กลยุทธ์เอสเอ็มอีสู่การพัฒนาความยั่งยืน

กลยุทธ์เอสเอ็มอีสู่การพัฒนาความยั่งยืน

เทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืน หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า 'ความยั่งยืน' กำลังเป็นกระแสร้อนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และเริ่มมีบทบาทขยายตัวเข้าสู่บริบทของการบริหารธุรกิจมากขึ้นตามลำดับ

จากการเริ่มต้นในธุรกิจขนาดใหญ่ และคาดการณ์ได้ว่าจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาครอบคลุมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ในเวลาอีกไม่นาน

แนวคิดของการพัฒนาความยั่งยืนนั้น ต้องการที่จะให้มนุษย์โลกในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกไม่ให้ถูกทำลายไปจนเกิดความกระทบกระเทือนต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โลกต่อไปในอนาคต

หากโลกอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน สายพันธุ์มนุษย์ก็คงไม่ถูกทำลายไป ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินอยู่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับมนุษย์ ก็จะมีความสำคัญต่อไป

แต่ในบริบทของการทำธุรกิจ คำว่า 'ความยั่งยืน' อาจตีความหมายได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับแคบ หมายถึงความยั่งยืนของธุรกิจ ที่จะไม่ล้มหายตายจากไปในระยะเวลาอันสั้น และในระดับกว้าง คือ การที่ธุรกิจมีส่วนช่วยให้โลกมีการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพื่อให้โลกยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและสะดวกสบายต่อมนุษย์โลกต่อไปในอนาคต

แต่ก่อนที่ธุรกิจจะไปช่วยพัฒนาความยั่งยืนของโลกทั้งหมดได้ ก็จะต้องเป็นไปตามธรรมชาติว่า ธุรกิจจะต้องสร้างความแข็งแรงเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับตัวเองให้ได้ก่อน

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ทางเลือกที่สำคัญก็คงจะเป็นการพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตนเองก่อน และเมื่อธุรกิจมีการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจก็จะสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาความยั่งยืนของโลกได้ต่อไป

การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ทำได้ด้วยการบริหารธุรกิจตามหลักการ ESG ซึ่งหมายถึง การบริหารให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (E = Environment) มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม (S = Social) และการบริหารให้เป็นไปตามจรรยาบรรณธุรกิจ (G = Good Governance)

ฟังดูอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เมื่อจับประเด็นย่อยลง ธุรกิจเอสเอ็มอีก็สามารถสร้าง ESG เพื่อนำพาให้ธุรกิจเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ไม่ยาก

ในประเด็นของการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เอสเอ็มอีอาจทำได้ด้วยการทำธุรกิจไม่ให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งของเสียอันตรายโดยมีมีการควบคุมอย่างถูกวิธี การไม่สร้างและปล่อยทิ้งน้ำเสีย ขยะ มูลฝอย กลิ่น ควัน หรือการสร้างเสียงดังจนเกินระดับที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ

ความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน อาจเริ่มต้นด้วยการดูแลพนักงานของตนเองให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถในการทำงานอยู่เสมอ มีรายได้เพียงพอและเหมาะสมที่จะดำรงชีวิตและสร้างครอบครัวที่ดีได้ ครอบครัวที่ดีจะขยายผลไปทำให้เกิดชุมชน และสังคมที่ดีได้ต่อไป

การช่วยเหลือชุมชนด้วยการบริจาคเงิน ช่วยลงแรงพัฒนา และแสดงความเอื้อเฟื้อต่อชุมชนด้วยวิธีอื่นๆ โดยเริ่มจากชุมชนที่อยู่โดยรอบสถานประกอบการก่อน ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ และได้รับการตอบสนองที่ดีจากชุมชน และนำไปสู่การสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตได้ต่อไป

การสร้างจรรยาบรรณธุรกิจ ทำได้จากการทำธุรกิจไม่ให้ผิดฎระเบียบและกฎหมายเป็นอันดับแรก ปฏิเสธการคอร์รัปชั่นทั้งในแง่ของผู้เสนอหรือผู้รับ จัดให้มีกฎระเบียบการปฏิบัติงาน มีการวางแผนให้ธุรกิจมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนร่วมของธุรกิจในทุกระดับชั้นให้ทราบและช่วยกันทำให้แผนธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวัง

ส่วนในระดับการพัฒนาความยั่งยืนของโลก เมื่อเอสเอ็มอีมีความพร้อมและประสบการณ์จากการบริหารธุรกิจตามแนวทาง ESG แล้ว ก็อาจนำแนวทางเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ (https://thailand.un.org/th/sdgs) มาเลือกปรับใช้ให้เป็นเป้าหมายการดำเนินงานของธุรกิจได้ตามความเหมาะสม

โดยอาจเลือกเป้าหมายข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ที่ธุรกิจเห็นว่าจะเป็นเป้าหมายที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และความสามารถในการแข่งขันได้

โดยไม่จำเป็นที่ต้องทำครบทั้ง 17 ข้อ ก็ได้ !!??!!