หนีไป! ถ้าจะทำ ‘ร้านหนังสือ’ เปิดใจรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เจ็บมาเยอะ

หนีไป! ถ้าจะทำ ‘ร้านหนังสือ’ เปิดใจรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เจ็บมาเยอะ

ตรวจชีพจรธุรกิจ “ร้านหนังสือ” ในยุคที่ยังต้องสู้กับการถูกดิสรัปจากโลกดิจิทัล เปิดใจคนทำ “ร้านหนังสืออิสระ” ในเมืองใหญ่ ที่แม้ว่าจะต้องฝ่ามรสุมธุรกิจมาหลายต่อหลายลูก แต่ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยใจรักล้วนๆ 

Key Points: 

  • จากกรณีร้าน Bookmoby ในหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เกือบต้องปิดตัวลงเพราะแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว กลายเป็นประเด็นไวรัลในโลกโซเชียลอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ในที่สุดทางหอศิลป์ฯ ชะลอการขึ้นค่าเช่าพื้นที่ออกไป 1 ปี ช่วยต่อลมหายใจให้ร้านนี้ได้ไปต่อ
  • ธุรกิจ “ร้านหนังสืออิสระ” ในยุคปัจจุบันอาจไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุนอีกต่อไป หรือหากจะทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดได้ ก็ต้องปรับตัวอย่างหนัก
  • เจ้าของร้านหนังสืออิสระอย่าง “Zombie Books” และ “Bookmoby” เปิดใจกับกรุงเทพธุรกิจว่า ธุรกิจร้านหนังสืออาจไม่ใช่ธุรกิจที่มีกำไรเลี้ยงตัวเองได้ แต่พี่น้องในวงการนี้ส่วนใหญ่ยังทำมันอยู่เพราะใจรักล้วน ๆ 

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดิสรัปทุกๆ ธุรกิจให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หนึ่งในธุรกิจที่ถูกดิสรัปอย่างรุนแรงคงหนีไม่พ้น “ร้านหนังสืออิสระ” หรือร้านหนังสือขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

..ที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นภาพไม่ต่างกันว่า ธุรกิจดังกล่าวมักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีเหตุการณ์ให้คนในแวดวงร้านหนังสือใจเต้นระส่ำไม่น้อย นั่นคือ กรณีร้าน “Bookmoby Readers’ Cafe” ที่ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกือบต้องปิดกิจการไป เนื่องจากแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว แต่ท้ายที่สุดวิกฤติดังกล่าวก็ผ่านไปได้ด้วยดี เนื่องจากทางหอศิลป์ฯ ชะลอการขึ้นค่าเช่าพื้นที่ออกไป 1 ปี ช่วยต่อลมหายใจให้ร้านนี้ได้ไปต่อ 

หนีไป! ถ้าจะทำ ‘ร้านหนังสือ’ เปิดใจรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เจ็บมาเยอะ

 

  • ย้อนรอย Bookmoby ในวันที่อาจต้องปิดตัวลง

ย้อนกลับไปในช่วงที่ร้านหนังสืออาจจะต้องปิดตัวลง “อนรรฆ พิทักษ์ธานิน” ผู้ดูแลร้าน Bookmoby เล่าว่า แม้ว่าหอศิลป์จะขึ้นค่าเช่าพื้นที่เพียง 10% ของยอดเฉลี่ยโดยปกติ ซึ่งก็ไม่ได้ขึ้นสูงมากถ้าเปรียบเป็นจำนวนเงิน แต่ที่ผ่านมาทางร้านแบกรับต้นทุนต่าง ๆ มากพอสมควร และขาดทุนมาตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดแล้ว แต่ตอนนั้นยังมีเพื่อนหลาย ๆ คนช่วยกัน จึงพอมีช่องทางให้ร้านอยู่ต่อได้ แต่พอหอศิลป์ขอขึ้นค่าเช่าพื้นที่ก็คิดว่าอาจจะแบกรับภาระขาดทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว

“เราก็อยู่กับหอศิลป์มานาน มีความผูกพันครับ ในช่วงโควิดทางหอศิลป์มีมาตรการลดค่าเช่าต่าง ๆ ให้ก็จริง แต่ในช่วงนั้นรายได้เราก็แทบจะไม่มีเลย แต่พอมาปีนี้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทางร้านก็เริ่มที่จะตั้งตัวได้ แต่อยู่ดี ๆ ทางหอศิลป์ก็ขึ้นราคาค่าเช่า ก็เข้าใจว่าในสัญญาระบุว่าจะต้องขึ้นค่าเช่าทุกสามปี แต่เรามองว่าสัญญาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท เพราะสัญญานั้นก็เป็นรูปแบบที่เขียนมาเป็น 10 ปีแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าไปต่อไม่ไหวก็คงต้องปิดร้าน จึงเป็นที่มาของโพสต์ในเพจ Facebook เกี่ยวกับสถานการณ์ที่คิดจะปิดร้าน

