แพงไหม? ‘ไทยเบฟ’ จ่าย 2,000 ล้านบาท แลก “สูตรลับ” หัวเชื้อสุรา 40 ปี

แพงไหม? ‘ไทยเบฟ’ จ่าย 2,000 ล้านบาท  แลก “สูตรลับ” หัวเชื้อสุรา 40 ปี

อดีต "จุล กาญจนลักษณ์" คือมือปรุงสุราอันดับ 1 ของเมืองไทย ที่รังสรรค์ "แม่โขง" จนฮิตติดใจคอทองแดง และยังปรุง "แสงโสม-หงส์ทอง" ให้เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒภักดี วันนี้อาณาจักรไทยเบฟยังจ่ายเงิน 2,000 ล้านบาท แลกสูตรลับปรุงหัวเชื้อสุรา 40 ปีด้วย

หากเอ่ยชื่อถึง “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ราชันย์น้ำเมา แน่นอนว่าผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงภาพของเจ้าของอาณาจักรเหล้าเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ รวงข้าว เหล้าขาว 40 กรีดี , แสงโสม เบลนด์ 285 สุราสี และเบียร์ช้าง อาชา เป็นต้น

นอกจากนี้ ธุรกิจ “สุรา” ยังเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของนักธุรกิจคนไทยเชื้อสายจีน ที่เริ่มต้นค้าขายตั้งแต่วัยเยาว์ กระทั่งมีโอกาสได้ขายสินค้าให้โรงงานสุรา หาทุนรอน ตลอดจน “สายสัมพันธ์” กับกลุ่มทุนสุราเมรัย จนนำไปสู่การคว้าสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมด ในยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน “การค้าสุราเสรี”

ทว่า เส้นทางธุรกิจ “เจ้าสัวเจริญ” ในการประลองยุทธ์ตลาดเหล้า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเจอขวากหนามสารพัด แต่การขับเคี่ยวแข่งกับ “ตระกูลใหญ่” ทุนหนาในอดีต ธุรกิจที่มาพร้อมกับ “หนี้” ก้อนโต เป็นต้น

ส่วนปัจจัยความสำเร็จ นอกจากกลยุทธ์ต่างๆ ในการทำตลาดผู้ปรุงสุรา “สูตรลับ” ยังเป็นกุญแจสำคัญด้วย

  • ไทยเบฟ จ้างผู้กุมสูตรลับ “หัวเชื้อสุรา” 2,000 ล้านบาท

วันนี้มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อมีรายงานข่าว “ไทยเบฟเวอเรจ” มีการทำสัญญาภาระผูกพันกับบริษัทหลายด้าน เช่น การเป็นสปอนเซอร์ให้สนมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเวลา 10 ปี รวมมูลค่า 100 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2560-2570 สัญญากับบริษัทแห่งหนึ่งในการให้คำแนะนำและปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตสุราในไทย ระยะเวลาจ้าง 10 ปี จากปี 2557-2567 วงเงินรวม 251.56 ล้านบาท

แพงไหม? ‘ไทยเบฟ’ จ่าย 2,000 ล้านบาท  แลก “สูตรลับ” หัวเชื้อสุรา 40 ปี รวมถึง “สัญญาว่าจ้างผู้ชำนาญการ” แค่ “ผู้หนึ่ง” ในการควบคุมดูแลการผลิตและปรุงสุรา “หัวเชื้อสุรา” โดยมีระยะเวลาจ้าง 40 ปี ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2547 ถึง 1 สิงหาคม 2587 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท

ภายใต้สัญญาดังกล่าว มีไทยเบฟและ 4 บริษัทย่อยที่ทำการว่าจ้างผู้ชำนาญการคนนี้ และภาระผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างรายเดือนอยู่ที่ 4.3 ล้านบาท โดยเพิ่มค่าจ้าง 5% ทุกๆรอบ 12 เดือน ในช่วง 20 ปีแรก หลังจากนั้นบริษัทและบริษัทย่อยจะจ่ายค่าจ้างเหมาเป็นรายเดือนรวม 0.25 ล้านบาท จนครบตามสัญญาเป็นเงิน 1,766.2 ล้านบาท แต่ปี 2549 มีการตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ค่าจ้างที่จะจ่ายตลอดอายุสัญญาคงเหลือ 239.9 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนเหลือ 431.1 ล้านบาท

