อย่าติดกับดัก 5 ‘Passive Income’ ทำแล้วเสียเวลา เงินน้อย ไม่คุ้มเหนื่อย

อย่าติดกับดัก 5 ‘Passive Income’ ทำแล้วเสียเวลา เงินน้อย ไม่คุ้มเหนื่อย

อยากหา “รายได้” แบบ “Passive Income” ระวังติดกับดักบางช่องทางที่ดูเหมือนจะรายได้ดี แต่กลับได้เงินน้อย เสียเวลา และไม่คุ้มเหนื่อย!

Key Points: 

  • ชาวออฟฟิศหลายคนอยากเกษียณตัวเองเร็วกว่าเกณฑ์ โดยหนึ่งวิธีเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณคือ การวางแผนทางการเงิน หารายได้เสริมในรูปแบบ Passive Income
  • Passive Income คือ การหารายได้จากการลงแรงทำงานไปในตอนแรก แต่ยังคงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ได้ทำงานนั้นแล้วก็ตาม เช่น การปล่อยเช่าห้องพัก, การซื้อหุ้นที่จ่ายปันผล, เขียนหนังสือออนไลน์, ขายภาพถ่ายผ่านออนไลน์ ฯลฯ 
  • อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการหารายได้แบบ Passive Income ทุกช่องทางจะให้รายได้ที่คุ้มค่า เพราะบางช่องทางต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ บางช่องทางกินเวลาในชีวิตประจำวันจนมากเกินไป ไม่คุ้มเหนื่อย

เชื่อว่ามนุษย์ออฟฟิศหลายคนมีความฝันอยากเกษียณตัวเองให้เร็วกว่าเกณฑ์ปกติ บางคนอยากเกษียณตั้งแต่อายุ 45-50 ปี (เกณฑ์ทั่วไปอยู่ที่ 55-60 ปี) แต่การจะทำความฝันนั้นให้เป็นจริงได้ ต้องรู้จักบริหารจัดการ “การเงินส่วนบุคคล” ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการใช้เงิน, วางแผนเก็บออมเงิน, วางแผนภาษี, หาช่องทางเพิ่มรายได้ ฯลฯ 

โดยเฉพาะ “ช่องทางการหารายได้เพิ่ม” น่าจะเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของคนที่อยากเก็บออมเงินได้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อหวังผลในการเกษียณเร็ว ซึ่งช่องทางที่หลายคนสนใจคงหนีไม่พ้นรูปแบบ Passive Income ที่ไม่ต้องเหนื่อยทำงานตลอดเวลาแต่ก็มีเงินเข้าบัญชีไม่ขาด และสามารถทำควบคู่กับงานประจำได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • Active Income และ Passive Income ต่างกันยังไง?

ก่อนอื่นมาย้อนทบทวนความรู้คำว่า Active Income และ Passive Income กันหน่อย หากกล่าวถึงนิยามคร่าวๆ คำว่า Passive Income หมายถึง การหารายได้รูปแบบหนึ่งที่มาจากการลงแรงทำงานไปในตอนแรก แต่ยังคงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ได้ทำงานนั้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ Passive Income ก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนตั้งต้น หรือยอมเสียหยาดเหงื่อก่อนในตอนแรก

ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์, การซื้อหุ้นที่จ่ายปันผล, การลงทุนในกองทุนระยะยาว, การปล่อยเช่ายานพาหนะ, การขายคอร์สออนไลน์, เขียนหนังสืออนไลน์/นิยายออนไลน์ (E-Book), ขายภาพถ่ายผ่านออนไลน์, ให้เช่าพื้นที่โฆษณาหลังรถสามล้อ, ให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายภาพ ฯลฯ 

อย่าติดกับดัก 5 ‘Passive Income’ ทำแล้วเสียเวลา เงินน้อย ไม่คุ้มเหนื่อย

ตรงกันข้ามกับ Active Income ซึ่งหมายถึง การหารายได้ที่เราต้องใส่แรงกายเข้าไปเพื่อให้ได้รายได้นั้นมา พูดง่ายๆ ว่าเป็นการทำงานแลกเงินหรือการประกอบอาชีพทั่วไป ซึ่งต้องทำงานแลกไปเสมอก่อนจะได้เงินมาในรูปแบบของ ค่าจ้าง เงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น ค่าทิป เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น การรับจ้างต่างๆ , การขายสินค้าและบริการ, รายได้จากเงินเดือนที่เราทำงานที่บริษัท, งานที่ปรึกษาคิดค่าบริการรายชั่วโมง, รับงานเขียนแบบฟรีแลนซ์, รับจ้างถ่ายรูปและคิดค่าคอมมิชชั่น, ขับรถสามล้อรับส่งผู้โดยสาร ฯลฯ 