แต่แล้วก็พบว่ามีชาวโซเชียลแชร์โพสต์ดังกล่าวออกไปเยอะมาก จริง ๆ ก็ต้องขอบคุณหลาย ๆ คนด้วยที่ทำให้มันเป็นกระแสขึ้นมาในโลกออนไลน์ ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทางหอศิลป์ว่า ทางออกของปัญหานี้มันควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งทางหอศิลป์ก็ช่วยชะลอการขึ้นค่าเช่าออกไปก่อน 1 ปี ส่วนตัวผมคิดว่าไม่เคยรู้เลยว่าจะมีคนโหยหาพื้นที่ตรงนี้อยู่แล้วมันทำให้เกิดเป็นกระแสทางสังคมขึ้นมา ทำให้สุดท้ายแล้วเราก็ได้เซฟตัวเองไปได้ระยะหนึ่ง” อนรรฆเล่า 

หนีไป! ถ้าจะทำ ‘ร้านหนังสือ’ เปิดใจรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เจ็บมาเยอะ

 

เจ้าของร้าน Bookmoby บอกอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ทางหอศิลป์ฯ ก็มีความเข้าใจทางร้านและพร้อมปรับให้ยืดหยุ่น เวลาใน 1 ปีนี้ อย่างน้อยทำให้ทางร้านพอมีเวลาให้คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี อีกทั้งจะเป็นปีที่ทำให้ Bookmoby มีกำลังใจมากขึ้น เพราะจากกระแสสังคมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้นักอ่านหลายคนแวะเวียนเข้ามาที่ร้านมากขึ้น บรรยากาศในร้านเริ่มคึกคักและกลับมามีสีสันอีกครั้ง 

 

  • ธุรกิจ “ร้านหนังสืออิสระ” ไม่ตอบโจทย์เรื่องกำไร ไม่น่าลงทุน !

แม้ร้าน Bookmoby จะได้ไปต่อ แต่ในขณะเดียวกัน หากมองภาพรวมของธุรกิจ “ร้านหนังสืออิสระ” พบว่าเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการหลายคนต่างก็เบือนหน้าหนี มีเพียงคนที่ใจรักด้านนี้จริง ๆ เท่านั้นถึงเลือกทำธุรกิจนี้ โดยเฉพาะหากพูดในแง่ของ Profit อนรรฆยอมรับว่า อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุน 

“บอกเลยว่าเป็นงานยากเเละเป็นโจทย์ที่ยากมาก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้เราอยู่ในภายใต้โลกของทุนนิยม โลกที่ต้องแข่งขันกันในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าให้พูดตรง ๆ ผมคิดว่าถ้ามีช่องทางอื่นที่ไปได้ อาจจะทำรายได้ที่ดีได้มากกว่า แต่ถ้าถามว่าจะทำยังไงให้ร้านหนังสืออิสระยังอยู่ได้ ก็คงต้องตอบว่า ร้านสามารถอยู่ได้แต่จะไม่มีทางรวย” อนรรฆเล่าให้เห็นภาพธุรกิจในความเป็นจริง

ในทำนองเดียวกัน “ประวิทย์ พันธุ์สว่าง” เจ้าของร้านหนังสือ Zombie Books อีกหนึ่งร้านหนังสืออิสระชื่อดังที่เหล่านักอ่านรู้จักกันดี ที่ตั้งอยู่บริเวณ RCA เล่าถึงกรณีการทำธุรกิจร้านหนังสือว่าที่ผ่านมาเขาต้องฝ่ามรสุมอย่างเหนื่อยหนักไม่แพ้กัน

“ธุรกิจนี้มันไม่น่าลงทุนหรอก ถ้ามีเวลาคุณก็ไปทำอย่างอื่นเถอะ ร้านหนังสืออิสระมันไม่น่าทำหรอก ผมเคยอยากปิดร้านหนังสือที่เพิ่งจะเปิดมาได้แค่ 2 ปี เพราะมันเป็นธุรกิจที่ทำแล้วไม่ได้กำไร แถมขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ว่าในตอนนั้นที่ยังฝืนทำอยู่เพราะอยู่ในจุดที่ยังพอจ่ายได้ แต่พอนานเข้าๆ รับภาระไม่ไหวก็ตัดสินใจปิดร้านไป จำเป็นต้องตัดปัญหาทิ้งเพื่อให้มันจบ อย่างน้อยผมก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเดือนละ 100,000 อีกเเล้ว แต่กว่าจะตัดใจได้ก็ใช้เวลา 4-6 ปีเลย” ประวิทย์เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจให้ฟัง

