ททท. ชูเป้าหมาย 'เดสติเนชันยั่งยืน' ปี 67 ตอกย้ำไทย 'มหาอำนาจท่องเที่ยวโลก'

ททท. ชูเป้าหมาย 'เดสติเนชันยั่งยืน' ปี 67 ตอกย้ำไทย 'มหาอำนาจท่องเที่ยวโลก'

'ททท.' ชูเป้าหมายท่องเที่ยวปี 67 เปลี่ยนมายด์เซ็ต 'นักท่องเที่ยวต่างชาติ' มองประเทศไทยมุมใหม่ 'จุดหมายปลายทางแห่งความยั่งยืน' ตอกย้ำตำแหน่ง 'มหาอำนาจท่องเที่ยวโลก' ดันแพ็กเกจทัวร์รักษ์โลกขายได้จริง นำร่องเจาะตลาดยุโรป

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ “กลยุทธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวยั่งยืน” บนเวที Road To Net Zero โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดย ฐานดิจิทัล x TGO ว่า หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. คนใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ได้วางยุทธศาสตร์ “PASS” ขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวซึ่งกำลังถูกสปอตไลต์ในขณะนี้ ประกอบด้วย 1.Partnership 360 ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2.Accelerate Access to Digital World พัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

3.Sub-Culture Movement การลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แม้ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจการท่องเที่ยว แต่การแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่เคยทำอย่างการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลักและกลุ่มความสนใจเฉพาะยังต้องเดินหน้า แต่ต้องเจาะกลุ่มความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมย่อยด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างแก่ทั้งองคาพยพท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอความชอบของนักท่องเที่ยวที่มีเหมือนๆ กัน

และ 4.Sustainably NOW มุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่ต้องเดินเข้าหา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนโลกธุรกิจได้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย นับเป็นต้นทุนที่มีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัส แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน อย่างภาวะไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้หลายเดือน นี่คือสิ่งที่กระทบชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยว

“เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกท้าทายด้วยสิ่งแวดล้อม บรรยากาศไม่ดี นักท่องเที่ยวก็ไม่อยากมา เพราะเขามองว่าเป็นเดสติเนชันที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นเดสติเนชันที่มีคุณภาพ จะให้นักท่องเที่ยวมองเราแบบเดิมไม่ได้ การฟื้นสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่เราถวิลหา”

ทั้งนี้ ททท.ได้ปรับยุทธศาสตร์ไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน มุ่งเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรลุเป้าหมายจัดการอย่างยั่งยืน (SDGs) โดย ททท.นำแนวคิด Sustainable Tourism Goals (STGs) มาสร้างสมดุลใหม่แก่ภาคท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 ระบาด นอกจากนี้ยังปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมสานต่อแนวคิด BCG และให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และกลุ่มผู้คน นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่า

“เทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในตอนนี้ ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในแง่ความยั่งยืนอย่างมาก ทำให้ ททท.วางเป้าหมายปี 2567 มุ่งเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism Destination) เพื่อยืนยันว่าภาคท่องเที่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลก”

หลังจาก ททท.ได้สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ทั่วโลก พบว่านอกจากความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยวแล้ว แต่ถ้าได้ประสบการณ์ที่มีความหมาย (Meaningful Travel Experience) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากไปค้นหา ททท.จึงยึดหลัก Give & Get ในการโปรโมต ว่าการจับจ่ายหรือสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ให้อะไรแก่สังคมบ้าง

ล่าสุด ททท. ได้เปิดตัวโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating เมื่อเดือน ส.ค. เพื่อให้ดาว 3-5 ดาวแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มุ่งยกระดับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน สอดรับเป้าหมาย STGs โดย ททท.ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2568 จะต้องมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับดาวไม่ต่ำกว่า 85%

“ถ้าผู้ประกอบการรายใดไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง STGs ทาง ททท.ก็อาจจะไม่ได้ให้การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมตลาดเป็นกลุ่มแรกๆ เหมือนกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อให้บริการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำร่องใน 5 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยได้ให้ผู้อำนวยการ ททท. จากสำนักงานที่ดูแล 5 เมืองนี้ไปเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวยั่งยืนที่ประเทศเดนมาร์กและสวีเดน พบว่าผู้ประกอบการทัวร์ดีใจมากที่ประเทศไทยเปลี่ยนภาพลักษณ์สู่ความยั่งยืนและต่อยอดสู่การขายแพ็กเกจทัวร์ได้จริง