ดังนั้น วัยทำงานส่วนใหญ่จึงมักมองหาช่องทางแบบ “Passive Income” มาช่วยสร้างรายได้เสริม ควบคู่ไปกับอาชีพหลัก หรือบางคนที่ไม่อยากทำงานประจำ ก็หันมาหารายได้ในรูปแบบนี้ไม่น้อยเช่นกัน บางคนอาจมองหาช่องทางทำเงินผ่านโลกออนไลน์เพราะต้นทุนต่ำ ในขณะที่บางคนพบว่าการหาเงินจากช่องทางนี้ทำให้มีรายได้ดีกว่างานประจำด้วยซ้ำ

 

  • 5 ช่องทาง Passive Income ที่อาจไม่คุ้มเหนื่อย ได้เงินน้อยกว่าที่คิด

แต่เดี๋ยวก่อน! ใช่ว่าช่องทางหารายได้แบบ Passive Income จะได้เงินดีเสมอไป ล่าสุด.. มีรายงานจาก Business Insider ระบุถึงช่องทางการหารายได้แบบ Passive Income บางช่องทางที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน บางคนที่มีความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง อาจจะทำรายได้ได้ดี แต่สำหรับบางคนที่เป็นมือใหม่ อาจจะทำแล้วไม่คุ้มเหนื่อย 

ย้ำอีกที! ไม่ได้เหมารวมว่าทุกคนทำแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแต่ละบุคคล ซึ่งในที่นี้ Jen Glantz อดีตพนักงานบริษัทที่เคยทำงานประจำแต่ถูกเลิกจ้าง เธอจึงผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการอิสระ และพยายามหางานที่สร้างรายได้แบบ Passive Income มาลองทำหลากหลายช่องทาง จนค้นพบว่า บางช่องทางเธอเห็นว่าไม่คุ้มเหนื่อยสำหรับเธอ ได้แก่ 

1. ขายสินค้าออนไลน์ที่ออกแบบเอง (การ์ด เกมการ์ด รูปวาด)

หลายคนอาจเคยเห็นโฆษณาคอร์สสอนออนไลน์เกี่ยวกับการออกแบบสมุดภาพ การ์ดวาดมือ เกมการ์ด ฯลฯ แล้วนำมาขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) หรือผ่านโซเชียลมีเดียเฉพาะกลุ่ม โดยในเคสของ Jen Glantz ก็ได้ลองทำสินค้าประเภทนี้ขายบนออนไลน์เช่นกัน โดยทำเป็น "การ์ดเกมสำหรับคู่บ่าวสาว" โดยใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง ในการออกแบบการ์ดฟรีผ่านแพลตฟอร์ม Canva แล้วนำมาขายบนเว็บไซต์สำหรับขายสินค้า 

โดยรวมเธอลงทุนประมาณ 1,000 ดอลลาร์ในการผลิตสินค้า 75 ชิ้น และวางแผนขายในราคาตัวละ 18 ดอลลาร์ โดยโพสต์ขายสินค้านี้ใน "กลุ่มเกมการ์ด" บนโซเชียลมีเดีย และผ่านทางเว็บไซต์ไปเรื่อยๆ สัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง เบื้องต้นคาดว่าจะขายหมดภายในไม่กี่เดือน แต่ในความเป็นจริงพบว่า สินค้าแนวนี้ขายออกยากมาก และในช่วง 2-3 เดือนแรก เธอขายสินค้าในคลังได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แม้เพิ่มเวลาขายนานขึ้นเป็น 5-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสรุปคือใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะขายของในสต็อกได้หมด

2. การลงทุนในหุ้นรายตัว (Individual Stocks)

แม้ Jen Glantz จะมีการวางแผนทางการเงินของตนเองอย่างดี ทั้งการแบ่งเงินบางส่วนเข้าสู่กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ (SEP IRA), รวมถึงแบ่งเก็บออมไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและบัตรเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็ให้รายได้แบบ Passive Income ได้ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเห็นเพื่อนพูดถึงการลงทุนซื้อหุ้น และได้ผลตอบแทนสูง จึงลองซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรดูบ้าง โดยการสุ่มเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนเองสนใจ

ผลลัพธ์คือ แม้ช่วงแรกๆ เธอจะได้ผลตอบแทนที่ดี แต่พอหลายเดือนผ่านไป เธอก็ขาดทุนเนื่องจากไม่ได้ดูตลาดหุ้นตลอดเวลา ไม่ได้ขายหุ้นทันเวลา หรือหวังว่าราคาจะสูงขึ้นแต่รอไปรอมาราคาหุ้นกลับร่วงลง การลงทุนครั้งนี้เธอสูญเสียไปทั้งหมดเกือบ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการลงทุนกับหุ้นมีความเสี่ยงสูง และเธอยอมรับว่าตัวเองไม่ได้ศึกษาให้ดีพอ และไม่ได้เข้าใจมันอย่างถ่องแท้

