ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจ.. 'เฮียฮ้อ สุรชัย' แจง ZIGA ให้กู้เงิน 104 ล้านบาท

ไม่เกี่ยวข้องธุรกิจ.. 'เฮียฮ้อ สุรชัย' แจง ZIGA ให้กู้เงิน 104 ล้านบาท

ปัญหา “สภาพคล่อง” ในองค์กรธุรกิจต่างๆ กำลังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะสร้างแรงสั่นสะเทือนหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะการสะท้อนถึงศักยภาพ ความสามารถในการ “ชำระหนี้” ไม่เพียงแค่การนำเงินไปใช้จ่าย ซื้อสินค้า วัตถุดิบ มาทำมาค้าขาย ฯ

ทำธุรกิจต่างก็หวังมี “รายรับ” แต่สิ่งที่ตีคู่กันมาคือ “รายจ่าย” มีเงินมากก็จับจ่ายใช้สอยได้คล่องมือ เงินไม่เหลือ ไม่พอใช้ “เงินขาดมือ” ก็ฝืดเคืองเป็นธรรมดา

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อและแวดวงจักรวาลมีการ “ผิดนัดชำระหนี้” ร้อนจนผู้นำต้องออกมาแจงเหตุผล และหาทางออกถี่ยิบ 

ล่าสุด เมื่อมีข่าว “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” แม่ทัพใหญ่แก่ง “อาร์เอส” (RS Group) มีความเคลื่อนไหว เมื่อบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับประเด็นให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวโยงกัน 104 ล้านบาท แก่ “นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” โดยใช้หุ้นบริษัท แกรททิทูด อินฟินิท จำกัด(มหาชน)หรือ GIFT 16 ล้านหุ้น เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

กรุงเทพธุรกิจ สอบถามไปยัง “เฮียฮ้อ สุรชัย” เพื่อแจงเหตุผลในการกู้ยืมเงินครั้งนี้ แต่ปฏิเสธจะให้รายละเอียด โดยตอบเพียงสั้นๆว่า “เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจ”

การไขความกระจ่าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของ “เฮียฮ้อ สุรชัย” สลัดไม่ขาดจาก อาร์เอส ไม่ว่าจะเป็นฐานะแม่ทัพขับเคลื่อนองค์กร ผู้ปลุกปั้น เปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เติบใหญ่มานานกว่า 4 ทศวรรษ

มิติการ “กู้ยืมเงิน” ร้อยล้าน จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าเพราะอะไร เมื่อ “เฮียฮ้อ” ยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่ลองย้อนมาดูอาณาจักร “อาร์เอส” ของ “เฮียฮ้อ” กันบ้างเป็นอย่างไร

  • วิชั่นใหม่พร้อมเบ่งมาร์เก็ตแคปแสนล้าน

ต้นปี 2566 “เฮียฮ้อ” ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ “Passion to Win” เพื่อขับเคลื่อนอาณาจักร จากเดิมคือการมุ่งมั่นยกระดับทุกมิติของการใช้ชีวิต หรือ Life Enriching ให้กับผู้คน

นอกจากนี้ ยังต้องการผลักดันทั้งเครือ ให้ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปทะยานสู่ระดับ 1 แสนล้านบาท (ณ วันที่แถลงข่าว 30 ก.ย.65 มาร์เก็ตแคปมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท) ส่วน 2 ปีก่อน บริษัทเคยมีมาร์เก็ตแคประดับ 30,000 ล้านบาท และปัจจุบัน(ณ 5 ก.ย.66)มาร์เก็ตแคปมูลค่า 15,725 ล้านบาท

  • เดินหน้าลงทุนสร้างการเติบโต Spin-off เข้าตลาดฯ 

การแตกเพื่อโต เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายองค์กรใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ “อาร์เอส” ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ทรานส์ฟอร์ม ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจ การตลาด ความต้องการของผู้บริโภค และการแข่งขัน

อดีต “เพลง” เคยทำเงินให้เกินกว่า 90% เมื่อเจอดิจิทัล “ดิสรัป” ต้องแก้เกม หันเหไปลุย “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ” ซึ่งต่อยอดจุดแข็งที่มี ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์บันเทิงต่างๆ ทั้งเพลง ละคร หนัง ฯ เพื่อต่อจิ๊กซอว์สร้างรายได้

ปัจจุบัน “อาร์เอส” ยังแตกไลน์ขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การตลาดครบวงจร ขายตรง ธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่ครอบคลุมคลินิกให้บริการสัตว์เลี้ยง ตลอดจนหวนคืนสู่บัลลังก์ “เพลง” เป็นต้น

หลายธุรกิจเห็นการ “ลงทุน” เช่น การซื้อกิจการขายตรงจาก “ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์” จากยูนิลีเวอร์ มูลค่า 880 ล้านบาท ที่เจ้าตัวเคยบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่า “นี่คือเกมชนะ! ตั้งแต่ก้าวแรก"

“ความรักสัตว์” จึงรู้ Insight ผู้บริโภคที่มีสัตว์เลี้ยงค่อนข้างเป็นสายเปย์หนักมาก จึงรุกตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง แต่เท่านั้นไม่พอ เพราะบริษัทมีการตั้งบริษัทลูก “อาร์เอส เพ็ท ออล”(RS pet all) เพื่อลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร (Petconomy) ด้วยการใช้เงินลงทุนกว่า 100% เพื่อถือหุ้น 51% ในบริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) แต่ละธุรกิจยังวางแผน Spin-off เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

ด้านผลงานอาร์เอส ครึ่งปีแรกมีรายได้รวมกว่า 1,900 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิกว่า 184 ล้านบาท