‘โอซีซี’ ลุคใหม่ ส่ง KMA พลิกตลาดความงาม สวยไม่จำกัดเพศ

‘โอซีซี’ ลุคใหม่ ส่ง KMA พลิกตลาดความงาม สวยไม่จำกัดเพศ

เปิดแผน 'โอซีซี’ เครือสหพัฒน์ องค์กรไทยอายุกว่า 50 ปี เดินหน้าปฏิวัติองค์กรครั้งใหญ่ ส่งแบรนด์เรือธง 'KMA' เครื่องสำอางพลิกตลาดความงามใหม่ เจาะกลุ่ม genderless สวยไม่จำกัดเพศ พร้อมปรับแบรนด์ 'กีลาโลช' ให้ลุคยัง มุ่งสร้างองค์กรขยายกลุ่มคนรุ่นใหม่

กว่า 50 ปีที่ บริษัท โอซีซี วางรากฐาน 3 กลุ่มธุรกิจทั้งเครื่องสำอาง แฟชั่น และเวชภัณฑ์ ได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้แบรนด์ อาทิ Covermark, KMA, KMA Professional, Sungrace, BSC Hair Care, Guy Laroche, Gunze, G&G, Paon, Iris Ohyama, Smileyhound และ Paul&Joe เป็นต้น

การเคลื่อนไหวล่าสุดในปี 2566 นี้ได้ประกาศแผนครั้งสำคัญในการปฏิวัติองค์กรครั้งใหม่ ทั้งการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล การปรับภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าในเครือ

 

นางธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2566 โอซีซีได้มีการปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อแปลงโฉมบริษัทครั้งใหม่ ทั้งโลโก้แบรนด์ และการปรับแบรนด์ต่างๆ ของบริษัท ในการสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

พร้อมกันนี้ได้ปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ได้เป็นเฉพาะ "ดิสทริบิวเตอร์" เท่านั้น แต่จะก้าวสู่การเป็น ออมนิ ชาแนล คอมเมิร์ซ พร้อมเปิดรับสู่การเป็น Strategy partner ร่วมกับคู่ค้าต่างๆ

 

สำหรับแบรนด์ที่ปรับโฉมใหม่แล้วกับ KMA เครื่องสำอาง แบรนด์ที่อยู่ในตลาดมายาว นานกว่า 20 ปีได้มีการรีแบรนด์ใหม่ ทั้งให้มีภาพลักษณ์ที่สดใสมากขึ้น และกลายเป็นเครื่องสำอางที่ทุกคนสามารถใช้ได้ทุกกลุ่ม โดยไม่จำกัดเพศ Genderless

พร้อมกันนี้ ได้ดึง โบกี้ ไลอ้อน นักร้องชื่อดัง มาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก ที่จะเผยโฉมอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.2566 นี้เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกัน อีกแบรนด์ในเครือ ที่ได้มีการปรับโฉมใหม่กับแบรนด์ชุดชั้นใน กีลาโลช (Guy Laroche) ได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ใหม่ให้ดูเด็กลง เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากที่ผ่านมา ภาพของแบรนด์จะถูกจดจำว่า เป็นแบรนด์ชุดชั้นในชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส

อีกทั้งจะดึงแบรนด์ใหม่ๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เข้ามาขยายตลาด ทั้งแบรนด์ Wella จากประเทศเยอรมนี และแบรนด์ Demi จากประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นการต่อยอดขยายกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ให้แก่ บริษัทภายหลังที่ บริษัทไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ ชิเซโด้ โปรโฟสชั่นแนล ในไทยแล้ว เนื่องจาก บริษัทแม่ของแบรนด์ถูกบริษัทจากประเทศเยอรมนีซื้อแบรนด์ไป พร้อมเปลี่ยนนโยบายของตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียใหม่ 

ทั้งหมดจากการปรับแผนใหม่ในครั้งนี้ จะทำให้ โอซีซี สร้างผลประกอบการโดยรวมในปี 2566 กลับมาแข็งแกร่ง พร้อมกระตุ้นให้ผู้บริโภคจดจำ โอซีซีในภาพลักษณ์ใหม่ ส่วนภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 กลับมาขยายตัวบวกได้ดีอีกครั้ง หลังจากในช่วงสองปีก่อน บริษัทมีผลประกอบการที่ติดลบ เนื่องจากสถานการณ์โควิดและสถานการณ์ของตลาด พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว