'เดอเบล’ ปัดฝุ่นลุยลงทุน 2,000 ล. เสริมแกร่งจัดจำหน่าย เจาะร้านค้าทั่วไทย

'เดอเบล’ ปัดฝุ่นลุยลงทุน 2,000 ล.  เสริมแกร่งจัดจำหน่าย เจาะร้านค้าทั่วไทย

"เดอเบล" ในกลุ่มธุรกิจ TCP ฮึดลุยลงทุน 2,000 ล้านบาท ติดอาวุธจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า หลังเจอวิกฤติโควิด ต้องชะลอแผน ปี 2566 ผุดคลังสินค้าเพิ่ม จัดทัพเทคโนโลยี พัฒนาแอปฯ TCP Connect ตั้งทีม Pre-order ฯ สู่การเป็น "ออมนิแชนเนล" เอื้อร้านค้านับแสนทั่วไทยโตแกร่งร่วมกัน

การจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ถือเป็น “กระดูกสันหลัง” ของทุกธุรกิจ หากเจาะหมวดหมู่สินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) หรือสินค้าจำเป็น หากกระจาย ขายเจาะร้านค้าได้ครอบคลุมตลาดวงกว้าง(Mass) ย่อมเกาะกุมขุมทรัพย์การเติบโต

กลุ่มธุรกิจ TCP(ทีซีพี) หนึ่งในยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มของไทย มีแบรนด์ดังในพอร์ตโฟลิโอ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง เรดบูล โสมพลัส เครื่องดื่มเกลือแร่สปอนเซอร์ เครื่องดื่มวิตามินซี ไฮ่! เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(ฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์) แมนซั่ม ฯ เพื่อป้อนสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมาย “เดอเบล” จึงเสริมใยเหล็กให้การค้า

กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ สุรชัย จงเลิศวราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอเบล จำกัด บริษัทในกลุ่มธุรกิจ TCP ถึงการขับเคลื่อนธุรกิจการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภายใต้โจทย์สำคัญคือปี 2566 จะฟื้นรายได้ให้กลับมาแตะระดับ 2 หมื่นล้านบาท แกร่งเหมือนก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด

ย้อนแผนงานช่วงต่อกรโรคระบาด บริษัทเข้าสู่โหมดระมัดระวัง “การลงทุน” จังหวะ(Pace)การใช้งบก้อนโต 2,000 ล้านบาท ชะลอลง แต่พลันสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้าขาย ความต้องการตลาดเอื้อ จึงใส่เกียร์เดินหน้าอีกครั้ง

ทั้งการเปิดคลังสินค้าเพิ่ม รองรับความต้องการลูกค้าธุรกิจใหม่ๆ เช่น ออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ กลุ่ม B2B ฯ อีก 1 หมื่นพาเลท จากปัจจุบันมีคลังสินค้า 23 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้า(DC) 2 แห่ง รองรับสินค้าราว 4.5 หมื่นพาเลท

“เทคโนโลยี” เป็นสิ่งที่ “เดอเบล” ให้น้ำหนักลงทุน เพราะอนาคตการจัดจำหน่ายสินค้าต้องลดรอยต่อการซื้อสินค้าผ่านการผสานทุกช่องทางขายให้อยู่ภายใต้ระบบนิเวศ “ออมนิแชนเนล” (Omnichannel Ecosystem)

ออมนิแชนเนลไม่เพียงเชื่อมช่องทางขายเก่าใหม่อย่างออฟไลน์สู่ออนไลน์เข้าด้วยกัน แต่ยังเชื่อมต่อการค้าขาย หรือการทำธุรกรรมต่างๆของร้านค้ากับบริษัท สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อนำข้อมูลบริหารจัดการและตอบสนองลูกค้าให้ดีสุด แต่ “ร้านค้า” ที่เป็นลูกค้าของ “เดอเบล” จะมีข้อมูลของผู้บริโภคที่ไปซื้อสินค้าในร้านอีกด้วย

เพื่อ “ติดอาวุธ” เสริมแกร่งร้านค้า “เดอเบล” ยังพัฒนาแอปพลิเคชั่น TCP Connect นำข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์การขายสินค้าและวางแผนการขาย และการตลาดได้อย่างแม่นยำขึ้น มีการทำโปรแกรม “GT Partnership” นำร่อง 27 ราย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ผู้ที่จะเข้าร่วมโปรแกรม GT Partnership ต้องมีโกรทมายด์เซ็ท พร้อมสู้ พัฒนาตัวเอง”

