ททท. คาด 'นักท่องเที่ยวต่างชาติ' ปี 67 พาเหรดเข้าไทย 30-35 ล้านคน
‘ททท.’ คาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เดินทางเข้าไทย 30-35 ล้านคน รุกทำตลาดเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริป ดันรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศฟื้น 100% ตามเป้า 3 ล้านล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.คาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 30-35 ล้านคน หนุนสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาทตามเป้าหมาย ฟื้นตัว 100% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ด้วยการทำตลาดเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (Spending Per Trip)
ตามที่ ททท. ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น และได้ดำเนินการการส่งเสริม “ปีท่องเที่ยวไทย 2566” หรือ “Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวทั้งเชิงคุณภาพและบรรลุเป้าหมายเชิงรายได้มากกว่าเชิงปริมาณ โดย ททท. ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2566 ให้กลับมา 80% ของปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้รวมสูงสุดอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท จากสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-30 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ปัจจัยความคุ้มค่าและคุณภาพของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง นิยมการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เยี่ยมญาติและครอบครัว และชอปปิง ซึ่งกิจกรรมด้านการชอปปิงเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ และสามารถช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้คนยังหันมารักสุขภาพตัวเองมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Health & Wellness Tourism ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และนักท่องเที่ยวมีความต้องการท่องเที่ยวมุมมองใหม่ คาดหวังการได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า แรงบันดาลใจ และค้นหาตัวตนผ่านการออกเดินทางท่องเที่ยวด้วย
ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการตาม Value Chain รวมถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. จึงร่วมกับ วีซ่า จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศในปีท่องเที่ยวไทย 2566 ระยะเวลา 1 ปี ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness) ในกลุ่มตลาดระยะใกล้
โดยมีกรอบความร่วมมือ 4 หัวข้อ ประกอบด้วย
1. CO-Event จัดงานและพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวร่วมกันผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ Amazing Thailand Grand Sale (ATGS) เพื่อส่งเสริมการชอปปิงและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย และยังส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 5 ของเมืองท่องเที่ยวด้านการชอปปิง และ Health & Wellness Tourism ในช่วงเดือนมีนาคม-กันยายน 2566
2. CO-Communication ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวควบคู่กับ Soft Power (5F) เพื่อสร้างความรับรู้เจาะกลุ่มเป้าหมายให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย
3. CO-Increase Number of Tourist กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดศักยภาพที่มีอัตราฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศระยะใกล้ อาทิ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร OTA และสายการบิน
4. Value Added by VISA เพิ่มโอกาสทางการตลาดเแก่ผู้ประกอบการในโครงการฯ และเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ถือครองบัตร VISA เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
นางแดเนียล จิน หัวหน้าฝ่ายการตลาด วีซ่า ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ปีนี้เราได้เห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่กลับมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น และจากพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีที่เราได้ร่วมสร้างตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เราตื่นเต้นที่จะได้สนับสนุน ททท. ในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมด้านข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกของวีซ่าในการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปข้างหน้า และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว”
ทั้งนี้ จากรายงานด้านธุรกิจและเศรษฐกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วโลกของวีซ่าชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 กรุงเทพมหานคร เป็นจุดหมายปลายทางหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายที่ร้านค้าและร้านอาหารฟื้นตัวขึ้นจากปี 2562 มากขึ้นถึง 113% และ 74% ตามลำดับ ถือเป็นแนวโน้มและสัญญาณที่ดีในการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านความร่วมมือนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี 2566 ต่อไป