อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก

อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก

“อาร์เอส” วางยุทธศาสตร์ “ยืดหยุ่น-เปิดกว้าง” เฟ้นพันธมิตร สร้างโอกาสโตในธุรกิจเพลง พร้อมพึ่งพลัง “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค” ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ระดับโลก ร่วมทุน-ป้อนกรุเพลง ลิขสิทธิ์ทำเงิน ไตรมาส 4 เล็งเปิดตัวศิลปินไทยบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ โชว์ศักยภาพ ปูทางสู่สากล

การประกาศคัมแบ็กทำธุรกิจเพลงเชิงรุกของ “อาร์เอส” เกิดความเคลื่อนไหวมากมาย  ทั้งปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง ร่วมมือพันธมิตร พลิก “คู่แข่ง” ข้ามค่ายตลอดกาลอย่าง “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” จัดคอนเสิร์ตครั้งประวัติศาสตร์

ล่าสุด ผนึก “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป” หรือ UMG ค่ายเพลงระดับโลก ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ โดย อาร์เอส มิวสิค ถือหุ้น 30% และยูนิเวอร์แซล มิวสิค ถือหุ้น 70% เพื่อนำกรุสมบัติของอาร์เอส มิวสิค ทั้งเพลงนับหมื่น มิวสิค วิดีโอ(MV) สิทธิในการดนตรีกรรม ทั้งบทประพันธ์เพลง คำร้องต่างๆ ซาวด์แทร็ก รูปภาพและภาพถ่าย รวมถึงสิทธิภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (rights under license agreements) มูลค่าราว 1,600 ล้านบาท ไปต่อยอดการทำตลาดสู่เวทีโลก

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า การกลับมาทำธุรกิจเพลงเชิงรุกของอาร์เอส มิวสิค ไม่ได้มองการหวนคืนบัลลังก์ หรือ การเป็นเบอร์ 1 เพราะด้วยบริบทโลกการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในสังเวียนออนไลน์ การหาเบอร์ 1 หาไม่ได้ เนื่องจากตลาดมีขนาดมหาศาล

ขณะที่ อาร์เอส มิวสิค มีเป้าหมายทางธุรกิจชัดเจน ภายใน 3 ปีหรือปลายปี 2568 ต้องการนำธุรกิจเพลงเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จึงมอบนโยบายให้กับทีมงานทำงานร่วมกับทุกค่ายเพลง มีความยืดหยุ่นเป็นพันธมิตร หามุมผนึกกำลังให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเล็กหรือใหญ่กว่า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต

อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก “เราไม่มองเรื่องใหญ่หรือเล็ก เพราะปัจจุบันค่ายเพลงมีเป็นร้อย และมิติการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไป ไม่มองว่าเราแข่งกับใคร อย่างคอนเสิร์ตเราแย่งเงินจากใคร เด็ก ศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินเกาหลี ฯลฯ  ดังนั้น ธุรกิจของอาร์เอส มิวสิค จึงไม่ต้องใหญ่ ไม่ต้องเบอร์ 1 เบอร์ 2 เราไม่รู้หรอกว่าขนาดไหนคือเบอร์ 1 เพราะโลกมันกว้างมาก สิ่งสำคัญทำธุรกิจขอมีเพื่อน”

ทั้งนี้ มิติการแข่งขันกำแพงข้ามค่าย อาร์เอส มิวสิค ถูกทลายไปนานแล้ว จึงเห็นการผนึกกำลังกับจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ตั้งกิจการร่วมค้า อะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส จัดแกรมมี่อาร์เอสคอนเสิร์ตยาว 3 ปี

  • ยูนิเวอร์แซล มิวสิค สปริงบอร์ดลุยเพลงโลก

ส่วนการได้พันธมิตรระดับโลกอย่าง “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค” เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้บริษัทสร้างอิมแพ็คให้วงการเพลง และเสริมศักยภาพในตลาดออนไลน์ยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างผลประกอบการที่ดีด้วย

“ผมรู้จักกับคาลวิน หว่อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูนิเวอร์แซล มิวสิค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรองประธานอาวุโส ยูนิเวอร์แซล มิวสิค เอเชียมาราว 20 ปี มีการคุยกันเรื่องธุรกิจเพลงตลอด แต่การเจรจาเป็นพันธมิตรใช้เวลาเพียง 2 เดือน”

อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ - คาลวิน หว่อง

สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจเพลงหลังมีพาร์ทเนอร์ระดับโลก แบ่งบทบาทดังนี้ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพสร้างรายได้ออนไลน์ และขยายตลาดเพลงในโลก ยูนิเวอร์แซล มิวสิค จะดูแลทั้งหมด เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ตลาดในประเทศและช่องทางออฟไลน์ เช่น จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง คาราโอเกะ ในผับ บาร์ ร้านอาหาร การทำแคมเปญการตลาดเชิงดนตรี ฯ อาร์เอส มิวสิค จะดูแล