เมื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เสริมกระดูกเหล็ก “เดอเบล” เพื่อก้าวสู่ออมนิแชนเนล ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทจึงขยาย “ช่องทาง” ใหม่ๆเพื่อบริการแก่ลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ เดอเบล B2B สั่งสินค้าผ่านออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา Pre-order จำนวน 30-40 ทีมซึ่งเป็นหน่วยรถจักรยานยนต์ เปรียบเสมือน “ม้าเร็ว” สปีดไปส่งสินค้าแก่ร้านค้าที่อยู่ในย่านจราจรติดขัด และบริการ Virtual Distribution รองรับสินค้าขนาดใหญ่ มูลค่าสูง รวมถึงตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ(Vending) ที่มีกว่า 2,000 ตู้ และยังขยายตู้เอ็กซคลูสีฟให้กับลูกค้าอื่น 2-3 ราย เป็นต้น

ปัจจุบัน “เดอเบล” มีหน่วยรถจัดจำหน่ายกระจายสินค้า 462 คัน และเครือข่ายภายนอก 800 คัน สามารถเข้าถึงร้านค้าค้าส่งกว่า 4,000 แห่ง ร้านค้าทั่วไปกว่า 1.4 แสนแห่งทั่วประเทศ หากรวมกับทุกช่องทางหรือออมนิแชนเนล ครอบคลุมกว่า 1.7 แสนแห่ง จากทั้งสิ้นกว่า 4.7 แสนแห่ง

นอกจากกระจายสินค้าในเครือไปยังร้านค้า เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคทั่วประเทศ “เดอเบล” ยังต่อจิ๊กซอว์โต ด้วยการรับ “ลูกค้า” นอกเครือ(Non-TCP)ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์โอวัลติน กาแฟเพรียว เซปเป้แอนลีน ซุปไก่และรังนก สก๊อต น้ำตาลมิตรผล และน้ำปลาร้าตำมั่วฯวางเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% เและ 75% มาจากกลุ่มธุรกิจ TCP

"เดอเบล จะไม่ใช่แค่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้า แต่เราต้องการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และช่วงโควิดทำให้เรารู้ว่าต้องช่วยให้ร้านค้าเล็ก-ใหญ่ แข็งแกร่งขึ้น  บริษัทจึงนำทรัพยากรที่มี เทคโนโลยี ข้อมูล องค์ความรู้และความเป็นมืออาชีพ ไปพัฒนาร้านค้าให้เติบโต รวมถึงร้านลูกข่ายแกร่งขึ้น"

แม้โควิดคลี่คลาย แต่โจทย์ท้าทายคือภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย”(Recession)เกิดทั่วโลก ทว่า “สุรชัย” มีมุมมองบวกกับสถานการณ์ในประเทศไทย เพราะเครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจ(จีดีพี)สำคัญอย่างการท่องเที่ยวฟื้นตัว เพิ่มแรงส่งให้ธุรกิจจัดจำหน่ายเติบโตได้

“ภาพรวมธุรกิจปี 2565-2568 จะเติบโตราว 4-5% ขึ้นกับแต่ละเซ็กเตอร์ แต่เบื้องหลังทุกธุรกิจต้องมีการกระจายสินค้า จึงคาดว่าตลาดจะได้รับอานิสงส์โต 4-5%”

ส่วน “ราคาพลังงานพุ่ง” กระทบธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และผู้ประกอบการทั้งตลาดเผชิญสถานการณ์เดียวกัน แต่บริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงาน สร้างยอดขายให้เติบโต จึงช่วยลดผลกระทบได้ รวมถึงมีเงื่อนไขขึ้นราคากับลูกค้า เมื่อราคาน้ำมัน “เกินเพดาน” ที่กำหนดไว้ เป็นต้น

“ปีหน้าวางเป้าหมายสร้างรายได้กลับสู่ 2 หมื่นล้านบาท ท้าทายไหม..หากมองวัฒนธรรมองค์กรกลุ่มธุรกิจTCP คือการปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า ทุกกลุ่มมีเป้าที่ท้าทาย แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้”