‘สงกรานต์' ท่องเที่ยวสะพัด 1.85 หมื่นล้าน ชู 'Local to Global' สาดความสนุกสากล

‘สงกรานต์' ท่องเที่ยวสะพัด 1.85 หมื่นล้าน ชู 'Local to Global' สาดความสนุกสากล

ช่วงเทศกาล “สงกรานต์ 2566” ภาพรวมบรรยากาศการท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศคึกคักมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งยังอยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดรายได้การท่องเที่ยวสะพัดรวมกว่า 18,530 ล้านบาท

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า การเดินทางท่องเที่ยวของ “ตลาดในประเทศ” ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-16 เม.ย. จํานวน 4 วัน คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้นชัดเจน มีจํานวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 3,808,500 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 3,340,300 คน-ครั้ง และปี 2562 ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 3,347,620 คน-ครั้ง

ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวตลาดในประเทศช่วงสงกรานต์ปีนี้ 13,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 11,000 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 11,645 ล้านบาท ถือว่าทั้งจํานวนและรายได้ของตลาดในประเทศกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

กระแสการเดินทางของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย สร้างอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ 74% โดยภาคใต้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด 80% เนื่องจากย่างเข้าสู่ฤดูร้อนที่ผู้คนนิยมเที่ยวทะเล และส่วนหนึ่งมาจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” ทำให้โรงแรมที่พักมีราคาที่นักท่องเที่ยวไทยเอื้อมถึง ขณะที่ภาคเหนือกลับมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 60% คาดเกิดจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมหลายจังหวัดตอนบนของภาคเหนือ ทำให้นักท่องเที่ยวเลี่ยงการเดินทาง

อีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนการเดินทางในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 คือการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ของภาครัฐและเอกชน โดย ททท.เตรียมจัดงาน “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566 พร้อมยกระดับสู่สากลกับงานเทศกาลสาดความสุข สนุกแบบอินเตอร์ INTERNATIONAL AMAZING SPLASH 2023” ภายใต้โครงการยกระดับงานประเพณีพื้นเมืองไทยสู่สากล หรือ Local to Global” ปี 2566 นำเสนอกิจกรรมไฮไลต์จําลองเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมนานาชาติจากอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เทศกาลอาบโคลน (Boryeong Mud Festival) จากเกาหลีใต้ เทศกาลโฮลี (Holi Festival) จากอินเดีย เทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา จากจีน และเทศกาลเซ็ตซึบุน (Setsubun Festival) จากญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีของศิลปินชาวไทยและต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 13-15 เม.ย. ณ บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) กรุงเทพฯ

ด้านปัจจัยที่เป็นอุปสรรคของตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ททท.ประเมินว่า “ปัญหาเศรษฐกิจ” ค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับกําลังซื้อที่มีทั้งในรูปแบบลดจํานวนวันเดินทางให้น้อยลง เลือกเที่ยวระยะใกล้ และใช้จ่ายเท่าที่จําเป็น โดยเน้นการใช้จ่ายในหมวดอาหารและที่พักมากกว่าการชอปปิง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ปกคลุมหลายภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวตอนบนของภาคเหนือ

“อย่างไรก็ตาม บรรยากาศโดยรวมยังเอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งจากจำนวนวันหยุดยาวที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา และใช้โอกาสเดินทางท่องเที่ยว และความอัดอั้นที่ไม่ได้เล่นน้ำสงกรานต์มาเป็นเวลา 3 ปี”

ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางของนักท่องเที่ยว “ตลาดต่างประเทศ” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 2566 รวม 5 วัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 305,000 คน เพิ่มขึ้น 525% จากปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 48,814 คน และคิดเป็นการฟื้นตัว 58% จากปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 522,357 คน ทั้งนี้สร้างรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 5,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 630% จากปี 2565 ที่มีรายได้เพียง 689 ล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 60% ของรายได้ปี 2562 ที่มี 8,321 ล้านบาท

การเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางของตลาดระยะใกล้จากภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคอาเซียน ตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เนื่องจากมีการจองการเดินทางเข้าไทยล่วงหน้าเพิ่มขึ้นสูง ในสัปดาห์ก่อนหน้าของเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและลาวมีการเดินทางข้ามแดนเข้ามาท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์คึกคักในพื้นที่จังหวัดชายแดน

ปัจจัยที่สนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีดังนี้ 1.เที่ยวบินใหม่ช่วงสงกรานต์ พบว่าเที่ยวบินที่เริ่มทําการบิน ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2566 มีเที่ยวบินใหม่ รวม 20 เที่ยวบิน หรือ 2,074 ที่นั่ง โดยเที่ยวบินใหม่ส่วนใหญ่มาจาก จีน ไต้หวัน เวียดนาม และ กัมพูชา รวมทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลําจากรัสเซีย บินตรงเข้าภูเก็ตและอู่ตะเภา

2.การจัดกิจกรรมนานาชาติในช่วงสงกรานต์ นอกจากรูปแบบการจัดเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย ตอกย้ำคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมไทยกระจายทั่วทุกพื้นที่ ตามแนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ผนวกด้วยเทศกาลดนตรีแนว EDM (Electronic Dance Music) และแนว Hip Hop จากศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ควบคู่กับกิจกรรมเล่นน้ำคลายร้อน ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้าไทยใน เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ S2O Songkran Music Festival และ Waterbomb Bangkok พัทยา Rolling Loud Thailand 2023 อุดรธานี Udon Songkran Festival 2023 และ ภูเก็ต Andamanda Songkran Festival เป็นต้น

และ 3. ททท.สํานักงานต่างประเทศจัดกิจกรรมด้านการตลาดกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อาทิ ททท. สํานักงานโฮจิมินห์ จัดกิจกรรม Laos Cross Border Promotion ไปยังพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและหนองคาย ททท. สํานักงานคุนหมิง ร่วมกับบริษัทนําเที่ยว พันธมิตร เสนอขายแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบคาราวานมายังประเทศไทย ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนเชียงของ จ.เชียงราย ด่านท่าลี่ จ.เลย ด่านสะพานมิตรภาพ ไทย - ลาว จ.หนองคาย และด่านบ่อเกลือ จ.น่าน