พิษฝุ่นทุบ 'สงกรานต์' ภาคเหนือซึม อัตราเข้าพักโรงแรม 60% ต่ำสุดในไทย!

พิษฝุ่นทุบ 'สงกรานต์' ภาคเหนือซึม อัตราเข้าพักโรงแรม 60% ต่ำสุดในไทย!

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงสภาพอากาศร้อนจัด อาจส่งผลต่อการวางแผนท่องเที่ยวและทำกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ของคนไทยบางส่วน ทั้งในรูปแบบการเปลี่ยนจุดหมายไปยังพื้นที่อื่นแทน หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

Key Points:

  • ปัญหาใหญ่ระดับชาติ PM 2.5 ทุบมู้ดเที่ยวสงกรานต์ภาคเหนือซึม “ททท.” เผยโรงแรมภาคเหนือกระอักพิษฝุ่น คาดมีอัตราเข้าพัก 60% ต่ำสุดในไทย
  • “AWC” ชี้หมอกควันเกิดระยะสั้น แต่กระทบหนัก นักท่องเที่ยวบางส่วนเลื่อนวันพัก เสียดายบรรยากาศช่วงสงกรานต์ ไฮไลต์ปลุกท่องเที่ยวเชียงใหม่ฟื้นจากวิกฤติโควิด-19
  • “ไทยไลอ้อนแอร์” เผยเส้นทางบินเชียงใหม่ หลุดท็อป 5 เส้นทางขายดีช่วงสงกรานต์ จากเคยรั้งตำแหน่งผู้นำมาตลอดในปีปกติจนต้องเพิ่มเที่ยวบินพิเศษ
  • “ทริปดอทคอมกรุ๊ป” ยันปัญหาหมอกควันไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับทัวริสต์จีน
  • ททท. คาดการณ์แนวโน้ม "จีนเที่ยวไทย" ราว 5.6 หมื่นคน คว้าอันดับ 1 ของต่างชาติเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 13-16 เม.ย. โรงแรมในภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่ 60% ซึ่งคาดว่าเกิดจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมหลายจังหวัดตอนบนของภาคเหนือและมีคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เป็นปัจจัยบั่นทอนต่อการเดินทางท่องเที่ยว โดย ททท.คาดการณ์ว่าภาคเหนือจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 529,470 คน สร้างรายได้ 2,101 คน

ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศไทยอยู่ที่ 74% โดยโรงแรมในภาคใต้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด อยู่ที่ 80% เนื่องจากย่างเข้าสู่ฤดูร้อนที่ผู้คนนิยมมาเที่ยวทะเล และส่วนหนึ่งมาจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ทำให้โรงแรมที่พักมีราคาที่นักท่องเที่ยวไทยเอื้อมถึง

นอกจากนี้ ข้อมูลของ Google Trends ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 3 เม.ย. ระบุว่า คนไทยค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวช่วงวันหยุดสงกรานต์เพิ่มขึ้น โดยจังหวัดท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่คนไทยค้นหาเป็นจังหวัดระยะใกล้ ได้แก่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ส่วน เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยอดนิยมสำหรับเล่นสงกรานต์ กลับติดอันดับ 7 คาดเป็นผลจากปัญหาฝุ่น PM 2.5

 

++ “ไทยไลอ้อนฯ” เผยเชียงใหม่หลุดท็อป 5 ขายดี

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เปิดเผยว่า ไทยไลอ้อนแอร์พบว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อตลาดเส้นทางบินในประเทศ สู่ เชียงใหม่ และ เชียงราย มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลงเมื่อเทียบกับปีปกติที่ไทยไลอ้อนแอร์จะมีการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight) ไปเชียงใหม่จำนวนมากเพื่อรองรับดีมานด์

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีปกติ เส้นทางบินเชียงใหม่จะติดอันดับต้นๆ ของเส้นทางที่มียอดขายตั๋วเครื่องบินดีที่สุด แต่ปีนี้กลับหลุด 5 อันดับแรก เพราะปัญหา PM 2.5 กระทบต่อดีมานด์ ทำให้ไทยไลอ้อนแอร์ไม่ได้เพิ่มเที่ยวบินพิเศษเยอะในปีนี้ ส่วนยอดจองตั๋วเส้นทางบินเชียงใหม่ยังถือว่าพอใช้ แต่ก็ต้องรอดูอีกทีว่าผู้โดยสารจะกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพจนถึงขั้นเปลี่ยนใจนาทีสุดท้าย ไม่ไปโชว์ตัว (No Show) ตอนเช็กอินที่สนามบินหรือไม่”

ส่วนภาพรวมอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทยไลอ้อนแอร์ คาดว่าเส้นทางบินในประเทศจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80-85% โดยเส้นทางบินไปภาคใต้ขายดีมาก ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศอย่างมากในช่วงหยุดยาว พบว่าเส้นทางของไทยไลอ้อนแอร์ที่ได้รับความนิยมชัดเจนคือ สิงคโปร์ และไทเป มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ย 70%

 

++ “หมอกควัน” ฉุดอัตราพักภาคเหนือ มี.ค. ร่วงเหลือ 54%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน มี.ค.2566 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 109 แห่ง พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าตลอดเดือน เม.ย.นี้ จะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 60% ลดลงจากเดือน มี.ค. ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 66% ทรงตัวจากเดือน ก.พ. โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5

หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมเดือน มี.ค. ในเกือบทุกภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ยกเว้นภาคเหนือที่เผชิญปัญหาหมอกควัน มีอัตราการเข้าพัก 54.1% ลดลงจากเดือน ก.พ.ที่มี 57.1% และภาคตะวันออกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางกลับประเทศ มีอัตราการเข้าพัก 61.7% ลดลงจากเดือน ก.พ.ที่มี 69.8% ส่วนภาคใต้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุดที่ 76.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ก.พ.ที่มี 75.3%

อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของเดือน มี.ค. ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักมีอัตราการเข้าพักปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 สำหรับราคาห้องพัก มีโรงแรมบางส่วนปรับดีขึ้นได้ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมตั้งแต่ 5 ดาวขึ้นไป ทั้งนี้ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่เห็นว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาไม่มากนัก ขณะที่ไตรมาส 2 มีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่คาดว่าจะยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 40% เทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด”

 

++ AWC เสียดายฝุ่นพิษกระทบลูกค้าเลื่อนวันพัก

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมของ AWC ในเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ แม้ปัญหาจะเกิดในระยะสั้น แต่กระทบหนักเหมือนกัน มีลูกค้าบางรายขอเลื่อนวันเข้าพักในระยะสั้น

จึงนับว่าน่าเสียดายอย่างมาก เพราะตอนนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นไฮไลต์ของภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่

“อัตราการเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมของ AWC ในเชียงใหม่ช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงไม่ได้สูงมากนัก แต่ยังเกินระดับ 50% ยกเว้นโรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ ที่มีอัตราการเข้าพักเต็ม และยังสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักได้ เช่น ชาวยุโรป จากภาพรวมของอัตราการเข้าพักโรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ ที่ถือว่าใช้ได้ ได้เรตราคาห้องพักดี”

ด้านสถานการณ์ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ของโรงแรมในเชียงใหม่ยังทรงๆ ไม่ได้แข็งแรงหรือฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด ทำให้ยังตามหลังเมืองอื่นๆ เช่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ที่โรงแรมในเครือ AWC มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 80% และสามารถทำราคาห้องพักสูงขึ้น 200% เมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด จึงมองว่าถ้านักท่องเที่ยวจีนกลับมา จะมีส่วนสำคัญทำให้ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

พิษฝุ่นทุบ \'สงกรานต์\' ภาคเหนือซึม อัตราเข้าพักโรงแรม 60% ต่ำสุดในไทย!

 

++ “ทริปดอทคอม” ยันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของทัวริสต์จีน

นางสาวซุน เทียนซู รองประธานกรรมการ ทริปดอทคอมกรุ๊ป แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ของประเทศจีน เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่มากนักสำหรับนักท่องเที่ยวจีนว่าจะเลือกไปเที่ยวเมืองนั้นๆ หรือไม่ แต่สาเหตุที่ยอดจองการเดินทางไปเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวจีนยังน้อยกว่าเมืองอื่นๆ เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ต เป็นเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องตั๋วเครื่องบินและโรงแรมโดยรวมยังสูงกว่าจุดหมายอื่น ประกอบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนยุคหลังโควิด-19 นิยมเที่ยวแบบอิสระมากขึ้น และเลือกไปปักหลักเที่ยวเมืองนั้นๆ เป็นเวลานาน ไม่ได้เน้นเที่ยวหลายเมืองภายในทริปเดียวเหมือนเมื่อก่อน

“ที่ประเทศจีนมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา มีชาวจีนนิยมไปร่วมงานจำนวนมากจนแน่น การเดินทางมาเที่ยวสงกรานต์ที่ประเทศไทยนับเป็นอีกตัวเลือกที่นักท่องเที่ยวจีนสนใจ เพราะเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงและกระจายการจัดงานทั่วไทย โดยทริปดอทคอมกรุ๊ปพบว่า กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ มียอดจองแพ็กเกจท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์จากชาวจีนเพิ่มขึ้น 20-40% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ”

 

++ “สงกรานต์ 2566” จีนเที่ยวไทยอันดับ 1

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ททท.ประเมินว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 56,790 คน เพิ่มขึ้น 3,896% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สร้างรายได้ 1,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,263% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรายได้ยังถือว่าน้อยกว่าสงกรานต์ปี 2562 ที่ 44% และ 47% ตามลำดับ

ส่วนอันดับ 2 มาเลเซีย มีจำนวน 50,310 คน สร้างรายได้ 840 ล้านบาท อันดับ 3 เวียดนาม จำนวน 15,930 คน สร้างรายได้ 218 ล้านบาท อันดับ 4 อินเดีย จำนวน 14,070 คน สร้างรายได้ 192 ล้านบาท และอันดับ 5 เกาหลีใต้ จำนวน 12,930 คน สร้างรายได้ 231 ล้านบาท

“เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประเทศไทยจึงหวนจัดกิจกรรมในช่วงสงกรานต์เต็มรูปแบบทั่วไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ททท.คาดว่าระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเป็นจำนวน 305,000 คน เพิ่มขึ้น 525% คิดเป็นการฟื้นตัว 58% ของสงกรานต์ปี 2562 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 5,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 630% คิดเป็นการฟื้นตัว 60% ของปี 2562”

โดยตลาดที่นิยมเดินทางมา ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย จากแนวโน้มการเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าของช่วงเทศกาลฯ รวมทั้งนักท่องเที่ยว จาก มาเลเซีย และ ลาว เดินทางข้ามแดน เพื่อร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์อย่างคึกคักในพื้นที่จังหวัดชายแดน

 

++ คนไทยเฉียด 4 ล้านเที่ยวสงกรานต์ในประเทศ

“แม้จะมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสภาพอากาศร้อนจัด แต่ด้วยบรรยากาศโดยรวมที่ยังเอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวทั้งจากจำนวนวันหยุดยาวที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาและใช้โอกาสเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงความอัดอั้นที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมความสนุกของการเล่นน้ำสงกรานต์มาเป็นเวลา 3 ปี”

ทาง ททท.จึงประเมินว่าภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ระหว่างวันที่ 13-16 เม.ย. บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3,808,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่าทั้งจำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี 2566 กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19