‘ไอซีบีซี’ชี้ไทยน่าลงทุนสุดในเอเชีย ‘หอการค้า’ย้ำภาคเอกชนยังแกร่ง

‘ไอซีบีซี’ชี้ไทยน่าลงทุนสุดในเอเชีย  ‘หอการค้า’ย้ำภาคเอกชนยังแกร่ง

ประธานหอการค้าไทย ย้ำนักลงทุนอย่ากังวลไทยเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ยันเอกชนไทยยังเข้มแข็งเศรษฐกิจโต “บีโอไอ” ชูไทยมีศักยภาพเป็นฐานผลิตส่งออกไปทั่วโลก “ส.อ.ท.”เร่งทรานส์ฟอร์มอุตฯเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนจีน “ไอซีบีซี" ชี้จีนมองไทยมีศักยภาพน่าลงทุนมากสุดในเอเชีย ‘ชาติศิริ’ ชี้ไทยมียุทธศาสตร์แกร่งเปิดโอกาสลงทุน

การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention - WCEC) ครั้งที่ 16 มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินของไทย ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมนโยบายการเงิน นโยบายภาครัฐ ในการสนับสนุนการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานมีถึง 4 สายความสัมพันธ์ ได้แก่ ความสัมพันธ์ด้านการทูต ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ 3. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม 4. ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

 

อยากให้นักลงทุนจีนมั่นใจ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่เพราะภาคเอกชนไทยเข้มแข็งมาก เศรษฐกิจไทยขยายตัว อยากให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำงานใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้เพิ่มขึ้นในทุกมิติ จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการขยายการลงทุนของจีนมายังไทย

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยส่งออกจีน 1.19 ล้านล้านบาท (2.42 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนถึง 2.49 ล้านล้านบาท (5.07 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์ แม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทจากการนำเข้า แต่ก็ถือเป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ และเทคโนโลยี สำหรับการต่อยอดการค้าของประเทศไทย

ที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่ขอสิทธิประโยชน์หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทยอย่าง BOI เป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาทและตั้งแต่ปี 2561- 2565 ประเทศจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยรวมทั้งสิ้นเป็นอัน 2 จากการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ EEC ทั้งหมดและประเทศไทยพร้อมเป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพและสามารถรองรับการลงทุนตรงจากจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย

ไทยมีศักยภาพเหมาะเป็นฐานการผลิต

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่รองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของนักลงทุนจีน เนื่องจากไทยมีจุดแข็ง จากการที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางอาเซียน มีการขนส่งสินค้าที่สะดวก,มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพที่สุดในภูมิภาค เช่น สนามบิน ท่าเรือ ถนน นิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม มีซัพพลายเชนที่ครบวงจร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมิคอลส์  ซึ่งประเทศไทยมีซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ มีบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งวิศวกร และช่างเทคนิคฯลฯ

มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการลงทุน มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจในการลงทุน และจากที่บริษัทต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของ การลดก๊าซเรือนกระจก การลดคาร์บอน ซึ่งไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมด้าน BCG มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียงพอในการป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้

ประเด็นที่นักลงทุนจีนให้ความสำคัญ คือ เรื่องความปลอดภัย และ resiliency ปัจจุบันทั่วโลกเกิดความขัดแย้งกันแต่ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทีดีกับประเทศต่างๆ ทำให้การมาตั้งฐานผลิตในประเทศสามารถทำธุรกิจหรือค้าขายกับทุกประเทศทั่วโลก ไทยไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง ไม่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ

ดังนั้นทำให้บริษัทจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยประสบความสำเร็จ 99% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน บริษัทจีนหลายบริษัท ที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ไม่ใช่แค่จำหน่ายสินค้าในประเทศไทย แต่มาตั้งฐานผลิตเพื่อเป็นฐานจำหน่ายสินค้าไปทั่วโลก

นายนฤตม์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA จำนวน 14 ฉบับ ครอบคลุม 18 ประเทศ แต่ปัจจุบันไทยกำลังเจรจากับหลายประเทศซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยกำลังจะมี FTA เพิ่มเป็น 20 ฉบับ ครอบคลุม 53 ประเทศ ซึ่งจะ เป็นหัวใจสำคัญที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก

ทรานส์ฟอร์มสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีความท้าทายเกิดขึ้นมากมายในโลก การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งนั้นถูก ดิสรัป ,ปัญหาเทรดวอร์ ปัญหาโควิด และสงครามรัสเซีย กับยูเครนกระทบมากทำให้ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง ต้องขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาการปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยเจอความท้าทาย 2 เรื่อง คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้สภาอุตสาหกรรมต้องทรานส์ฟอร์มกระบวนการผลิตทั้งหมดของประเทศ เพื่อทำให้ไทยมีความสามารถแข่งขัน สภาอุตฯได้กำหนดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3 กลุ่ม คือ1.ธุรกิจ S-Curve 2.BCG และ 3.Climate change

รวมถึงตั้งสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน เป็นหน้าต่างที่ทำให้เกิดการลงทุนร่วมกันในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ที่ตรงกับนโยบายของจีน เป็นมิตรที่เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นดิจิทัลและเป็นไฮเทคโนโลยี

เงินเฟ้อไทยเกือบต่ำสุดในโลก

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการลงทุนค่อนข้างต่ำ ทำให้กระทบต่อศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว ไทยต้องเพิ่มโอกาสของการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะ ภาคบริการ อุตสาหกรรมที่ทันสมัยในระยะถัดไป

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดปีนี้ จะขยายตัวสู่ 3.6% แต่หากเทียบกับประเทศในอาเซียน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาในโลก ไทยถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก 

สำหรับเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงสุดในช่วงโควิด-19 เมื่อปีก่อนที่ 6.1% และปรับลดลงมาล่าสุด 0.5% เมื่อพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในประเทศที่กำลังพัฒนา และเกือบต่ำที่สุดในโลก แปลว่า เราสามารถบริหารจัดการเงินเฟ้อได้ดีกว่าประเทศอื่น และส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อแม้มีแนวโน้มลดแต่ยังเป็นห่วง เพราะการท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากในช่วงปลายปี จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเร็ว อาจเพิ่มแรงกดดันให้เงินเฟ้อมากขึ้น กระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่อาจมีปัญหาได้ 

 ส่วนความเสี่ยงระยะข้างหน้า คือความผันผวนในตลาดการเงิน ตลาดทุนที่จะมีความผันผวนสูง ธปท. พยายามดูแลไม่ให้ผันผวนสูงจนเกินไปที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือภาคต่างประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อีกด้านคือ การตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาก อาจมีผลต่อการขาดดุลงบประมาณ และความยั่งยืนทางการคลังและเงินเฟ้อในระยะยาว

เชื่อไทยมีศักยภาพน่าลงทุน

นายหลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ICBC กล่าวว่า การร่วมมือจีนอาเซียนรวมถึงไทยเป็นสิ่งที่สำคัญนำมาสู่โอกาสมากมาย โดยเฉพาะโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-อี้ไต้อี้ลู่) ที่ดึงดูดเม็ดเงินจาก 1 ใน 4 ทั่วโลกให้มีส่วนร่วม เกิด 3,000 โครงการทำให้กว่า 40 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

ทั้งนี้ เชื่อว่า จีน ยังให้ความสำคัญกับการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนและเป็นจุดสำคัญ ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการที่สำคัญ จึงมองว่าไทย มีความน่าสนใจลงทุนอันดับต้นๆ ของโลก ด้านต่างประเทศมีความแข็งแกร่งมีทุนสำรองสูงอันดับที่ 14% ของโลก ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน และลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้นักลงทุนต่างชาติได้ 

นอกจากนี้ไทยยังมีจุดเด่นใช้อีคอมเมิร์ซสูง พร้อมด้านการชำระเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินด้วยสกุลท้องถิ่น จนถึงปัจจุบัน มีการชำระเงินเป็นสกุลท้องถิ่นแล้ว 7 หมื่นล้านหยวน

สำหรับธนาคารไอซีบีซี ถือเป็นธนาคารเดียวที่ได้ใบอนุญาตหรือไลเซ่นส์ ในการชำระเงินสกุลท้องถิ่น มองว่า ไทย เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก เป็นประตูแห่งโอกาสในการลงทุนไปสู่ทั่วโลก    

ชูไทยมีแผนยุทธศาสตร์ดึงดูดการลงทุน 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สำหรับไทยจีน ถือว่ามีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน จีนเป็นคู่ค้าหลักของไทยที่มีมูลค่าทางการค้าร่วมกันค่อนข้างมาก ไทยยังเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจจีน เข้ามาลงทุนมากที่สุดเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 30%

การร่วมมือเชิงพาณิชย์ วัฒนธรรม ร่วมถึงการร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้ากับฮ่องกง ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะเป็นประตูเชื่อมต่ออาเซียน ดังนั้นการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบราง การขนส่งทางเรือ และอื่นๆ จะเป็นประตูสำคัญทำให้เกิดความร่วมมืออื่นๆตามมาอีกมากในระยะข้างหน้า

โดยเฉพาะสถานการณ์ทั่วโลกเผชิญเศรษฐกิจซบเซา แต่ไทย ยังมีเสถียรภาพ และจะเป็นฐานลงทุนสำคัญเป็นประตูแห่งโอกาสช่วยขยายธุรกิจไปสู่ทั่วโลกได้ ทั้งยังขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ต่อเนื่อง ทั้งไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงนโยบายในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็น 0% เหล่านี้จะนำมาสู่โอกาส และดึงดูดการลงทุนใหม่เข้ามามากขึ้น