'ดุสิตธานี' หวังจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน! ดันท่องเที่ยวเชื่อมธุรกิจ อุ้ม ศก.ไทย

'ดุสิตธานี' หวังจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน! ดันท่องเที่ยวเชื่อมธุรกิจ อุ้ม ศก.ไทย

อุตสาหกรรม 'ท่องเที่ยว' เริ่มฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิดตั้งแต่ปี 2565 ด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 11 ล้านคน และล่าสุดสถิติช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 12.78 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 69.44 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวม 944,500 ล้านบาท

ศุภจี สุธรรมพันธ์ุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยตอนนี้ดูดีขึ้น หลัง 6 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาดีกว่าเป้าหมาย ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน! ...ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มองว่าช่วง 6 เดือนหลังน่าจะฟื้นตัวดีมาก

อย่างสถานการณ์ “การเมืองไทย” ที่พลิกไปพลิกมาในตอนนี้ ศุภจี ระบุว่า คนจะกลัวเรื่อง “ความไม่ชัดเจน” เพราะเศรษฐกิจจะมั่นคงได้เมื่อมีความชัดเจน จึงอยากจะขอให้มีความชัดเจนเร็วขึ้น ไม่ว่าจะด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งความชัดเจนด้านการจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” โดยเร็ว รวมถึงการจัดทำนโยบายต่างๆ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีเรื่องที่ต้องจัดการมากมายอยู่แล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และภาพรวมนโยบายส่วนอื่นๆ ด้วย

“สำหรับความกังวลเรื่องม็อบหรือการชุมนุม ทางเราหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เราได้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าขอให้กำลังใจทุกภาคส่วน ขอให้สามารถหาทางออกที่สงบ และทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ”

และจากการติดตามฟีดแบ็กของ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ที่มีต่อสถานการณ์การเมืองไทยในตอนนี้ พบว่านักท่องเที่ยวยังไม่ได้มีความกังวล ยังเดินทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้และไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบได้ โดยทางกลุ่มดุสิตธานีเป็นห่วง เพราะว่าไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของภาคการท่องเที่ยว ถ้าสามารถ “ทำทุกอย่างให้ชัดเจน” ได้ จะส่งผลดีต่อไฮซีซันในไตรมาส 4 อย่างมาก

ศุภจี เล่าเพิ่มเติมว่า หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว แน่นอนว่า “วาระเร่งด่วน” คือเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “ปัญหาปากท้องของประชาชน” ถ้าทุกคนสามารถใช้ชีวิตและพึ่งพาตัวเองได้ ทั้งระดับฐานราก กลาง และบน เป็นสิ่งที่อยากเห็นอย่างชัดเจนมากๆ ขณะเดียวกันคือ "วิกฤติสิ่งแวดล้อม" ที่ผ่านมาเจอปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ฝุ่นพิษ PM 2.5 แม้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน แต่จริงๆ แล้วต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน! เพราะนี่คือปัจจัยพื้นฐานของเรา

อีกเรื่องคือ “ปัญหาสังคมสูงวัย” ปัจจุบันโครงสร้างทางประชากรของไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว ในอีกไม่ถึง 10 ปีจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบขั้นสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปครองสัดส่วนมากกว่า 30% เพราะฉะนั้นประเทศที่มีคนสูงวัยจำนวนมาก จะทำให้เกิดปัญหาในระบบเศรษฐกิจ คนวัยทำงานที่จะเข้ามาสร้างฐานภาษีแก่ประเทศมีจำนวนน้อยลง กำลังซื้อก็ลดน้อยลง และงบประมาณที่ต้องนำมาดูแลสุขภาพของคนสูงวัยก็ต้องจัดเตรียมไว้มาก

