แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

หากมองเค้กก้อนใหญ่ระดับโลก เครื่องบินตระกูลดัง 'A320' จากค่าย 'แอร์บัส' (Airbus) ของฝั่งยุโรป ครองตำแหน่งผู้นำ 'เครื่องบินทางเดินเดี่ยว' (Single Aisle Aircraft) อย่างไม่ต้องสงสัย!

ด้วยจุดเด่นห้องโดยสารทางเดินเดี่ยวกว้างที่สุดในท้องตลาด ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ผ่านการออกแบบคำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์ที่ได้รับการปรับปรุง มาพร้อมกับเครื่องยนต์เจ็ทรุ่นล่าสุด ส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษลดลงอย่างมาก

แม้จะมีตระกูล A320 รุ่นมหานิยมอยู่แล้ว แต่แอร์บัสยังคงเดินหน้าทำการตลาด ผลักดันยอดขายเครื่องบินแบบทางเดินเดี่ยวรุ่นอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงน้องใหม่ ตระกูล A220” เครื่องเล็ก ทรงประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำมัน ซึ่งแอร์บัสเคยจัดเที่ยวบินสาธิตในประเทศไทยเมื่อปี 2562 และล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2566 นำเครื่องบิน A220 รุ่นใหม่มาอวดโฉม ตั้งเป้าปูพรมทำตลาดทั่วโลก

แอร์บัส A220 เครื่องเล็ก บินคุ้ม ประหยัดน้ำมัน

A220 ถือเป็นเครื่องบินทันสมัยที่สุดในบรรดาเครื่องบินขนาดเดียวกัน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 100-160 คน บนพิสัยการบินที่ไกลสูงสุดถึง 3,450 ไมล์ทะเล (หรือ 6,400 กิโลเมตร) รัศมีการบินสูงสุด 8 ชั่วโมง ด้วยประสิทธิภาพดังกล่าวทำให้เครื่องบินรุ่นนี้สามารถให้บริการบินบนเส้นทางภายในประเทศ ครอบคลุมทุกเส้นทางในไทย ตลอดจนเส้นทางบินระดับภูมิภาคไปยังจุดหมายปลายทางที่ไกลออกไป เช่น ดาร์วินและเพิร์ธในออสเตรเลีย ดูไบและอาบูดาบี รวมถึงโตเกียวและโซล

นอกจากนี้ A220 ยังลดการใช้เชื้อเพลิงและปล่อยคาร์บอนลงถึง 25% เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนหน้าที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของอุตสาหกรรมเพื่อลดผลกระทบของการบินต่อ “สิ่งแวดล้อม” เครื่องบินรุ่นนี้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เกียร์เทอร์โบแฟนรุ่นใหม่ล่าสุดของ แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ (Pratt & Whitney) รุ่นพีดับเบิลยู1500จี (PW1500G)

 

ดีไซน์ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง เก้าอี้นั่งสบาย

A220 มีให้เลือก 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น A220-100 รองรับผู้โดยสารได้ 100-130 ที่นั่ง และรุ่น A220-300 ที่มีขนาดใหญ่กว่า รองรับผู้โดยสารได้ 130-160 ที่นั่ง โดยเครื่องบิน A220 มีห้องโดยสารกว้างขวาง สร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นด้วยแสงไฟ และแสงจากธรรมชาติผ่านหน้าต่างที่มีขนาดกว้าง เหมือนกับหน้าต่างของเครื่องบินแบบทางเดินคู่ตระกูล A350

ส่วนเก้าอี้โดยสารมีขนาด 18.5-19 นิ้ว กว้างที่สุดในบรรดาเครื่องบินประเภทเดียวกัน เท่ากับที่นั่งบนเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตระกูล A380 ทำให้ผู้โดยสารนั่งสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะได้รับการออกแบบให้กว้างขึ้น เก็บของได้มากขึ้น ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นเครื่องเพื่อช่วงชิงพื้นที่เก็บสัมภาระ

แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

 

'A220' เติมเต็มตระกูลเครื่องบินทางเดินเดี่ยว

เรย์มอนด์ มานูเกียน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ทางเดินเดี่ยว แอร์บัส เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “แอร์บัส” เป็นผู้นำตลาดเครื่องบินแบบทางเดินเดี่ยว ครอบคลุมทุกความต้องการของตลาดตั้งแต่ 100-244 ที่นั่ง เมื่อดูเฉพาะ “กลุ่มเครื่องบินขนาดตั้งแต่ 100-150 ที่นั่ง” พบว่าจากข้อมูล ณ สิ้นเดือน เม.ย.2566 แอร์บัสมีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินกลุ่มนี้ถึง 67% ของทั้งหมด นำโดยเครื่องบินตระกูล A220 คิดเป็นสัดส่วน 60% ด้วยจำนวนคำสั่งซื้อรวม 785 ลำ แบ่งเป็นส่งมอบแล้ว 262 ลำ และรอส่งมอบอีก 523 ลำ รองลงมาคือแอร์บัส A319neo คิดเป็น 7% ด้วยจำนวนคำสั่งซื้อ 92 ลำ

แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

ส่วนคู่แข่งจากค่ายโบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐ เครื่องบิน B737 MAX 7 คิดเป็นสัดส่วน 12% ด้วยจำนวนคำสั่งซื้อ 159 ลำ ด้านเครื่องบิน E2 Jets จากค่ายเอ็มบราเออร์ (Embraer) ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติบราซิล คิดเป็นสัดส่วน 21% มีจำนวนคำสั่งซื้อ 270 ลำ

“เครื่องบินตระกูล A220 เป็นรุ่นที่เข้ามาเติมเต็มกลุ่มตระกูลเครื่องบินแบบทางเดินเดี่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจากข้อมูลพบว่า เครื่องบิน A220 ที่ถูกสั่งซื้อไปนั้น กว่า 70% ถูกนำไปใช้งานร่วมกับเครื่องบินตระกูล A320”

แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

 

อุดช่องโหว่เส้นทางบินดีมานด์ไม่สูง เพิ่มความสามารถทำกำไร

จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน เม.ย.2566 เครื่องบิน A220 ถูกใช้ทำการบินไปแล้วกว่า 1,100 เส้นทางบิน โดยกว่า 200 เส้นทางเป็น Thin-Route” ซึ่งถูกประเมินว่าเป็นเส้นทางที่มีดีมานด์ไม่สูงมากนัก เครื่องบินรุ่นนี้จึงตอบโจทย์ ช่วยผู้ประกอบการสายการบิน “อุดช่องว่าง” ในการขนส่งผู้โดยสารประมาณ 100 กว่าคนต่อเที่ยวบิน ให้สามารถทำกำไรได้ ไม่จำเป็นต้องนำเครื่องบินที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่าดีมานด์จนเกินไปมาขนผู้โดยสาร เพราะเมื่อมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) น้อยเกินไป สายการบินก็ต้องมาลดราคาตั๋วบินเพื่อดึงดูดลูกค้า ทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงตามไปด้วย

“ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทำการบินได้ในระยะไกลขึ้น ทำให้สายการบินสามารถขยายตลาดเส้นทางบิน  เชื่อมต่อไปยังเส้นทางที่มีดีมานด์ไม่สูงมากนักได้ดียิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ เครื่องบิน A220 ได้ให้บริการผู้โดยสารแล้วมากกว่า 375 จุดหมายปลายทาง มากกว่า 800,000 เที่ยวบิน คิดเป็นเวลามากกว่า 1,350,000 ชั่วโมงบิน

แอร์บัส ดัน A220 เครื่องเล็กบินคุ้ม ย้ำผู้นำเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของโลก!

 

แอร์บัสรุกทำตลาดกับแอร์ไลน์ใน 'เอเชียแปซิฟิก'

รายงานข่าวจากแอร์บัส ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเครื่องบินตระกูล A220 ถูกนำไปให้บริการเที่ยวบินในภูมิภาค “เอเชียแปซิฟิก” จำนวนมากขึ้น โดยสายการบิน “โคเรียนแอร์” (Korean Air) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10 ลำ

ล่าสุด (21 มิ.ย.) “แควนตัส กรุ๊ป” ของออสเตรเลีย ได้สรุปคำสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม โดยเป็นเครื่องบิน A220-300 จำนวน 9 ลำ ทำให้มียอดเครื่องบินทางเดินเดี่ยวรอส่งมอบจำนวนทั้งสิ้น 29 ลำ จากเดิมทีสายการบินแควนตัส (Qantas) เลือกเครื่องบิน A220 ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการทดแทนฝูงบินหลักของสายการบินที่ประกาศในเดือน พ.ค. 2565 ซึ่งรวมคำสั่งซื้อเครื่องบิน A321XLR และ A350-1000 ด้วย สายการบินได้ประกาศความตั้งใจที่จะทำการสั่งซื้อ A220 เพิ่มเติมไปเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยจะได้รับมอบเครื่องบิน A220 ลำแรกช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ แอร์บัสมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับสายการบินใน “ประเทศไทย” ซึ่งมีเครื่องบินแอร์บัสมากกว่า 120 ลำที่บินในประเทศ เครื่องบินตระกูล A320 ดำเนินการโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย และไทยสมายล์ ในขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้บริการบินด้วยเครื่องบินตระกูล A330 และการบินไทยให้บริการบินด้วยเครื่องบินตระกูล A330 และ A350 บนเส้นทางบินระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

คริสเตียน เชอร์เรอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์และหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของแอร์บัส กล่าวว่า แอร์บัสได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบิน A220 เกือบ 800 ลำจากลูกค้า 30 ราย ซึ่งทำการส่งมอบไปแล้ว 265 ลำ ปัจจุบันเครื่องบิน A220 เข้าให้บริการในสายการบินทั่วโลก 16 สายการบินแล้ว”