ชาร์กซีอีโอ 'บุญรอด-ไทยซัมมิท' ภูริต-ชนาพรรณ หนุน 'โรโบคลาวด์' ทุนเล็กได้โต

ชาร์กซีอีโอ 'บุญรอด-ไทยซัมมิท'  ภูริต-ชนาพรรณ หนุน 'โรโบคลาวด์' ทุนเล็กได้โต

บุญรอด-ไทยซัมมิท ติดปีกให้ โรโบคลาวด์ บริษัทคนไทยมุ่งพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ขาดทุน-ประสบการณ์ต่อยอด และขยายธุรกิจให้ใหญ่ เมื่อผลงานเด่นเข้าตา 2 ซีอีโอบิ๊กคอร์ป จึงได้รับเงินทุนสร้างโอกาสโตในสนามธุรกิจไทย-เวทีโลก

เป็นอีกก้าวสำคัญของการต่อยอดธุรกิจ “บิ๊กคอร์ป” ของเมืองไทย เมื่อ 2 ชาร์ก จากรายการ “ชาร์กแทงก์ ไทยแลนด์” (Shark Tank Thailand)อย่าง “ชาร์กเต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด และ “ชาร์กจิง ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เดินหน้าลงทุนในบริษัท โรโบคลาวด์ จำกัด บริษัทคนไทยที่สร้างสรรค์ด้านการพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม (Robotic & Automation System)

รายการชาร์กแทงก์ ไทยแลนด์ ผลิตมา 3 ซีซั่น แต่ละครั้งจะเห็นคนไทยที่มีฝัน พร้อมความสามารถ แต่ “ขาดโอกาส” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เงินทุน” ประสบการณ์ด้านการดำเนินธุรกิจ หลายโปรเจคจึงไปต่อลำบาก ดังนั้น การนำไอเดียที่ต่อยอดได้ ไปเสนอ “ชาร์ก” จึงเป็นการเปิดทางให้พวกเขาสามารถมีสปริงบอร์ด แต้มต่อในการขยายแผนธุรกิจในกระดาษ โปรเจคที่ทำไว้ แต่ Scale ให้ใหญ่ขึ้นยากเป็นจริงได้

ล่าสุด ชาร์กเต้ ภูริต แม่ทัพใหญ่บุญรอดบริเวอรี่ และ ชาร์กจิง ชนาพรรณ แห่งอาณาจักรไทยซัมมิทฯ ผนึกกำลังลงขันกับบริษัท โรโบคลาวด์ เพื่อผลักดันการเติบโต

ชาร์กเต้ ภูริต เล่าว่า การได้ทำหน้าที่ “ชาร์ก” ในรายการ Shark Tank Thailand เป็นเวทีได้พบผู้ประกอบการคนไทยมากความสามารถจากหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ละคนมาพร้อมกับไอเดีย และโมเดลธุรกิจน่าสนใจ ทว่า ส่วนใหญ่เผชิญข้อจำกัดด้านการเติบโต จากหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือปัญหาด้าน “เงินทุน” และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

ในฐานะชาร์ก การได้เจอธุรกิจที่น่าสนใจ จึงเข้าร่วมลงทุน ซึ่งล่าสุดคือลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท โรโบคลาวด์ เพื่อสร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการขยายธุรกิจระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (Robotic & Automation System) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดรับยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทรงพลงต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิต และก้าวสู่การเป็น Smart Factory

“เราจะนำจุดแข็งด้านการตลาดและการผลิต ของกลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ไปต่อยอด สร้างประโยชน์ในการพัฒนาระบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดภาคการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

สำหรับโรโบคลาวด์ ถือเป็นองค์กรที่มีผู้บริหารเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มาพร้อม Passion ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายงานแมคาทรอนิกส์ (Mechatronics) ซึ่งเป็นสาขาที่ครอบคลุมทั้งด้านเครื่องกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหุ่นยนต์

“เชื่อว่านอกจากจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย แต่ยังสามารถผลักดันสู่การเติบโต และขยายตลาดในต่างประเทศได้”

ด้านชาร์กจิง ชนาพรรณ ฉายภาพองค์กรไทยซัมมิทมุ่งเน้นการใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการการผลิตอยู่แล้ว ในฐานะเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทย โดยบริษัทมีจำนวน Robot มากที่สุดแห่งหนึ่ง และการใช้หุ่นยนต์และแขนกลในการผลิต จะต้องสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องจักรได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและความแม่นยำในการผลิต รวมถึงลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต

สำหรับไทยซัมมิทมีทีมวิศวกรออกแบบและพัฒนาการทำงานด้านการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ต่างๆ จึงเชื่อมั่นว่านอกจากเงินลงทุนที่สนับสนุนให้แก่ทางโรโบคลาวด์แล้ว ยังสามารถให้การสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา การขยายตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้อีกด้วย

  “เข้าใจดีว่าผู้ประกอบการที่เข้ามาขอเงินลงทุน ปกติจะคาดหวังเรื่องของการช่วยเหลือในด้านอื่นจากชาร์กด้วย ยิ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ จะยิ่งคาดหวังมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้คำแนะนำในด้าน การตลาด การเงิน Know-How เพื่อการพัฒนาสินค้า ดังนั้นในการเลือกลงทุนในแต่ละครั้ง ชาร์กจะสนับสนุนตามความคาดหวังของผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุดตามที่คุยกันก่อนการลงทุน อย่างกรณีของบริษัทโรโบคลาวด์ เป็นต้น”

พิฑูรย์ วัฒกภาสน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรโบคลาวด์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้รับการลงทุนจาก บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ ไทยซัมมิท จะช่วยขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ลงทุนทั้งสองบริษัทเข้ามาช่วยทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ รวมถึงร่วมสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และชิ้นส่วนยานยนต์ ให้พัฒนายิ่งขึ้น

สำหรับบริษัท โรโบคลาวด์ ดำเนินกิจการมา 8 ปี เป้าหมายจากนี้ไปคือการพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ทำให้โรงงานสามารถสั่งงานระบบต่างๆ ให้ทำงานอย่างสมบูรณ์เพียงแค่การกดเพียงปุ่มเดียว หรือ One Touch Manufacturing ยกระดับอุตสหากรรมการผลิตทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล