‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ปักหมุด สปป.ลาว เปิดทางการสาขาแรก เวียงจันทน์
เซเว่น อีเลฟเว่น เร่งสร้างการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก ผ่านการเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดสาขาใหม่ใน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการแล้ว ให้บริการ 24 ชั่วโมง ยกทัพสินค้า 5,000 รายการ เจาะลูกค้าทุกกลุ่ม
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนขยายธุรกิจในปี 2566 โดยจะเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยจะเปิดสาขาใหม่จำนวน 700 สาขา รวมถึงการเปิดสาขาในต่างประเทศที่กัมพูชาให้ครบ 100 สาขา พร้อมเปิดสาขาใหม่ใน สปป.ลาว จำนวน 1 สาขา
สำหรับสาขาใน สปป.ลาว ได้มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว โดยสาขาแรกอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ บริหารโดย บริษัท ซีพี ออลล์ ลาว จำกัด ในกลุ่มซีพี ออลล์ กำหนดรูปแบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมมีการนำเสนอสินค้ากว่า 5,000 เอสเคยู ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารพร้อมทาน เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในทุกกลุ่ม
อีกทั้งมุ่งนำเสนอสินค้าเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น อาทิ สินค้ายอดนิยมอย่าง Slurpee เครื่องดื่มชงสด All Café พร้อมด้วยสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของ สปป.ลาว ที่กำลังเป็นที่นิยมภายในประเทศ และในกลุ่มนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ซีพีออลล์ ได้มีการประเมินภาพรวมตลาดและกำลังซื้อใน สปป.ลาว มีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิดคลี่คลาย โดยได้รับปัจจัยบวกจากทั้งการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงทำให้การคมนาคมขนส่งขยายตัวขึ้น รวมถึงมีแรงหนุนจากในปีต่อไป 2567 รัฐบาล สปป. ลาว กำหนดให้เป็นปีท่องเที่ยวลาว และตรงกับวาระที่ สปป.ลาว ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน จะยิ่งส่งผลให้บรรยากาศภายในประเทศมีความคึกคักมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สาขาแรกในเวียงจันทน์ ได้เปิดให้บริการวันแรกวันที่ 7 ก.ย.2566 โดยมี บุญเถิง ดวงสะหวัน รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า แห่ง สปป.ลาว นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกในสปป. ลาว
พร้อมด้วยทีมผู้บริหารทั้ง นายชัยโรจน์ ทิวัตถ์มั่นเจริญ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ Managing Director International Business บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่
อย่างไรก็ตาม ตามแผนธุรกิจของบริษัท ซีพี ออลล์ ที่ประกาศไว้อย่างเป็นทางการในปี 2566 จะใช้งบลงทุนตลอดปีนี้ที่ 12,000 –13,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 - 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900 - 3,500 ล้านบาท โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000 - 4,100 ล้านบาท และลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 - 1,400 ล้านบาท