  • แพงไหม? เงิน 2,000 ล้านบาท กับระยะเวลา 40 ปี

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าผู้กุมสูตรลับในการปรุงหัวเชื้อสุรา ได้เม็ดเงินก้อนโต ก่อนปี 2587 เพราะชีวิตของคน หากทำงาน มีเงิน สร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง ย่อมต้องใช้จ่ายเพื่อความสุขของตนเองและครอบครัว ในห้วงที่ยังแข็งแรง มีพลังทำกิจกรรมต่างๆ

แล้วเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ที่ไทยเบฟจ่ายแพงหรือไม่ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่แลกกับสูตรลับ

คำตอบจากผู้อ่าน อาจมีทั้ง “แพง” และ “ไม่แพง” แต่หากดูความมั่งคั่งของอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ ที่สร้างรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า “แสนล้านบาท” และกำไรอีกหลัก “หลายหมื่นล้านบาท” เงินดังกล่าวถือว่า “คุ้มค่าต่อการลงทุน” ไม่เช่นนั้น บริษัทคงไม่จ่าย

แพงไหม? ‘ไทยเบฟ’ จ่าย 2,000 ล้านบาท  แลก “สูตรลับ” หัวเชื้อสุรา 40 ปี

โครงสร้างความมั่งคั่งจากเหล้า-เบียร์

ปี 2565 ไทยเบฟ ปิดรายได้ที่ 2.72 แสนล้านบาท โดยธุรกิจสุรา มีสัดส่วน 43% เบียร์ 45% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6% และธุรกิจอาหาร 6%

ส่วนกำไร 34,505 ล้านบาท โดย “สุรา” คือขุมทรัพย์ทำเงินสูงสุดสัดส่วน 71.9% ตามด้วยเบียร์ 25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.9% และอาหาร 1.2%

เบียร์ทำเงิน “แสนล้านบาท” ไม่ต่างจากเหล้า แต่ “กำไร” ถือว่าห่างชั้นกันอยู่มาก

  • รู้จักมือปรุงสุราเบอร์ 1 ของไทยในอดีต

ธุรกิจสุราในอดีตจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่โขง แสงโสม และหงส์ทอง ล้วนเป็นแบรนด์ที่ครองใจคอทองแดงชาวไทยมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์เหล่านั้น มาจากบุรุษนาม “จุล กาญจนลักษณ์” ผู้ปรุงสุราอันดับ 1 ของประเทศไทยในอดีต โดยปรุง “แม่โขง” จนชื่อกระฉ่อน

ภายหลังยังรับหน้าที่เป็นผู้ปรุง “แสงโสม” และ “หงส์ทอง” จนกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ “เจ้าสัวเจริญ” มีสินค้าไปต่อกรกับคู่แข่ง ซึ่งก็คือ “แม่โขง” ในตลาดยุคนั้นด้วย

“เจ้าสัวเจริญ” รู้จักกับ “จุล” เมื่อปี 2505 จากการเข้าไปค้าขายข้าวของให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน

นอกจาก “จุล” จะปรุงเหล้าให้ ยังเป็นคีย์แมนในการสร้างโอกาสที่ดีแก่ราชันย์น้ำเมา โดยเฉพาะการแนะนำให้ “เจ้าสัวเถลิง เหล่าจินดา” และ “เจ้าสัวเจริญ” ซื้อกิจการโรงงานสุราเอกชนในยุคนั้น เพื่อสร้างรากฐานในการเป็นผู้ผลิตสุราสีแข่งแม่โขงด้วย

“เมื่อปี 2518 ท่านผู้อำนวยการ จุล กาญจนลักษณ์ กรุณาแนะนำผมว่า โรงงานสุราของบริษัท ธารน้ำทิพย์ จำกัดนั้น ดำเนินกิจการขาดทุน หากปล่อยให้ล้มไป เป็นเรื่องน่าเสียดาย ควรช่วยกันรักษาไว้ จะได้เป็นการพัฒนาสุราพิเศษอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นนี้ สุราแสงโสมก็เกิดขึ้น และต่อมาก็เกิดหงส์ทอง และสุราทิพย์ตามมา”

เหล่านี้เป็นเพียง “สูตรลับ” และเส้นทางเติบโตในอาณาจักรน้ำเมาเจ้าสัวเจริญ ที่มีมือปรุงสุราชั้นยอดมาร่วมงาน