เปิด 5 เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ ทำไมไม่ควรปล่อยให้ทัวริสต์กลุ่มนี้หลุดมือ?

เปิด 5 เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ ทำไมไม่ควรปล่อยให้ทัวริสต์กลุ่มนี้หลุดมือ?

“ททท.” เปิดเผย 5 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ หลังโควิด-19 คลี่คลายเกือบเต็มรูปแบบ ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายต่อคน ทั้งเที่ยวเชิงอาหาร - เที่ยวอย่างยั่งยืน – ทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วย - เวลเนสกลับมาแน่ – นวัตกรรมเปลี่ยนโลก หนุนเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวฟื้นตัวสู่ยุคทอง 3 ล้านล้านบาท

นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ประเมินว่าเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่น่าจับตา 5 เทรนด์ท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการต้องจับฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้มั่น เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว นำไปสู่การเติบโตด้านรายได้รวมการท่องเที่ยวของไทย

 

5 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ หลังโควิด-19

1. Brighter Future of Culinary Tourism อนาคตสดใสของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

จากรายงาน Global Culinary Tourism Market 2020-2027 แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกกำลังเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 16.8% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 5.4 พันล้านคนต่อปีที่เดินทางแบบ “บินไปกิน” ทำให้คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงราว 1,796.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027

 

 

2.Sustain to Regain ไม่ยั่งยืน เท่ากับอยู่ไม่ได้

ความยั่งยืนกลายเป็นทั้งเทรนด์และ “ไฟต์บังคับ” สิ่งแวดล้อมกลายเป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องราวสำคัญในทุกมิติบนโลกใบนี้ จากข้อมูลของ Wunderman Thompson ชี้ว่าผู้บริโภคกว่า 70% พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับทัศนคติของผู้บริโภคชาวไทยต่อ “ความยั่งยืน” พบว่า

- 82% ของผู้บริโภคชาวไทยพยายามที่จะประพฤติคนให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

- ผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปพยายามที่จะมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอต่อแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

- ผู้บริโภคอายุระหว่าง 25-34 ปี มองหาและพยายามสนับสนุนแบรนด์ที่มีความยั่งยืนและพยายามโน้มน้าวใจคนอื่นๆ ให้ลองหันมาปรับเปลี่ยนและเลือกสินค้าบริการที่มีความยั่งยืนแทน

 

3. Work from Anywhere & Digital Nomad ทำงานไปเที่ยว เรื่องเดียวกัน

Google Trends ระบุว่า ผลการค้นหาคำว่า “Digital Nomad” เพิ่มสูงขึ้น 376% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าในปัจจุบันน่าจะมีกลุ่มคนทำงานรูปแบบ Remote Worker มากถึง 35 ล้านคนทั่วโลก เติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

 

 

4. Wellness, A Gift from Pandemic เวลเนสมาแน่ กลับมาฮอตกว่าเดิม

ผู้บริโภค 79% เชื่อว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และ 42% จัดลำดับความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นอันดับที่ 1 ในการใช้ชีวิต ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 15 ของโลกสำหรับจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ด้านเหตุผลที่ทำไมจึงไม่ควรปล่อยให้ตลาดกลุ่มนี้หลุดมือไป? เป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสุขภาพจะใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวทั่วไป 35% ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มสุขภาพชาวไทยจะใช้จ่ายเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 177%

 

5. Innovation for A Betterment นวัตกรรมที่เปลี่ยนให้โลกน่าอยู่

โดยเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด พบว่าประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยว (จากทั้งตลาดในและต่างประเทศ) สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 2,993,567 ล้านบาท คิดเป็น 17.7% ของจีดีพีประเทศไทย 16,889,174 ล้านล้านบาท

แต่พอวิกฤติโรคระบาดลุกลามตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง พบว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยวลดลง เหลือ 831,894 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าจีดีพี 15,661,146 ล้านบาท

ส่วนปี 2564 มีรายได้รวมการท่องเที่ยวลดลง เหลือ 254,040 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าจีดีพี 16,166,597 ล้านบาท ร่วงสู่จุดต่ำสุด ก่อนจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2565 มีรายได้รวมการท่องเที่ยว 1,231,387 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.1% ของมูลค่าจีดีพี 17,367,310 ล้านบาท