หนีไป! ถ้าจะทำ ‘ร้านหนังสือ’ เปิดใจรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เจ็บมาเยอะ

 

  • ธุรกิจ "ร้านหนังสือ" ต้องทำด้วยใจรักและรู้จักปรับตัวให้อยู่รอด

แม้จำใจต้องปิดร้านหนังสือลง แต่ล่าสุด.. เจ้าของร้านหนังสือ Zombie Books ก็กำลังจะเปิดร้านหนังสือใหม่อีกครั้ง (ในทำเลอื่น) แต่ไม่ได้เปิดร้านหนังสือเพื่อขายหนังสือ แต่เน้นหารายได้จากทางอื่นเป็นหลัก โดยร้านหนังสือร้านใหม่ของเขา จริงๆ แล้วคือการเปิดร้านอาหารที่มีมุมให้อ่านหนังสือและขายหนังสือให้ลูกค้าได้ด้วย โดยเขามองว่าคนที่ทำธุรกิจร้านหนังสืออิสระนั้น ส่วนใหญ่ทำเป็นงานอดิเรก ทำเพื่อตอบโจทย์ส่วนตัวในแง่ความรักหนังสือ 

“ไม่มีใครแค่เขียนหนังสือ แล้วมาเปิดร้านหนังสือหรอก แต่ผมว่าบางคนเขาก็ทำงานเก่ง เเละอาจจะทำธุรกิจอย่างอื่นด้วย มันต้องมีอาชีพเสริม เหมือนทำร้านหนังสือไว้เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเอง แต่บางคนเขาก็ทำได้ดีมาก ๆ ในหลายร้านนะ คือร้านหนังสือควรทำเป็นงานอดิเรกมากกว่าที่จะทำเป็นอาชีพหลัก และถ้าจะให้มันอยู่ได้ก็ต้องทำให้ครบวงจร” เขาอธิบาย  

ประวิทย์แชร์ไอเดียว่า ปัจจัยที่จะทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้ในยุคนี้ เจ้าของร้านต้องเท่าทันโลกโซเชียล ต้องรู้จักโปรโมตร้านในหลากหลายช่องทาง ทั้ง TikTok, Reels, Facebook ฯลฯ ต้องทำหน้าที่ให้ครบวงจรและต้องทำอย่างเต็มที่ด้วย ถึงจะมีทางรอดได้ ปัจจุบันมีร้านหนังสือหลายร้านที่ปรับตัวแล้วอยู่รอดได้ ไม่ใช่ว่าทุกร้านจะเจ๊งหมด

ขณะที่อนรรฆแห่งร้าน Bookmoby แสดงความคิดเห็นว่า แม้ร้านหนังสืออิสระจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรยาก แต่หากมองในแง่ของการสร้าง Social Benefits และถ้าผู้ประกอบการมีกำลังมากพอ มีใจรักในด้านนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าทำ ซึ่งวิธีที่จะทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้นั้น เขาแชร์ไอเดียว่า

1) คนอ่านจะต้องให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือเล่มมากขึ้น 

2) ต้องปรับมุมมองใหม่ ร้านหนังสือไม่ใช่แค่สถานที่ขายหนังสือแต่มันคือ Learning Space ที่ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ได้ โดยอนรรฆมองว่าภาครัฐสามารถเข้ามา Subsidize (ให้เงินอุดหนุน) แก่พื้นที่แบบนี้ได้ 

3) ร้านหนังสือเล่มและร้านออนไลน์เกื้อหนุนกัน

“หากภาครัฐมาช่วยอุดหนุนร้านหนังสือเพื่อทำเป็น learning space ผมว่าโมเดลแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ อีกอย่างคือ ในระยะยาวคนอาจจะอ่านหนังสือออนไลน์มากก็จริง แต่มองว่าการอ่านหนังสือออนไลน์จะมาทำลายหนังสือเล่ม อาจจะมีผลกระทบบ้างก็จริง แต่ผมว่ามันสามารถเกื้อกูลกันได้ 

ร้านหนังสืออิสระเดี่ยว ๆ อาจจะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าจะทำให้อยู่ได้ต้องมีโมเดลบางอย่าง เช่น มีผลิตภัณฑ์หรือโปรดักต์อื่น ๆ ไว้จำหน่ายด้วย หรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอ่านขึ้นมาในร้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลให้สังคมของการอ่านพัฒนายิ่งขึ้นไป อย่างหลาย ๆ ร้านก็มีการจัดเป็นบุ๊คคลับ ซึ่งผมก็มองว่ามันดีนะ มันจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นในภาพรวมได้ในที่สุด” อนรรฆ กล่าวทิ้งท้าย