อีเวนต์คัมแบ็ค! 'เลือกตั้งใหญ่' หนุนเม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 30%

อีเวนต์คัมแบ็ค!  'เลือกตั้งใหญ่'  หนุนเม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 30%

เอกชนชี้เทรนด์ธุรกิจ “อีเวนต์” 1.5 หมื่นล้านคัมแบ็คเทียบเท่าก่อนวิกฤติโควิด อานิสงส์เลือกตั้งใหญ่ หนุนเงินสะพัด 20-30% เสริมแกร่งไลฟ์สไตล์อีเวนต์ คอนเสิร์ต แฟนมีทศิลปิน มิวสิค เฟสติวัล แห่จัดงานทั่วประเทศ

นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) เปิดเผยว่า ธุรกิจอีเวนต์ไตรมาสแรก เข้าสู่ไตรมาส 2 บรรยากาศกลับมาคึกคักอย่างมาก ทั้งกิจกรรมจากภาครัฐ และเอกชน ที่ระดมกลับมาจัดงาน ยิ่งสงกรานต์ตลอด 3-4 วัน มีงานมากมายทั่วประเทศ และคนมหาศาลตื่นตัวเข้าร่วมสนุกหลังอัดอั้นมานาน

สำหรับ แนวโน้มอีเวนต์ปี 2566 คาดการณ์มูลค่าตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด หรือเม็ดเงินสะพัด 14,000-15,000 ล้านบาท แต่การเติบโตจะเพิ่มขึ้นอีก 20-30% จากตัวแปรใหญ่ 2 ประการ ได้แก่

1.อีเวนต์ประเภทไลฟ์สไตล์ บันเทิง ทั้งคอนเสิร์ต งานแฟนมีทหรือพบปะศิลปินคนโปรด และมิวสิค เฟสติวัล มีการจัดจำนวนมาก หากดูการจำหน่ายบัตรผ่านเว็บไซต์ต่างๆ จะเห็นเกือบเว้นวัน

“อีเวนต์กลุ่มไลฟ์สไตล์ งานแฟนมีทศิลปิน อาจสเกลไม่ใหญ่ แต่จำนวนงานมาก เห็นจากการจำหน่ายตั๋วถี่ขึ้น”

2.การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นเดือน พ.ค. ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเดินทางหาเสียง จัดเวทีปราศรัยเล็กใหญ่ไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้ต้องมีการใช้ออกาไนเซอร์หรือผู้จัดงาน รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ แสง เสียงต่างๆหรือซัพพลายเออร์ ระดับท้องถิ่น อำเภอ สร้างความคึกคักอย่างมาก ซึ่งการปราศรัยหาเสียง ยังทำให้เกิดคอนเทนท์ เพื่อนำไปต่อยอดบนแพลตฟอร์มสื่ออื่นๆ เช่น ออนไลน์ เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

อีเวนต์คัมแบ็ค!  \'เลือกตั้งใหญ่\'  หนุนเม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 30%

“ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งใหญ่ แนวโน้มโพลบ่งชี้หลายพรรคจะได้คะแนนแลนด์สไลด์ ทำให้พรรคอันดับต้นๆ 1 2 3 ต้องใช้งบประมาณเต็มที่เพื่อจัดอีเวนท์หาเสียง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดคอนเทนท์ เพื่อนำไปต่อยอดสื่อข้ามแพลตฟอร์ม ตัวแปรนี้ทำให้อุตสาหกรรมอีเวนท์เติบโตเพิ่มหรือท็อปอัพได้”

ตลาดไมซ์คึกคักดันยอดจองพื้นที่โรงแรม

นอกจากนี้ ยังมีตลาดไมซ์ และการแต่งงาน ที่กลับมาจัดอย่างคึกคัก ออกาไนเซอร์รับงานเช้า บ่าย เย็น ยอดการจองพื้นที่ในโรงแรมค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการหรือดีมานด์การจัดอีเวนท์ฟื้นตัวคึกคักเร็วและเกินคาด ทำให้ซัพพลายหรือผู้จัดไม่เพียงพอ เนื่องจากช่วงโควิด-19 บาด ทำให้บริษัทหรือผู้เล่นรายเล็กถึงกลางปิดตัวลงจำนวนมาก อีกด้านยอมรับว่ามีผู้จัดหน้าใหม่เข้ามารุกตลาดเช่นกัน แต่ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจมีหลายประการ เช่น ความชำนาญ ศิลปินที่ดึงดูด บรรยากาศ ความสามารถในการขายตั๋ว การหาสปอนเซอร์ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต มิวสิค เฟสติวัล ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล มีต้นทุนสูง จ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้งาน จะต้องมีรายได้จากสปอนเซอร์ 70% จำหน่ายตั๋ว 30% เป็นต้น

