โจทย์ 'ท่องเที่ยว' ท้าทายรัฐบาลใหม่ วางแผนแม่บทชัด เชื่อมไลฟ์สไตล์ทัวริสต์

โจทย์ 'ท่องเที่ยว' ท้าทายรัฐบาลใหม่ วางแผนแม่บทชัด เชื่อมไลฟ์สไตล์ทัวริสต์

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 2566 อีกไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น! ใกล้ได้เห็นโฉมหน้าของ 'รัฐบาลใหม่' ภาคเอกชนท่องเที่ยวต่างประสานเสียงว่า... เป็นไปได้ไหม? อยากเห็นรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญแก่ 'ภาคท่องเที่ยว' มากกว่าเดิม!

ในฐานะเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลังบอบช้ำจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งต้องรับมือกับปัจจัยลบและความท้าทายรอบด้าน หวังกอบกู้สัดส่วนรายได้รวมทางการท่องเที่ยวต่อจีดีพี จากเมื่อปี 2562 เคยทำได้ 18% สู่เป้าหมาย 25% ของจีดีพีในปี 2570

วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ให้มุมมองว่า “ภาคท่องเที่ยว” เป็น “หัวใจสำคัญ” ของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย รัฐบาลใหม่จึงควรให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยว ทั้งการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น เรื่องวีซ่า รวมถึงการเชื่อมโยงจากภาคท่องเที่ยวไปยังกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้ชีวิตในเมืองไทยและอยู่ยาวขึ้น

“รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมองถึงองค์รวมการใช้ชีวิตของชาวต่างชาติกลุ่มนี้ ทั้งเรื่องบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาจัดตั้ง กลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามา และกลุ่มที่จะเข้ามาอยู่ยาวมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวไปจนถึงการลงทุนในไทย เพราะไลฟ์สไตล์การเดินทางท่องเที่ยวตอนนี้ไม่เหมือนเดิม มันต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งคนที่อยากมาเที่ยว มาลงทุน และมาอยู่ยาว มาใช้ชีวิตแล้วสามารถเอ็นจอยไลฟ์สไตล์ในเมืองไทยได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีตัวเชื่อมที่มาตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้”

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักสร้างรายได้แก่ประเทศไทย จึงคาดหวังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ จะเห็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่อง “มาตรการควบคุมต้นทุน” เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มร้อยเหมือนปี 2562 รวมถึง “มาตรการกระตุ้นนักเดินทางต่างชาติ” ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า)

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยถูกจารึกบนแผนที่โลกในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก! “กรุงเทพฯ” มีชื่อเสียงเหมือนนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว จึงอยากให้ภาคท่องเที่ยวเป็น “วาระแห่งชาติ” ของทุกกระทรวง! เพราะภาคท่องเที่ยวสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ถึงระดับฐานราก มีศูนย์กลางการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ให้เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกันวางกลยุทธ์สอดรับการเติบโต โดยล่าสุดทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าว่าในปี 2570 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มเป็น 80 ล้านคน เท่าๆ กับในประเทศฝรั่งเศส หรือเติบโตเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน

“ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ดึงภาคการท่องเที่ยวมากำกับดูแลเอง และให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์สำคัญ สร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทย”

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า เชื่อว่าทุกรัฐบาล ไม่ว่าใครหรือพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้ง น่าจะให้ความสำคัญและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวมาเป็น “อันดับ 1” เพราะตอนนี้โมเมนตัมกำลังมา ภาคท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และจะครองตำแหน่ง “พระเอก” ในอีกหลายปีนับจากนี้!

“แน่นอนว่าเราอยากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และดำเนินนโยบายต่อเนื่อง จึงขอฝากรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับเรื่องเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การขยายสนามบินต่างๆ รวมถึงโครงการสนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะได้แค่เท่าเดิม แต่ถ้าขยายศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว จะสามารถสร้างการเติบโตแก่ภาคท่องเที่ยวได้ ตอนนี้หลายๆ อย่างอยู่ในแผนการพัฒนาแล้ว แค่ต้องผลักดันแผนเหล่านั้นให้เดินหน้าต่อ”

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณามาตรการและ กฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยดูแลและสร้างความคล่องตัวด้านธุรกิจ เช่น พิจารณาการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจ “สายการบิน” กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ให้ความเห็นเสริมว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่พิจารณาต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นสำหรับอากาศยานภายในประเทศ และพิจารณาเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ออกไปก่อน

ด้าน อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ฝากถึงรัฐบาลใหม่ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” ซึ่งจะมีที่มาของเงินจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ว่าจะมีการวางเป้าหมายอย่างไร ใครเข้าไปบริหาร บริหารอย่างไร ไม่ใช่ว่านำส่งเงินเข้ากองทุนฯแล้วถูกกองเอาไว้ตรงนั้น เอาออกมาใช้ไม่ได้ ถึงเวลาใช้ก็หยิบใช้ได้เพียงทีละเล็กน้อยสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น

“ถ้าขนาดกองทุนดังกล่าวมีมากเป็นหมื่นล้านบาท ต้องทำอะไรได้มากกว่านั้น ไม่ใช่ติดเงื่อนไขการใช้เงินแบบเดิมของระบบราชการ จึงอยากให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวได้เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนกองทุนนี้”

อีกประเด็นสำคัญคือ “การแก้ไขกฎหมายล้าสมัย” เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยว ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายนี้ แต่ที่ภาคเอกชนอยากเห็นคือ “กรอบเวลา” (Time Frame) ว่าในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะแก้กฎหมายตัวไหนก่อน และใช้เวลาแก้นานเท่าไร

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งสร้าง “ฉากทัศน์” (Scenario) รองรับ “การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว” เนื่องจากประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อปีไว้ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ระดับปีละ 40 ล้านคน ไปจนถึงปีละ 80 ล้านคนตามเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวฯภายในปี 2570 ว่านักท่องเที่ยวจะกระจายไปตามเมืองไหนบ้าง ระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจะได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับดีมานด์อย่างไร

นำไปสู่การวาง “มาสเตอร์แพลน” อย่างรอบด้านของภาคท่องเที่ยวไทย!

โจทย์ \'ท่องเที่ยว\' ท้าทายรัฐบาลใหม่ วางแผนแม่บทชัด เชื่อมไลฟ์สไตล์ทัวริสต์