'เอสแอนด์พี' ขยายฐานฟู้ดรีเทล เจาะสายการบิน-ร้านกาแฟ

'เอสแอนด์พี' ขยายฐานฟู้ดรีเทล เจาะสายการบิน-ร้านกาแฟ

หลังโควิดคลี่คลาย ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหมวดที่มีความคึกคักอย่างมาก บิ๊กแบรนด์ต่างพากันจัดแคมเปญ อัดโปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้ากลับเข้าร้าน กระตุ้นการเติบโตยอดขาย

“เอสแอนด์พี” หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ และปี 2566 บริษัทเดินทางครบ 50 ปี จึงมีแผนรุกมากมาย เพื่อสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาเพิ่ม ปรับโฉมร้านใหม่ เสิร์ฟอาหาร 50 เมนู ฉลอง 50 ปี เป็นต้น

วิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ฉายภาพ ครึ่งปีหลังจะเห็นการอัดแน่นแคมเปญการตลาด เพื่อรับไฮซีซันของการเติบโต “เอสแอนด์พี” เริ่มตั้งแต่ส่งแคมเปญ บอกรักแม่ด้วยเค้กวันแม่เอสแอนด์พี ซึ่งปี 2566 สร้างยอดขายอย่างงดงามด้วยจำนวนเค้กเกือบ 14,000 จาน เพิ่มขึ้น 40% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขายเค้กวันแม่ได้ 9,500 จาน

เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต จึงลุยต่อกับแคมเปญใหญ่ “ของขวัญจากพระจันทร์” รังสรรค์ขนมไหว้พระจันทร์สารพัดไส้ เพื่อบุกตลาดทั้งร้านเอสแอนด์พีทุกสาขา รวมถึงร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งคิกออกไปกว่า 10 วัน สามารถทำยอดขายทะลุเป้าทุกวัน โดยตลอดเทศกาลตั้งแต่สิงหาคม-กันยายน บริษัทตั้งเป้ายอดขายขนมไหว้พระจันทร์ 1.8 ล้านก้อน เติบโต 20% จากปีก่อน

“แคมเปญเค้กวันแม่สร้างยอดขายประสบความสำเร็จพอสมควร และเราเสิร์ฟแคมเปญใหม่ใหญ่ต่อทันทีต้อนรับเทศกาลวันไหว้พระจันทร์”

อีกไฮไลท์ คือการเปิดตลาดนัดวันศุกร์ ช้อปสนุก เชียร์สนั่นหรือ Friday Fair เพื่อฉลอง 50 ปีเอสแอนด์พี และยังเป็นการต่อยอดความสำเร็จกับการลดราคาสินค้าทุกวันพุธ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกเพื่อฉลอง 25 ปีเอสแอนด์พี ที่ทำต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นเวลา 25 ปีแล้ว

แคมเปญ Friday Fair เริ่มต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มุ่งตอบแทนลูกค้าของเอสแอนด์พี ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 17 ล้านราย โดยจัดมาแล้ว 4 ศุกร์ พบว่ายอดขายเติบโตเกือบ 20% การซื้อสินค้ากลับบ้านหรือ Take-Away ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นต้น

ส่วนร้านอาหารยังมีแคมเปญ 50 เมนู เพื่อเสิร์ฟลูกค้า ซึ่งเริ่มเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นยอดขายการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านหรือ Dine-in ได้อย่างดี ส่งผลให้ไตรมาส 2 มีการเติบโตถึง 56%

ร้านอาหารเอสแอนด์พี ยังมุ่งชูการเป็น “ยอดอาหารไทยอันดับหนึ่ง” เพื่อดึงดูดลูกค้า จึงงัด 2 กลยุทธ์ ให้เชฟภายในร้านประชันฝีมือในการปรุงอาหาร เฟ้นหา “ซูเปอร์เชฟ” และภายนอกคือการร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ ประลองการทำอาหาร สานเป้าหมายของร้านด้วย

“เราต้องการยกระดับร้านให้เป็นยอดแห่งอาหารไทย”

นอกจากการทำตลาด อัดแคมเปญเต็มสูบ ปี 2566 เอสแอนด์พี ยังให้น้ำหนักกับการขยายตลาดสู่บริการร้านอาหารหรือฟู้ดรีเทลมากขึ้น โดยผลิตอาหารเมนูต่างๆให้แก่ลูกค้า ซึ่งล่าสุดรายใหม่เข้ามาเสริมพอร์ตคือสายการบินไทย ร้านเชสเตอร์ ร้านกาแฟอินทนิล และร้านคาเฟ่ อเมซอน จากที่ผ่านมา ลูกค้ารายใหญ่ เช่น ร้านอาหารต่างในกลุ่มของไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป(เป็นผู้ถือหุ้นเอสแอนด์พีด้วย)และร้านกาแฟสตาร์บัคส์ เป็นต้น

“เราผลิตอาหารให้การบินไทย สำหรับชั้นอีโคโนมีและเป็นการบินระยะยาว โดยระยะสัญญาคือ 1 ปี จากนั้นต้องมีการประมูลกันใหม่ ส่วนร้านเชสเตอร์ เป็นสัญญาระยะสั้นอย่างไรก็ตามการผลิตอาหารและเบเกอรีป้อนฟู้ดรีเทล ร้านอาหาร ทำมีลูกค้าเกือบครอบคลุมทั่วประเทศ”

ส่วนการเปิดร้านเพิ่ม ตามแผนงานที่ประกาศก่อนหน้านี้ บริษัทจะขยายร้านอาหารเอสแอนด์พี 35 สาขา ปรับโฉมจุดขาย 75 แห่ง และเปิดเอสแอนด์พี เดลต้าเพิ่ม กลยุทธ์การตลาดเน้นสร้างประสบการณ์ทุกเส้นทางการซื้อ(Customer Journey)ผ่าน 5E ได้แก่ ลูกค้าเห็นแบรนด์ การสื่อสารตลาดตั้งแต่โฆษณานอกบ้าน(Enticement) เข้ามาในร้านมีพนักงานต้อนรับ(Entrance) ระหว่างรอมีแคมเปญกระตุ้นการซื้อสินค้าข้ามหมวด(Engagement) ทานอิ่มให้เช็กอิน หรือตอบแบบสอบรับของชำร่วย(Exit) และสมาชิกได้รับของพรีเมียมกลับบ้าน(Extend)

ด้านผลการดำเนินงาน ครึ่งปีแรกบริษัทสร้างยอดขาย 2,892 ล้านบาท เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 194 ล้านบาท เติบโต 14% โดยกำไรครึ่งปีแรกยังทุบสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อแบ่งยอดขาย การรับประทานที่ร้านไตรมาส 2 เติบโต 56% และครึ่งปีโตถึง 59% โดยเฉาะสาขาในห้างค้าปลีก และโรงพยาบาล ส่วนการซื้อกลับบ้านเติบโต 7% ด้านเดลิเวอรี่ค่อนข้างแผ่วและสัดส่วนการทำเงินลดลง

อย่างไรก็ตาม โจทย์ท้าทายครึ่งปีหลัง ยังเป็น “ต้นทุน” โดยเฉพาะ "ค่าไฟ" ที่ปรับตัวสูงขึ้น หากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่เอสแอนด์พีที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นภาคธุรกิจโดยรวมทั้งประเทศ