ปัญหาสังคมสูงวัยยังไปผนวกรวมกับ "ปัญหาจำนวนประชากรลดลง" ตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นเทรนด์ลดลงเรื่อยๆ และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ในขาขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบ 2 ด้าน ตอกย้ำปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยพร้อมกัน! ทั้งการสร้างฐานภาษีน้อย และมีจำนวนประชากรเติมเข้ามาน้อยด้วย จึงอยากฝากรัฐบาลใหม่ให้รีบเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้

\'ดุสิตธานี\' หวังจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน! ดันท่องเที่ยวเชื่อมธุรกิจ อุ้ม ศก.ไทย

 

ทั้งนี้ เมื่อเจาะเฉพาะ "การบ้าน" ของ ที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไข เรื่องแรกคือ "ความนิ่ง" เพราะการที่ประเทศไทยมีความมั่นคงและความนิ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเดินทางเข้ามา จริงๆ ประเทศไทยในตอนนี้เป็นที่ต้องการ คนอยากเข้ามาอยู่แล้ว ถ้าทำให้บ้านเมืองเราดูสงบและเรียบร้อยดี ก็จะสามารถช่วยภาคการท่องเที่ยวได้

เรื่องต่อมาคือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่กล่าวไป รวมถึง “ปัญหาแรงงาน” เนื่องจากทุกวันนี้ภาคท่องเที่ยวและบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานพอสมควร โจทย์คือจะสามารถหาคนมาเติมได้อย่างไร ขณะเดียวกันยังมีประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ด้วย โดยภาคท่องเที่ยวและบริการต้องใช้คนหลากหลายประเภท ถ้าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยที่ไม่ให้น้ำหนักเรื่องทักษะ ก็อาจจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงจนผู้ประกอบการอยู่ยาก

แต่ถ้าสามารถทำได้พร้อมๆ กัน ทั้งการผลักดันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงาน และการออก “มาตรการจูงใจทางภาษี” (Tax Incentive) ให้ผู้ประกอบการนำไปลดหย่อนทางภาษีได้ อาทิ ถ้าผู้ประกอบการพัฒนาทักษะแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ติดแผงโซลาร์รูฟ เพื่อประหยัดต้นทุนพลังงาน หรือโครงการไหนมีการจัดสรรทำพื้นที่สีเขียว (Green Area) ก็จะช่วยผู้ประกอบการลดหย่อนภาษี ซึ่งจุดนี้ถือว่าดีกับประเทศไทยในภาพรวมด้วย

ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายภาคการท่องเที่ยวไทยปี 2567 สร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง กลุ่มดุสิตธานีมองว่าเป็น “ทิศทางที่ถูกต้องและดี” ตรงที่ไม่ได้เน้นเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะว่าเมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึง 39.8 ล้านคน สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท ถ้าปี 2567 ตั้งเป้ารายได้กลับมาเท่าเดิม นั่นหมายความว่าต้องปรับวิธีทำการตลาดแบบใหม่ ดึงชาวต่างชาติให้พำนักนานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น เดินทางเข้ามาถี่ขึ้น

ขณะที่คาดการณ์ปี 2570 ของ ททท. ซึ่งประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะสร้างรายได้รวม 5.6 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 68.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 182 ล้านคน-ครั้ง กลุ่มดุสิตธานีมองว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก! เพราะมีการแข่งขันจากหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องการช่วงชิงนักท่องเที่ยว

โดยส่วนตัวมองว่าไม่ควรเน้นเรื่องปริมาณ แต่ควรเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่า! ด้วยการเติมวัตถุประสงค์การเดินทาง ให้มีมากกว่าการท่องเที่ยวทั่วไป เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงไมซ์ (MICE : การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) จะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ยาวขึ้น

“ภาคท่องเที่ยวไทยเจอความท้าทายแน่นอน เพราะว่ามีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งภายในและภายนอก แต่ถ้าเรามุ่งเน้นการเดินทางแบบมีคุณภาพ เพิ่มวัตถุประสงค์ใหม่ๆ ในการเดินทางเข้าไปให้มากกว่าการท่องเที่ยวทั่วไป เชื่อว่าน่าจะทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้”