ผ่าแนวรบ ‘โอสถสภา’ เติมพอร์ตชูกำลัง 10 บาท เร่งโต "ชาร์ค-เปปทีน-คาลพิส'

ผ่าแนวรบ ‘โอสถสภา’ เติมพอร์ตชูกำลัง 10 บาท เร่งโต "ชาร์ค-เปปทีน-คาลพิส'

ตามแผนงานปี 2566 "โอสถสภา” องค์กรสินค้าอุปโภคบริโภคอายุกว่า “ร้อยปี” และเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลัง ไม่เพียงต้องการสร้างยอดขายและ “กำไร” ให้เติบโต 2 หลัก แต่ต้องทวงส่วนแบ่งทางการตลาด “เอ็ม-150” กลับมา 2% ด้วย หลังขึ้นราคาจาก 10 บาทเป็น 12 บาท ทำให้สั่นคลอนการเติบโต

สถานการณ์ไตรมาสแรกของบริษัทแม้ภาพรวมธุรกิจจะมีการฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2565 ถือว่าค้าขายยังไม่เชิดหัวขึ้น 100%

พรธิดา บุญสา ประธานฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) หรือ OSP ฉายภาพผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทสร้างรายได้จากการขาย 6,545 ล้านบาท ลดลง 12.4% เทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 778 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ ยอดขายโดยรวมเติบโตเกือบทุกกลุ่มสินค้า เว้นหมวดเครื่องดื่มในประเทศที่ “หดตัว” โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลังลดลง 19.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลลดลง 41% เป็นต้น

เมื่อดูสถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท เติบโต 13.9% โดยโอสถสภา ยังมีส่วนแบ่งตลาดรวมทั้งพอร์ตโฟลิโอ 46.6% ลดลง 0.7% เทียบไตรมาสก่อน ส่วนเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลมูลค่าตลาด 8,200 ล้านบาท “หดตัว” 12% โอสถสภามีส่วนแบ่งตลาด 40.4% ตลาดสบู่เหลวมูลค่า 1,400 ล้านบาท เติบโต 7.2% โอสถสภามีส่วนแบ่งตลาด 35.2% ลดลง 0.1% และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายมูลค่า 2,100 ล้านบาท เติบโต 20.2% ส่วนแบ่งการตลาด 10.6% เพิ่มขึ้น 0.4%

ผ่าแนวรบ ‘โอสถสภา’ เติมพอร์ตชูกำลัง 10 บาท เร่งโต \"ชาร์ค-เปปทีน-คาลพิส\' “เครื่องดื่มชูกำลังของโอสถสภายังหดตัว เทียบกับปีก่อน เพราะยังไม่มีการปรับสู่เซ็กเมนต์พรีเมียม(ขึ้นราคาเอ็ม-150 เป็น 12 บาท จาก 10 บาทต่อขวด) ส่วนภาพรวมตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลที่ลดลง หลักๆมาจากแคทิกอรีวิตามินซี เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลด้านสุขภาพ แต่ ซี-วิท ยังคงเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 66.8% จากเดิมอยู่ที่ 65.7% ที่สำคัญยังทิ้งห่างจากเบอร์ 2 ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 7.9%”

ส่วนครึ่งปีหลัง ภารกิจสำคัญคือการสานเป้าหมายยอดขายและกำไรให้โต 2 หลัก กลยุทธ์การทำตลาดจึงมุ่งหาโอกาสเติบโตจากเครื่องดื่มกลุ่มใหม่ๆ อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อสินค้าพรีเมียมราคา 12-15 บาทต่อขวด มีสัดส่วนมากขึ้นเป็น 46.7% จากเดิม 17.3% และสินค้าแมสราคา 10 บาทต่อขวด สัดส่วน53.3% บริษัทต้องเสิร์ฟสินค้า 2 กลุ่ม ให้ครองตลาด ซึ่ง “เอ็ม-150” ออริจินัล ครองตลาดพรีเมียม 1 ด้วยสัดส่วน 80% แล้ว ต่อไปต้องเติมพอร์ตสินค้า 10 บาท ที่ยังมีสัดส่วนตลาดน้อยเพียง 20% เท่านั้น

“เราต้องการเล่นทั้ง 2 จะสร้างแบรนด์พอร์ตโฟลิโอ 10 บาทมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญต้องดูภาพรวมแบรนด์เอ็ม-150 ต้องเติบโตด้วย

นอกจากนี้ บริษัทจะสร้างสรรค์สินค้าใหม่เคลื่อนตลาดเครื่องดื่มในประเทศให้เติบโต เอ็ม-150 มีการเตรียมเปิดตัว 5 พรีเซ็นเตอร์ใหม่ และกิจกรรมต่างๆทั้งหมดภายในเดือนพ.ค.นี้ ส่วนกลุ่มฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์ ช่องทางร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไปมีการขยายตัว ขานรับการเปิดเมือง นักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้วางแผนโฟกัส 3 แบรนด์เรือธง ทั้ง เปปทีน คาลพิส แลคโตะ และชาร์ค เจาะตลาดพรีเมียมต่อเนื่อง

ผ่าแนวรบ ‘โอสถสภา’ เติมพอร์ตชูกำลัง 10 บาท เร่งโต \"ชาร์ค-เปปทีน-คาลพิส\' อย่างชาร์ค มีขยายไลน์สู่เครื่องดื่มน้ำอัดลม ภายใต้ “ชาร์ค อุเมะ โซดา” น้ำตาล 0% นอกจากตอบโจทย์ความสดชื่นแล้ว ยังผสมกับเครื่องดื่มต่างๆหรือเป็นมิกเซอร์ได้ด้วย ส่วน “คาลพิส แลคโตะ” ผนึกกับร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” สร้างสรรค์เครื่องดื่มเมนูใหม่ทำตลาดรับซัมเมอร์ เม.ย.-พ.ค.นี้ และคาลพิส แลคโตะ ยังมีรสชาติใหม่ เอาใจคอนซูเมอร์ เป็นต้น ขณะที่ซี-วิท ทำตลาดชิงส่วนแบ่งเพิ่มได้อย่างดี

อีกกลยุทธ์การเติบโต คือการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) ซึ่งบริษัทศึกษาหาโอกาสจากหลายดีล

ด้านแนวโน้มไตรมาส 2 ตลอดจนครึ่งปีหลัง คาดหวังสถานการณ์ดีขึ้น จากปัจจัยบวก ทั้งซัมเมอร์ ทำให้ตลาดเครื่องดื่มเติบโต การเลือกตั้ง เศรษฐกิจฟื้นตัว กระตุ้นการใช้จ่าย แม้ที่น่าห่วงคือภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เงินในกระเป๋าผู้บริโภคเท่าเดิม อาจกระทบตลาดก็ตาม นอกจากนี้ทิศทางต้นทุนการผลิตเริ่มอ่อนตัวจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ส่งผลดีต่อธุรกิจ