อย่าติดกับดัก 5 ‘Passive Income’ ทำแล้วเสียเวลา เงินน้อย ไม่คุ้มเหนื่อย

3. การขายสินค้า "รีเซล" จำพวกบัตรคอนเสิร์ต

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เธอและเพื่อนได้ลองหาสินค้ามาขายใน "ตลาดรีเซล" เพื่อทำกำไรให้มากขึ้น โดยหนึ่งในสินค้าที่ขายได้ดีในตลาดรีเซลก็คือ "บัตรคอนเสิร์ต" โดยเธอได้ลองพยายามเลือกคอนเสิร์ตที่คาดว่าน่าจะมีคนสนใจไปดูกันมาก แล้วรอเข้าระบบกดซื้อตั๋วทันทีที่ออกจำหน่าย โดยซื้อในราคาจริงตามหน้าบัตร จากนั้นก็นำไปโพสต์ลงขายใหม่ในเว็บไซต์ขายต่อเช่น StubHub และ SeatGeek ในราคาแพงจากเดิม 2 เท่า

ผลลัพธ์คือ เธอต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ขายต่อ เพื่อเช็กราคาตลาดล่าสุด และสามารถแข่งขันกับราคาบัตรคอนเสิร์ตของแม่ค้าคนอื่นๆ ได้ โดยประมาณ 50% ของเวลา ที่เสียไป เธอมองว่ามันไม่คุ้มทุนเลย และในบางครั้งก็ขาดทุนฟรีๆ จากการขายตั๋วไม่ได้ แถมยังเพิ่มความเครียด ถือว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงเช่นกัน และไม่ใช่วิธีสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

4. แปะแบนเนอร์โฆษณาตามเว็บไซต์และบล็อก

Jen Glantz ได้ทำบล็อกส่วนตัวบนออนไลน์มาหลายปีแล้ว แต่ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เธอได้ตัดสินใจลองทำโฆษณาบนบล็อกผ่านบัญชี Google Adsense ซึ่งช่วยให้แสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ ได้ และเมื่อมีคนคลิกชมโฆษณานั้นๆ ก็จะได้รับรายได้ตามจำนวนการคลิกชมโฆษณาของผู้ใช้งานบนเว็บ (แต่ต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ของ Google)

รายได้ที่ได้จากงานลักษณะนี้จะได้มากได้น้อยแตกต่างกันไปตามจำนวนการคลิก และการเข้าชมของผู้ใช้งานบนหน้าเว็บ (คนที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์บนเว็บนั้นๆ) แต่เนื่องจากผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ของ Jen Glantz มีจำนวนน้อยกว่า 1,000 ครั้งต่อเดือน จึงทำให้เธอมีรายได้เพียงไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐจากการแปะโฆษณาเหล่านั้น ซึ่งเธอมองว่ามันไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

5. รับเงินสดผ่านโบนัสบัตรเครดิต

ย้อนกลับไปช่วงที่เธอถูกเลิกจ้างใหม่ๆ เธอเล่าว่าได้พยายามหาเงินสดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้วิธี "รับเงินสดผ่านโบนัสบัตรเครดิต" นี่เป็นหนึ่งในความคิดที่แย่ที่สุด เนื่องจากการจะได้มาซึ่งโบนัสจำนวนมากๆ จากบัตรเครดิตนั้น เธอต้องสมัครบัตรเครดิตหลายใบ โดยแต่ละใบจะมีเงื่อนไขให้ใช้จ่ายตามเพดานกำหนดก่อน จึงจะได้รับคะแนนสะสมสูงๆ หลังจากนั้นก็นำคะแนนดังกล่าวไปแลกเป็นเงินสดได้

ผลลัพธ์คือ เธอต้องยอมจ่ายเงินก้อนส่วนหนึ่งผ่านบัตรเครดิต เพื่อเอาคะแนนสะสมโบนัส แต่พอเอาคะแนนไปแลกก็ได้เงินมาแค่ไม่กี่ร้อยดอลลาร์ต่อบัตรเครดิตหนึ่งใบ อีกทั้งเธอกลับมีหนี้สินจากบัตรเครดิตหลายใบ และต้องตามจ่ายคืนให้หมดอีก แม้จะได้เงินฟรีไปในตอนแรกแต่หากหับลบกันแล้วก็ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อคะแนนเครดิตของฉันด้วย 

อย่างไรก็ตาม 5 ช่องทางการหารายได้แบบ Passive Income ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น แต่ในบริบทของคนไทยอาจจะมีความแตกต่างออกไป แต่อย่างน้อยก็จะได้รู้เท่าทันว่า บางช่องทางการหารายได้เสริมก็อาจจะไม่เหมาะกับเราเสมอไป

-------------------------------------

อ้างอิง : BusinessInsiderFinnomena