2.คาดการณ์รายได้ออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 30-40% และกลับไปทำเงินให้กับอาร์เอส มิวสิค รวมถึง Impression เพิ่มขึ้น 15-20% จากการฟังเพลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สตรีมมิงหรือโอทีทีต่างๆผ่านการบริหารของยูนิเวอร์แซล มิวสิค

3.จะมีการแบ่งปันเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ (Data Analytics) เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การแชร์องค์ความรู้ เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัลป้อนผู้บริโภคมากขึ้น

“เมื่อเพลงของอาร์เอส มิวสิค ไปอยู่กับยูนิเวอร์แซล มิวสิค ภาพลักษณ์จะเปลี่ยน ดีขึ้นทันที และเพลงถือเป็น Soft Power ที่การฟังไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก ยังมองถึงโอกาสในการเดบิวต์ศิลปินไทยไปร่วมงานหรือฟีทเจอริ่งกับศิลปินระดับโลก ทุกอย่างเป็นไปได้หมด

อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก

  • เดบิวต์ศิลปินไทยสู่สากล

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับยูนิเวอร์แซล มิวสิค ไม่ใช่แค่กรุเพลงเก่า ขุมทรัพย์ดั้งเดิม แต่รวมถึงแผนงานที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งตามแผนธุรกิจบริษัทมีการดึงศิลปินเก่ามาสร้างสรรค์งานเพลงผ่านโปรเจค อาร์เอส โฮมคัมมิ่ง และนิว คัมเมอร์ ซึ่งจะเดบิวต์เด็กใหม่ที่มีความสามารถทั้งร้องเต้น และด้านภาษา ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษ จีน และเกาหลีใต้ได้

สำหรับการเดบิวต์ศิลปินใหม่เบื้องต้นจะมีทั้งบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป รวม 7 กลุ่ม และจะเปิดตัวในไตรมาส 4 นอกจากนี้จะมีผลงานเพลงออกมาครึ่งปีหลังประมาณ 150 ซิงเกิล ทำงานร่วมค่ายอื่น เปิดตัวใน 2 เดือนข้างหน้า พร้อมมองเทรนด์เพลงจากเอเชียรวมถึงเพลงไทยป้อนคนฟังได้กว้าง ก้าวสู่ตลาดโลกได้

ได้คุยกับค่ายเพลงระดับโลกจำนวนมาก ทุกคนมองเหมือนกันว่าเพลงเอเชียรวมถึงเพลงไทยอยู่ในช่วงขยายตัว เห็นจากศิลปินไทยหลายคนได้ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีระดับโลก จึงมองศักยภาพศิลปินไทยต่อยอดสู่เวทีโลกได้ และเพลงแม้ไม่เข้าใจภาษา ความหมายก็สามารถฟังได้”

  • ไลฟ์สไตล์ฟังเพลงเปลี่ยน

ปัจจุบันพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคเปลี่ยน ไม่ได้ฟังเนื่องจากเพลงไพเราะ หรือเป็นเพลงที่ชอบอีกต่อไป แต่ฟังเพราะเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เช่น การทำกิจกรรมชาเลนจ์บนแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก(TikTok) แสดงความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ

อาร์เอสผนึก ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ สปริงบอร์ดธุรกิจเพลงสู่เวทีโลก

ข้อมูลจาก สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) และ Datareportal ระบุว่าการฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งในประเทศไทยมีสัดส่วน 22% ของการใช้งานอินเตอร์เน็ต ใช้เวลาเฉลี่ยราว 1.8 ชั่วโมง(ชม.) ซึ่งเพลงสอดแทรกอยู่ทุกโมเมนต์ของผู้บริโภค บนแพลตฟอร์มต่างๆ IFPI ยังรายงานปี 2565 รายได้จากมิวสิค สตรีมมิงทั่วโลกมีมากถึง 67% มีอัตราเติบโตเฉลี่ยกว่า 5% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม การรุกธุรกิจเพลงอีกครั้งอาร์เอส มิวสิค ได้ปรับโครงสร้างใหม่ เช่น การสร้างรายได้จากออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งผลิตผลงานเพลงทั้งจากศิลปินรุ่นใหม่และตำนาน การสร้างผลงานเพลงร่วมกับศิลปินชื่อดังจากภายนอก จะทำเงินสูงสุดสัดส่วน 40% การทำตลาด สร้างแบรนด์สัดส่วน 25% โชว์บิสและคอนเสิร์ต 25% การบริหารและดูแลศิลปิน 10%

นอกจากนี้ ยังตั้งนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส มิวสิค ผลักดันการเติบโตรายได้แตะ 1,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จากปีนี้คาดการณ์รายได้เพลงอยู่ที่ 720 ล้านบาท