟฟ้าได้ 3 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าไฟได้ 15% ต่อปี ราว  30 ล้านบาทต่อปี

ซีคอน จึงนับเป็นหนึ่งในศูนย์การค้าที่มีการใช้พลังงานสะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับไปสู่สังคมโดยรอบ ลดการปล่อยมลภาวะออกสู่สังคม

พร้อมกันนี้ สำนักงานใหญ่ ซึ่งอยู่บนอาคารจอดรถ ถูกดีไซน์ให้มีพื้นที่สนามหญ้าสีเขียว สร้างบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังมากขึ้น

"ออฟฟิศใหม่ ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ได้รับรางวัล Global Future Design Awards 2020 จาก 29 ปีก่อน ที่สร้างซีคอน เรามัวแต่ยุ่งเรื่องสร้างศูนย์ ไม่ได้คิดเรื่องออฟฟิศ สุดท้ายก็จับเราไปยัดอยู่ที่จอดรถ เพดานต่ำ ไม่มีหน้าต่าง จนปีหลังๆ ก็เริ่มคิด พอมาสร้างที่จอดรถใหม่ ข้างบนมีสเปซก็เลยย้ายมา และให้ผู้ออกแบบที่เราใช้อยู่ดีไซน์ และให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"

อีกสิ่งที่ได้ส่งมอบให้ลูกค้าและสังคมผ่านนวัตกรรม นั่นคือ “สถานีจอดรถบัส Bus station” บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้า โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และใช้พลังงานที่สะอาดจาก โซลาร์รูฟท็อป เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการ  

ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ยังขยับครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดพื้นที่ MUNx2 โดยเป็น Retail Experimental Space เปิดโลกเปิดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ สตาร์ตอัปมาปลดปล่อยพลังมันๆ 

"โซน MUNx2 เป็นการสร้างแบรนด์ดิ้ง เป็นพื้นที่สร้างคอนเซปต์ใหม่ ให้เกิดกระแสดึงดูดลูกค้าใหม่ กลุ่มยังก์ เจเนอเรชัน ซึ่งมีไลฟ์สไตล์คาเฟ่ หาคาเฟ่สวยๆ นั่งจิบกาแฟดีๆ ถ่ายรูปลงโซเชียล เราก็ได้ นานาคอฟฟี่ “Nana Coffee Roaster” ซึ่งหาพื้นที่ทำโรงคั่วอยู่ มาทำโรงคั่วกาแฟที่มีขนาดใหญ่สุด! ในประเทศไทยที่อยู่ในศูนย์การค้า สอดรับกาแฟคัลเจอร์! ซึ่งการบริโภคกาแฟในทุกวันนี้เป็นเทรนด์ใหญ่มาก"

จะเห็นว่าธีมของ "MUNx2" จับบิ๊ก 2 เทรนด์ คือ คาเฟ่ และ อาร์ต แจ้งเกิด!

อาร์ตเป็นพื้นที่ไม่ได้สร้างรายได้ เป็นต้นทุนด้วยซ้ำ แต่เป็นการสร้างคอนเซปต์ นำไปสู่แบรนด์ดิ้ง ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ที่จะมีความเป็นพรีเมียมมากขึ้นตามเป้าหมายศูนย์กลางงานอาร์ต เป็นการคืนสู่สังคมส่วนหนึ่งแบบ WIN WIN ซึ่งเวลานี้เราจะเห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่สนใจงานอาร์ตมากขึ้น 

"อาร์ตเป็นเทรนด์ของสังคม หรือในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอุดมไปด้วยเรื่องศิลปะอย่างยุโรปมีแกลลอรีเยอะมาก เดินไปตรงไหนก็มีทั่วทุกหัวระแหง สะท้อนถึงการพัฒนาความคิด การสร้างสรรค์ครีเอทิวิตี้ พื้นที่ ตรงนี้จะเป็นเทรนด์สำคัญสำหรับเมืองไทยในอนาคต เมื่อคนเข้าใจงานศิลปะมากขึ้น ระดับความคิดก็จะ Sophisticated มากขึ้น" 

ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ มีพันธมิตรสำคัญอย่าง “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) จัดงานแสดงเอ็กซิบิชั่น เมื่อหอศิลป์กรุงเทพฯ มีการจัดงานขึ้นมา ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ จะร่วมเป็นพื้นที่แซทเทิลไลท์ ของการจัดงานในโซน กรุงเทพฯ ตะวันออก และร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในการจัดงาน Bangkok Design ในปี 2567 อีกทั้งในเดือน ตุลาคมนี้ มีแผนจะเปิดแกลลอรี Elastration 

ตะติยะ กล่าวต่อถึงการนำพาเรือใหญ่ลำนี้ สู่อนาคตแห่งการเติบโตแบบยั่งยืนนั้น มีการวางรากฐาน หรือบ่มเพาะ วัฒนธรรมองค์กรแบบเฉพาะของซีคอน แม้จะเป็นแฟมิลี่ บิวซิเนส แต่มีการบริการแบบ Professional ที่ดึงมืออาชีพมาร่วมขับเคลื่อนองค์กรก้าวไปอย่างมั่นคง

"วัฒนธรรมขององค์กรเป็นกรอบของการกำหนดทุกอย่าง เราพยายามสร้างคัลเจอร์ของคนเก่ง และเอาเรื่องงานเป็นหลัก คนเรามี 2 ประเภท 1. รักในการทำงาน และ 2. ต้องมีอะไรติดปลายนวมตลอด แต่ถ้าคนส่วนใหญ่รักการทำงาน แม้คนที่เหลือซอฟ์ๆ ลงจะถูกกระแสของคนส่วนใหญ่พาไปในทางที่มุ่งทำงาน และทำงานได้ดี เป็นคนเก่งด้วย"

ดังนั้นต้องสร้างวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ที่รักการทำงาน กระแสจากคนกลุ่มนี้จะหลอมหลวมคนกลุ่มสองให้กลายเป็น คนดีและคนเก่งไปด้วย 

วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ทำให้หลายๆ อย่างทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องคะยั้นคะยอ ไม่ต้องบังคับ มันจะมาเอง โดยอยู่ในกระแส เข้ามาแล้วทุกคนตั้งใจทำงานกันหมด ทุกคนตั้งใจทำในสิ่งที่ดีขึ้นมา กระแสนี้จะครอบคลุมไปทั้งอค์กรดีกว่าไปจ้ำจี้จำไช ว่าทำไมทำไม่ดี คัลเจอร์จะเป็นตัวขับเคลื่อน” 

การบริหารของกลุ่มซีคอน ยังสร้างวัฒนธรรมเปิดกว้าง ให้คุณค่ากับมุมมองที่หลากหลาย ด้วยการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิด สร้างโอกาสใหม่ ผ่านไฮไลท์สำคัญของบริษัทที่จัดประจำทุกปีคือ “SED Talk” คล้ายการจัด TED talks โดยเป็นกิจกรรมเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยต้องสมัครและผ่านการคัดเลือก มาพูดถึงเทคนิคการพัฒนางานและชีวิต เรียกได้ว่าสร้างกระแสความตื่นตัวในหลายเรื่อง โดยเฉพาะพลังแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด