'ยาหม่องตราเสือ' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

'ยาหม่องตราเสือ' ไม่ใช่ของประเทศไทย ก่อตั้งโดยคนจีน เริ่มต้นที่พม่า ใหญ่ที่สิงคโปร์!

"ยาหม่องตราเสือ" โผล่ในซีรีส์ King The Land คนไทยอย่าเพิ่งดีใจ เพราะรู้หรือไม่? ยาหม่องตราเสือ หรือ ไทเกอร์ บาล์ม ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ผู้ก่อตั้งเป็นคนจีน เริ่มธุรกิจที่พม่า และเติบใหญ่ที่สิงคโปร์!!

Key Points :

  • ยาหม่องตราเสือ หรือ ไทเกอร์ บาล์ม ปรากฏตัวในซีรีส์ เกาหลี "King The Land" EP11 ทำเอาชาวไทยหลายคนยืดอกภูมิใจ
  • ความจริงแล้ว ยาหม่องตราเสือ ไม่ใช่สินค้าไทย แต่ก่อตั้งโดยชาวจีนที่อพยพไปเริ่มต้นธุรกิจในพม่า ก่อนจะเติบใหญ่ ย้ายไปปักหมุดที่สิงคโปร์
  • โฮ้ว ป่า คอร์ปอเรชั่น” บริษัทเจ้าของยาหม่องตราเสือ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ผ่านทั้งช่วงเจริญรุ่งเรือง ล้มลุกคลุกคลาน ก่อนจะมั่นคงอย่างปัจจุบัน
  • กระปุกทรงหกเหลี่ยม นอกจากจะมีความหมายมงคลแล้ว ยังถือจับง่าย และกลายเป็นซิกเนเจอร์ของยาหม่องตราเสือจนทุกวันนี้

ซีรีส์ King The Land EP11 ยังคงอยู่ที่เมืองไทย หลังจากเที่ยวจนฉ่ำ ก็ได้เวลาช้อปปิ้ง และหนึ่งในของฝากระดับ “ห้ามพลาด” ที่ถูกพูดถึงในเรื่องก็คือ “ยาหม่องตราเสือ” หรือ “ไทเกอร์บาล์ม” ที่พระเอกซื้อเป็นของฝากพร้อมแนะนำว่า “ทาบรรเทาตรงที่ปวดเมื่อยได้ดีสุดๆ”

ดูแล้วคนไทยอย่าเพิ่งร้องดีใจว่า สินค้าไทยได้โปรโมทดังไปทั่วโลก เพราะตามประวัติยาหม่องตราเสือที่คุ้นกันดีเพราะมีทุกบ้านนั้น ที่จริงแล้ว ยาหม่องตราเสือ “ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับไทย” เลย

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!
สองพี่น้อง โอ บุ้น โฮ้ว - โอ บุ้น ป่า (Photo: Haw Par Corporation)

  • ยาหม่องตราเสือ มีเจ้าของเป็นคนจีน

ของที่ต้องมีทุกบ้านอย่าง “ยาหม่องตราเสือ” อยู่ใต้ร่มอาณาจักร “โฮ้ว ป่า” ซึ่งก่อตั้งและจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2512 ในชื่อบริษัท Haw Par Brothers International Limited โดยตั้งชื่อตามพี่น้อง “ตระกูลโอ” (Aw) นั่นคือ โอ บุ้น โฮ้ว (Boon Haw) และ โอ บุ้น ป่า (Boon Par) สองพี่น้องผู้สร้าง Tiger Balm และขยายกิจการไปทั่วโลก

แม้ “โฮ้วป่า” จดทะเบียนบริษัทมาได้ 60 ปีเศษ แต่ประวัติยาหม่องตราเสือย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น เพราะที่จริงเกิดขึ้นในรุ่น “พ่อ” โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2413 หรือ ค.ศ.1870 “โอ ชู กิง” (Aw Chu Kin) แพทย์สมุนไพรประจำราชสำนักขององค์พระจักรพรรดิของประเทศจีน ได้อพยพมายังย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อแสวงโชค

ที่ย่างกุ้ง “โอ ผู้พ่อ” ได้เปิดร้านเวชภัณฑ์เล็กๆ ในเมืองย่างกุ้ง ชื่อว่า “อัง เอิน ตง” (Eng Aun Tong) เพื่อจำหน่ายยาหม่องที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเมื่อยล้าของร่างกาย พร้อมปักหลักสร้างครอบครัวที่นั่น

จนในปี พ.ศ. 2451 เมื่อ โอ ชู กิง ถึงแก่กรรม และส่งต่อร้านให้กับบุตรชายทั้งสอง ได้แก่ “โอ บุ้น โฮ้ว” และ “โอ บุ้น ป่า” เป็นผู้สืบทอดกิจการ

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

ก่อตั้งสำนักงานที่สิงคโปร์ (Photo: Haw Par Corporation)

คนพี่ "บุ้น โฮ้ว" ชื่อแปลว่า "เสือผู้อ่อนโยน" เกิดในปี พ.ศ. 2425 ได้รับการศึกษาในประเทศจีน ส่วน "บุ้น ป่า" คนน้อง ชื่อมีความหมายว่า "เสือดาวผู้อ่อนโยน" เกิดในปี พ.ศ. 2431 ศึกษาในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

เมื่อบิดาเสียชีวิตและทิ้งกิจการให้ดูแลต่อ บุ้น ป่า ผู้น้อง รู้สึกว่า ภารกิจนี้เกินกำลังจึงชวน บุ้น โฮ้ว พี่ชายที่อยู่เมืองจีน มาช่วยกันสานต่อกิจการ โดยสองพี่น้องได้นำพาอาณาจักร “โฮ้ว ป่า” ให้เติบใหญ่ด้วยยาหม่องกระปุกจิ๋วสูตรพิเศษที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อองค์จักรพรรดิ์จีน

ทั้งนี้ ดีไซน์ "กระปุกหกเหลี่ยม" ของยาหม่องตราเสือนั้น เกิดขึ้นโดยความตั้งใจของสองพี่น้องที่เห็นว่า นอกจากทรงหกเหลี่ยมจะมีความหมายมงคลแล้ว ยังถือจับง่าย และกลายเป็นซิกเนเจอร์ของยาหม่องตราเสือจนทุกวันนี้

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

(Photo: Haw Par Corporation)

  • เสือย้ายถิ่น ปักหลักที่สิงคโปร์

หลังจากรับช่วงต่อ พี่น้อง “สองเสือ” ได้ร่วมกันคิดค้นหาสูตรยาต้นตำรับซึ่งเป็นมรดกจากพ่อ มาดัดแปลงเพื่อผลิตน้ำมันตัวยาแก้ปวด รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ หรือ ยาครอบจักรวาล จนได้รับความนิยมในแบบที่ว่า ลูกค้าทุกคนที่เดินออกจากร้านของพวกเขาจะต้องมียาหม่องติดมือออกไปด้วยทุกราย ด้วยสัญชาตญาณของเสือ เขาจึงนำยาหม่องสูตรพิเศษนี้ไปวางขายตามร้านจีนอื่นๆ ด้วย

พร้อมกันนี้ก็ตั้งชื่อแบรนด์ “Tiger Balm” ตามชื่อ “เสือ” ที่สองพี่น้องมีร่วมกัน โดยแบรนด์ Tiger Balm ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2467 หรือ ค.ศ. 1924 ก่อนจะเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างวันนี้

เมื่อสินค้าไปได้ดี จะหยุดอยู่แค่ย่างกุ้งคงไม่ได้ บวกกับสถานการณ์ในพม่าเริ่มไม่ค่อยดีเท่าไร โอ บุ้น โฮ้ว ถือเป็นเศรษฐีจีนที่รวยที่สุดในย่างกุ้งแล้ว ด้วยนิสัยเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน เขามองเห็นโอกาสในสิงคโปร์ ภาพ “เสือคำราม” ผุดขึ้นในหัว จากนั้นก็ตัดสินใจย้ายมาปักหลักธุรกิจที่สิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2469 พร้อมเพิ่มกำลังผลิตมากกว่าที่ย่างกุ้งสิบเท่าตัว

ธุรกิจยาหม่องของพี่น้อง “โฮ้ว-ป่า” ขยายตัวต่อเนื่อง โดยส่งสินค้าออกไปขายในหลายประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย

ทั้งนี้ ว่ากันว่า ที่มาของคำว่า “ยาหม่อง” ก็เนื่องจากพอบาล์มของสองพี่น้องเข้ามาถึงประเทศไทย เมื่อคนไทยได้ใช้และรู้ว่า เป็นของพม่า ก็เลยเรียกว่า “ยาหม่อง”

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

รถเร่ขายยาหม่องที่เรียกความสนใจจากชาวบ้านได้อย่างดี (photo : roots.gov.sg)

ความน่าสนใจในวิธีทำการตลาดของ โอ บุ้น โฮ้ว ผู้กล้าได้กล้าเสียและรับหน้าที่ดูแลงานด้านการตลาด คือ เขาจะขับรถที่ดัดแปลงพิเศษ มีหัวเหมือนเสือ พร้อมเสียงแตรคำราม ออกไปท่องตามเมืองเล็กๆ ต่างๆ ในมลายา เมื่อชาวบ้านออกมารวมตัวกัน เขาก็จะแจกตัวอย่างยาหม่องตราเสือ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของบริษัทให้ไปลองใช้กัน ส่งผลให้ “ตราเสือ” ชนะใจชาวบ้านได้อย่างไม่ยาก

  • “เสือ” ที่เติบใหญ่ และ ร่วงโรย

ความนิยมในไทเกอร์บาล์มแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ชุมชนชาวจีนทั่วโลก “โอ บุ้น ป่า” ซึ่งมีนิสัยออกไปทางเงียบสงบมากกว่า รับผิดชอบหลักเรื่องจัดการธุรกิจ ขณะที่ “โอ บุ้น โฮ้ว” ก็แผ่ขยายอิทธิพลและชื่อเสียงให้กับไทเกอร์บาล์ม โดยเขาทั้งบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลมากมาย ก่อตั้งโรงเรียน ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หลายฉบับในสิงคโปร์ มลายา และ ฮ่องกง รวมถึง “หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า” ในประเทศไทย ก็ก่อตั้งโดยสองพี่น้องตระกูลโอเช่นกัน

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

ไทเกอร์ บาล์ม เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก (Photo: Haw Par Corporation)

หลังจากนั้นคู่พี่น้องเสียชีวิตลง โดย บุ้น ป่า เสียชีวิตในพม่าปี พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) ส่วน บุ้น โฮ้ว เสียชีวิตอีกสิบปีถัดมา (ค.ศ.1954) ขณะอายุ 72 ปีด้วยอาการหัวใจวายระหว่างเดินทางไปฮ่องกงหลังเสร็จสิ้นจากการผ่าตัดใหญ่ในบอสตัน

Aw Cheng Chye ลูกชายของ โอ บุ้น ป่า ได้เข้ารับช่วงสานต่อธุรกิจจากผู้เป็นลุง และพาบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ในชื่อ บริษัท Haw Par Brothers International Limited

ทว่าธุรกิจในรุ่นสอง กลับเริ่มง่อนแง่น โดยหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่นาน ก็ถูกเทคโอเวอร์โดยกลุ่มทุนอังกฤษนามว่า “Slater Walker” ในปี 1971 ซึ่งก็ไปไม่รอดเช่นกัน

Slater Walker เป็นกลุ่มทุนที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ซื้อแล้วเฉือนขาย” แทนที่จะเข้ามาพัฒนาธุรกิจให้รุ่งเรือง แต่แนวทางการทำธุรกิจของกลุ่มทุนนี้ คือ การเข้าไปซื้อตอนที่กิจการแย่ แล้วจัดการเฉือนขายธุรกิจออกเพื่อทำเงิน

\'ยาหม่องตราเสือ\' ไม่ใช่ของประเทศไทย แต่ใครๆ ชอบเข้าใจผิด!

ยาหม่องตราเสือ ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในมือบริษัทสัญชาติไทย บริหารสิทธิ์โดย บริษัท แจ๊กเจีย อุตสาหกรรม

“โฮ้ว ป่า” ก็เช่นกัน นอกจากจะถูกเฉือนขายธุรกิจหลักอย่างหนังสือพิมพ์และธนาคารออกไปแล้ว ที่สำคัญและสะเทือนธุรกิจที่สุด ก็คือ การที่ Slater Walker ประเมินศักยภาพธุรกิจไทเกอร์บาล์มต่ำเกินไป จนปล่อยไลเซ่นส์การจัดจำหน่ายไทเกอร์บาล์มในภูมิภาคเอเชียให้แก่ บริษัท แจ๊กเจีย อุตสาหกรรม บริษัทสัญชาติไทย เป็นเวลา 20 ปี แลกกับรายได้การันตีอันน้อยนิด ราวๆ 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี บวกส่วนแบ่งกำไร

กระทั่ง Slater Walker ล้มลงในช่วงวิกฤติธนาคาร โฮ้ว ป่า ก็ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งมาสู่อ้อมอก “วี โชว เยา” (Wee Cho Yaw) มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ เจ้าของธนาคารยูโอบี ที่เข้ามาบริหารกิจการในปี ค.ศ.1981 (พ.ศ. 2524)

ในช่วงของ วี โชว เยา นี่เอง ที่อาณาจักรเสือได้ก่อร่างขึ้นมาใหม่ รวมถึงพัฒนาสินค้าตราเสือในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดรับพฤติกรรมและความต้องการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน “โฮ้ว ป่า” ซึ่งเปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้ง เป็น “โฮ้ว ป่า คอร์ปอเรชั่น” (Haw Par Corporation Limited) ในปี พ.ศ. 2540 ได้ลุกขึ้นร้องคำรามอีกครั้ง

โดยในปีล่าสุด ค.ศ. 2022 “โฮ้ว ป่า คอร์ปอเรชั่น” ทำรายได้ได้ 182 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 4,550 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้า 29% มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 155 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 3,875 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้โฮ้วป่า จะเริ่มต้นจากธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพ แต่ปัจจุบัน รายได้หลักของกลุ่มมาจาก “การลงทุน” ขณะที่ส่วนธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และการพักผ่อน (Leisure and Property) ตามมาเป็นอันดับสาม โดยเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ “Underwater World Pattaya” ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจใต้ร่ม “โฮ้ว ป่า” เช่นกัน

สำหรับในไทย บริษัท โฮ้ว ป่า ไทเกอร์ บาล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2534 มีรายได้รวมปี 2565 ได้ที่ 507 ล้านบาท กำไรสุทธิ 113 ล้านบาท

 

อ้างอิง : scmp , hawpar(1) , hawpar(2) , tigerbalm