ลุ้น 'จีนเที่ยวไทย' พุ่งแรงครึ่งปีหลัง ททท. นัดถก กต. เร่งแก้ปัญหาออกวีซ่า

ลุ้น 'จีนเที่ยวไทย' พุ่งแรงครึ่งปีหลัง  ททท. นัดถก กต. เร่งแก้ปัญหาออกวีซ่า

ตลาด 'จีนเที่ยวไทย' ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ขยับแรงครึ่งปีหลัง 'ททท.' ชี้แนวโน้ม พ.ค. ยอดแตะล้าน แอร์ไลน์ขอบินช่วงซัมเมอร์จากจีนเข้าไทยกว่า 6 ล้านที่นั่ง ดันทัวริสต์จีนทะลุเป้า 5.3 ล้านคน สร้างรายได้ 4.46 แสนล้าน เตรียมหารือ 'กต.' สัปดาห์หน้า เร่งแก้ปัญหาออกวีซ่า

Key Points:

  • ตลาด "จีนเที่ยวไทย" คือความหวังฟื้นเศรษฐกิจ ติดสปีดครึ่งปีหลัง “ททท.” ชี้แนวโน้ม พ.ค.ยอดมาเยือนแตะล้าน
  • สายการบินขอทำการบินช่วงตารางบินฤดูร้อน (Summer Slot) จากจีนเข้าไทยกว่า 6 ล้านที่นั่ง
  • มั่นใจทัวริสต์จีนทะลุเป้าหมาย 5.3 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4.46 แสนล้านบาท โกลเด้นวีค "วันชาติจีน" เดือน ต.ค. โกย 1 ล้านคนต่อเดือนเท่าก่อนโควิด
  • "ททท." เตรียมหารือ "กต." สัปดาห์หน้า เร่งแก้ปัญหาออกวีซ่าไม่เพียงพอดีมานด์ พร้อมเตรียมขน KOL ชาวจีน 90 รายมาไทย ร่วมงานแถลงข่าวตอกย้ำ "เที่ยวไทยปลอดภัย" ฟื้นเชื่อมั่นจากกระแสเชิงลบในโซเชียลมีเดีย

 

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนได้กลายเป็นตลาดความหวัง ผลักดันให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตลอดปี 2566 ไปถึงเป้าหมาย 25-30 ล้านคน

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยจำนวนสะสม 843,920 คน คิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสม 8,596,452 คน และเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 273,567 คนตลอดปี 2565

นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยทะลุ 1 ล้านคนแน่นอน ททท.มั่นใจด้วยว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นไปตามเป้าหมาย จำนวน 5.3 ล้านคน สร้างรายได้ 4.46 แสนล้านบาท และถ้ามีปัจจัยบวกมาเสริม มีโอกาสได้ถึง 7 ล้านคน

หลังทางการจีนอนุญาตให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวจีนออกเที่ยวนอกประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่ทางการจีนอนุญาต ทำให้ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 10,000-12,000 คนต่อวัน เทียบกับช่วงก่อนหน้าประมาณ 2,500 คนต่อวัน เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ 15,000 คนต่อวัน เฉพาะช่วงหยุดยาววันแรงงาน 18,000-20,000 คนต่อวัน

 

++ ‘จีนเที่ยวไทย’ เร่งสปีดครึ่งปีหลัง

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เข้าสู่ไฮซีซันของตลาดนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากปลายเดือน มิ.ย.-ส.ค. ตรงกับช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน นิยมเดินทางกันทั้งครอบครัว ส่วนในเดือน ก.ย. เป็นช่วงที่องค์กรใหญ่ในจีนจะส่งชาวจีนเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) จำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากทางตอนใต้ เช่น กว่างโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงหยุดยาววันชาติจีน (1 ต.ค.) ซึ่ง ททท.คาดหวังเห็นนักท่องเที่ยวจีนเดือนละ 1 ล้านคนตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป ประเมินจากปริมาณที่นั่งโดยสารของเที่ยวบินประจำ 6 แสนที่นั่งในเดือนดังกล่าว และจะมีปริมาณที่นั่งจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) มาเสริม ทำให้ยอดรวมน่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 11,153,026 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน

 

++ แอร์ไลน์ขอบินเข้าไทยช่วงซัมเมอร์กว่า 6 ล้านที่นั่ง

เฉพาะช่วงตารางบินฤดูร้อน 2566 ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ถึงปลายเดือน ต.ค. พบว่ามีสายการบินขอทำการบินจากจีนเข้าสู่ไทย จำนวน 33,843 เที่ยวบิน คิดเป็นปริมาณที่นั่งโดยสารทั้งหมด 6,129,320 ที่นั่ง ซึ่งยังไม่รวมเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่จะทำการบินเข้าไทยจำนวนมากในเดือน ก.ค.-ส.ค. รวมถึงช่วงหยุดยาววันชาติจีนในเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฝั่งซัพพลายทั้งในไทยและจีนด้วย เช่น ความสามารถในการรองรับภาคพื้นดิน (Ground Handling) ของสนามบิน ซึ่งปัจจุบันรองรับได้เฉลี่ย 50% ถือว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มช่วงตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. ถึงปลายเดือน มี.ค. จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญในการผลักดันนักท่องเที่ยวจีนให้ไปถึงเป้า โดย ททท. คาดว่าในปลายปีนี้จะมีปริมาณเที่ยวบินเส้นทางไทย-จีน จะฟื้นตัวกลับมา 100%

 

++ ถก กต. แก้ข้อจำกัดออกวีซ่าทัวริสต์จีน

ด้านปัญหาสำคัญในตอนนี้ตามที่บริษัททัวร์ร้องเรียนมา คือข้อจำกัดในการออกวีซ่าของสถานทูตและกงสุลไทยในประเทศจีน ที่สามารถออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนผ่านบริษัททัวร์ได้ 84,000 คนต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอกับดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เตรียมนัดหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้

“ทาง กต. อยู่ระหว่างปรับจูนแก้ไขปัญหานี้ คาดว่าจะเห็นการขยายการขอวีซ่าผ่านบริษัททัวร์ เพิ่มจาก 84,000 คนต่อเดือน”

สำหรับช่องทางการขอวีซ่าเข้าไทย มี 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.สถานทูตและกงสุลไทยในประเทศจีน 8 แห่ง มีค่าธรรมเนียมขอวีซ่าอยู่ที่ 240 หยวนต่อครั้ง (ราว 1,200 บาท) โดยได้ให้บริการผ่านระบบ E-Visa ด้วย ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องของ กต. เช่น ในจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากเกินพันล้านคน และ 2.การขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่สนามบินนานาชาติ ค่าธรรมเนียมขอวีซ่าอยู่ที่ 2,000 บาทต่อครั้ง

         

++ ดึง KOL จีน 90 ราย ร่วมงานแถลงตอกย้ำเที่ยวไทยปลอดภัย

ด้านปัญหาความปลอดภัยและการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย โดยประเด็นความปลอดภัยที่แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนก่อนหน้านี้ ทาง ททท.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว แต่อยากให้แยกแยะด้วยว่าบางเหตุการณ์เป็นการก่อเหตุของชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในไทย

อย่างไรก็ตาม ททท.ได้วิเคราะห์ความรู้สึกและความคิดเห็น (Sentiment) ของนักท่องเที่ยวจีนหลังเกิดข่าวเชิงลบด้านความปลอดภัย พบว่าไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี เหมือนแฟนพันธุ์แท้ เช่น จากพื้นที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว ส่วนนักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองระดับ 3 และ 4 ในตอนกลางและตอนบนของจีน จะส่งผลกระทบในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทยแต่สนใจอยากมา เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ

“ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ททท.จะนำกลุ่มผู้นำทางความคิด หรือ KOL จากจีนกว่า 90 ราย มาร่วมงานแถลงข่าวตอกย้ำความปลอดภัยของภาคท่องเที่ยวไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม”

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งประเด็นที่นักท่องเที่ยวจีนบ่นเข้ามามากที่สุด คือปัญหาแท็กซี่ในไทยไม่กดมิเตอร์ ต่อรองให้นักท่องเที่ยวจ่ายในราคาเหมา บางรายประสบปัญหาถูกแท็กซี่ทิ้งกลางทางก็มี

 

++ ยันไม่เห็นสัญญาณ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ชัดเจนนัก

นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ พบว่าตั้งแต่จีนเปิดประเทศมา ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนมากนัก ในความเห็นส่วนตัวมองว่าเป็นวิธีการทำตลาดรูปแบบหนึ่งของบริษัททัวร์ ไม่ว่าจะพานักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปประเทศไหน เอเชียหรือยุโรปก็ตาม จะมีแพ็กเกจทัวร์ให้นักท่องเที่ยวเลือก 2 แบบ ถ้าเลือกแบบมีชอปปิง ต้องทำตามเงื่อนไข ว่าจะต้องชอปปิงในอัตราเท่าไรต่อวัน แต่ถ้าเลือกแบบไม่มีชอปปิง ราคาแพ็กเกจทัวร์ก็จะสูงขึ้น สามารถเที่ยวได้เต็มที่

สำหรับราคาแพ็คเกจทัวร์เฉลี่ยปัจจุบันในยุคหลังโควิด-19 ขึ้นกับแต่ละเมืองในจีน หากเดินทางระยะใกล้จากตอนใต้ เช่น กว่างโจว คุนหมิง และเฉิงตู ราคาเฉลี่ยรวมตั๋วเครื่องบินแล้วอยู่ที่ 5,000 หยวนต่อแพ็กเกจ แต่ถ้าเดินทางระยะไกลขึ้น เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ราคาเฉลี่ยฯ อยู่ที่ 6,000-7,000 หยวนขึ้นไปต่อแพ็กเกจ

 

++ ‘จีน’ แฟนพันธุ์แท้เที่ยวไทย ดึงนั่งรถไฟ ‘สายมูอีสาน’

ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย ปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) 50% และกรุ๊ปทัวร์อีก 50% โดยพฤติกรรมของแต่ละตลาดเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์จากเดิมเคยเดินทางกัน 50-60 คนต่อกรุ๊ป แต่ปัจจุบันเล็กลง เหลือ 8-12 คนต่อกรุ๊ป ขณะที่กลุ่ม FIT เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง เที่ยวแบบส่วนตัว นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เจน Z และนักธุรกิจ

ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจีน พบว่าสูงขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มจากปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 51,415 บาท/คน/ทริป ระยะพำนักอยู่ที่ 5.32 วัน

“นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นแฟนพันธุ์แท้และกลุ่มนักธุรกิจ ชื่นชอบประเทศไทย อาหารไทย สนใจตามรอยละครไทย โดยเฉพาะซีรีส์วาย เมื่อมาถึงก็ต้องเที่ยวทะเล กินทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง มังคุด กินอาหารทะเล แต่งชุดนักเรียน แต่งชุดไทยไปถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น วัดวาอาราม และชอปปิง นอกจากนี้กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจจีนยังชอบเรื่องความเชื่อ สายมูที่ต้องมีเรื่องบนบานเพื่อหาที่พึ่งทางใจ ซึ่งเมืองไทยมีสินค้าสายมูจำนวนมาก มีเกือบทุกพื้นที่ รวมถึงภาคอีสานตอนบนที่ ททท.กำลังโปรโมตดึงชาวจีนกลุ่มเดินทางมาด้วยรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว เชื่อมต่อเข้าหนองคาย”