“มีผู้ประกอบการมองการประมูลงานคอนเสิร์ต งานบันเทิง เทศกาลดนตรีระดับโลกมาจัดที่ไทย เพราะมองเห็นโอกาสในการจัดอีเวนท์และก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญการจัดงานจะรู้ว่าจุดไหนคือกำไร และขาดทุน ต้นทุนอยู่ตรงไหน หากขายตั๋วอย่างเดียวคงไม่คืนทุน ทำให้อาจเห็นภาพผู้เล่นเข้ามาแล้วเผชิญภาวะขาดทุนบ้าง 50% กำไรบ้าง 50%”

อีเวนต์คัมแบ็ค!  \'เลือกตั้งใหญ่\'  หนุนเม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 30%

โชว์บิส คอนเสิร์ต ขยายตัวสูง

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโชว์บิส คอนเสิร์ต มิวสิค เฟสติวัล ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก หากมองดูอัตราการชมคอนเสิร์ตหรือ Penetration rate ของคนไทยยังอยู่ระดับต่ำ ไม่ถึง 1 ล้านคนต่อปี จากประชาชนกว่า 70 ล้านคน และมีราว 50% ที่ต้องการรับชมคอนเสิร์ต

ปี 2566 เมื่อกิจกรรมต่างๆกลับมาจัดได้ คาดการณ์ตลาดคึกคัก โดยเฉพาะบรรยากาศสงกรานต์ที่ผ่านมามีทั้งงานฟรีที่เปิดให้คนร่วมสนุก และงานเสียเงินค่าบัตรผ่านเข้าชมได้ร่วมกิจกรรม ซึ่งบริษัทเองได้ส่งศิลปินไปร่วมเวทีต่างกว่า 200 งานทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดคอนเสิร์ต โชว์บิสกลับมา ทำให้เห็นภาพผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่วงการธุรกิจมากขึ้น เจาะทั้งคอนเสิร์ตไทย เกาหลี อินเตอร์เนชั่นแนล แต่คาดการณ์อาจมีผู้ประกอบการเจ็บตัว เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนได้

สำหรับแกรมมี่ ได้วางโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการขยายตัวของธุรกิจโชว์บิส เพื่อผลักดันรายได้ปี 2566 ที่ 898 ล้านบาท เติบโต 66% จากปีก่อนมีรายได้ 542 ล้านบาท

“อุตสาหกรรมปีนี้แข่งเดือด ผู้เล่นมากมายเข้ามาในตลาดจำนวนมากนับร้อยราย แต่ปีหน้าอาจเหลือผู้เล่นน้อยลงเกินครึ้ง เพราะเจ็บตัวขาดทุน เนื่องจากผู้บริโภคต้องเลือกจ่ายเงินในงานที่ตอบโจทย์ตนเอง”

อีเวนต์คัมแบ็ค!  \'เลือกตั้งใหญ่\'  หนุนเม็ดเงินสะพัดเพิ่ม 30%

อีเวนต์ฟื้นเดินหน้าผนึกพันธมิตรลุยกิจกรรม

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดอีเวนท์ฟื้นตัวกลับมาแล้ว ทำให้บริษัทต้องเดินหน้าเปิดช่องหาพันธมิตรในการจัดกิจกรรรมต่างๆ อย่างที่ผ่านมาคือการจัดงาน KILORUN 2023 PHUKET ที่ปกติเป็นการผสมผสานงานวิ่งกับการรับประทานของอร่อย ปีนี้ เหลือเพียงกิจกรรมทาน ทำให้เห็นบรรยากาศของผู้คนในเมืองท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว แต่ค่อนข้างช้ากว่าคาดการณ์

ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว ยังปูทางสู่การขยายงานอีเวนต์ KILORUN ไปสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น พัทยา อุดรธานี รวมถึงโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และอาจมีในกรุงเทพฯ เพื่อปลุกบรรยากาศอีเวนท์ ควบคู่การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ฟื้นต่อเนื่อง รวมถึงการโปรโมตร้านอาหารชื่อดังและอร่อยประจำท้องถิ่น ร้านที่ได้รับการแนะนำจากมิชลิน ให้นักท่องเที่ยวตามไปชิม ปลุกเศรษฐกิจมีความคึกคักขึ้น

นอกจากนี้ อินเด็กซ์ฯ ยังจัดงาน “เมืองโบราณ ไลท์ เฟส 2023” ฉลองครบ 60 ปี เมืองโบราณ สิ้นสุดลงวานนี้(17 เม.ย.) และงานใหญ่ในต่างประเทศอย่าง “Thailand Mega Fair & Festival 2023-The Kingdom of Saudi Arabia” ดึงทุนไทยไปหาโอกาสในซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น