เปิดเวทีโมบายเวิลด์คองเกรส ‘สึนามินวัตกรรม’กำลังมา

เปิดเวทีโมบายเวิลด์คองเกรส ‘สึนามินวัตกรรม’กำลังมา

บรรดายักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลก รวมตัวกันในงานโมบายเวิลด์คองเกรส (เอ็มดับเบิลยูซี) ที่เมืองบาร์เซโลนา สเปน ต่างให้คำมั่นจะสร้าง “สึนามิแห่งนวัตกรรม” แม้เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคส่วนเทคโนโลยีพบกับความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ ถึงกับต้องปลดพนักงานนับหมื่นคน

งานเอ็มดับเบิลยูซีมีกำหนดจัดขึ้นเป็นเวลาสี่วันเปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันจันทร์ (27 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น ผู้จัดคาดว่าจะมีผู้ร่วมงานราว 80,000 คน ถือว่าเกือบเต็มสเกลหลังจากถูกการระบาดของโควิด-19 ป่วนจนไม่ได้จัดมาหลายปี

ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอย่างหัวเว่ย โนเกีย และซัมซุงงัดนวัตกรรมล่าสุดมาอวดกันเต็มที่ เช่นเดียวกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างออปโป้และเสียวหมี่ และผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างออเรนจ์ เวอไรซอน และไชนาโมบาย

โฮเซ มาเรีย อัลวาเรซ ผู้บริหารเทโลโฟนิกา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสเปน ปัจจุบันเป็นประธานจีเอสเอ็มเอ ผู้จัดงานเอ็มดับเบิลยูซี กล่าวเปิดงาน

“เราอยู่ ณ ประตูการเปลี่ยนแปลงใหม่แห่งยุคสมัย ขับเคลื่อนโดยการบรรจบกันระหว่างโทรคมนาคม การประมวลผล ปัญญาประดิษฐ์ และเว็บ 3” อัลวาเรซกล่าวพร้อมให้คำมั่นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเป็นหัวหอก “สึนามิแห่งนวัตกรรม” ถ้าไม่มีโทรคมนาคมก็ไม่มีอนาคตดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทกังวลมากขึ้นว่าจะกลับไปทำกำไรได้อย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจโลกสะดุดและบริษัทเทคโนโลยีต้องลดคนงานหลายหมื่นคน

สัญญาณชัดเจนอันแรกบ่งบอกว่าความป่วยไข้ในภาคส่วนเทคโนโลยีกำลังมาถึงภาคโทรคมนาคมเกิดขึ้นในสัปดาห์ก่อนเมื่ออีริคสันประกาศลดพนักงาน 8,500 คน

หากพิจารณาตัวเลข ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาไอดีซีชี้ว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนโดยรวมในปี 2565 ร่วงลง 11.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนบริษัทวิจัยการ์ตเนอร์คาดว่า ยอดขายสมาร์ทโฟน แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์จะลดลง 4% อีกครั้งในปีนี้

ด้านผู้ให้บริการเครือข่ายกำลังดิ้นรนจ่ายค่า5จี ที่พวกเขาทุ่มเงินหลายพันล้านประมูลสิทธิการใช้แบนด์วิธจากรัฐ

จีนปัจจัยสำคัญ 

ไอดีซีระบุ ปี 2565 ซัมซุงและแอ๊ปเปิ้ลมียอดขายสมาร์ทโฟนโดดเด่นมาก ส่วนอีกสามแบรนด์ที่ติดอันดับท็อปไฟว์ล้วนเป็นแบรนด์จีน ทั้งเสียวหมี่ ออปโป และวีโว แต่ทั้งสามรายประสบกับปีที่ยากลำบากเมื่อยอดขายดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

กระนั้น จีเอสเอ็มเอยังเชื่อมั่นอย่างมากว่าแบรนด์จีนจะกลับมาสร้างสีสันให้กับงานได้อีกครั้ง

“เรามีตัวแทนจากจีนมากมาย” จอห์น ฮอฟฟ์แมนแถลงก่อนเปิดงาน และว่างานปีนี้กลับมาเป็นปกติแล้ว

หัวเว่ยดึงดูดความสนใจ

ผู้จัดงานประโคมว่า การกลับมาของตัวแทนจีนสำคัญมากต่องาน บริษัทจีนให้สปอนเซอร์งานเอ็มดับเบิลยูซี และหัวเว่ยได้ความภาคภูมิใจจากงานนี้อีกครั้ง ด้วยการได้พาวิลเลียนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์การจัดงานหลายสิบปี 

ยักษ์เทคโนโลยีจีนรายนี้เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่สุดอันดับสองของโลกในปี 2563 แต่ถดถอยลงหลังคณะกรรมการกำกับดูแลของสหรัฐกล่าวหาว่า หัวเว่ยถูกควบคุมโดยรัฐบาลปักกิ่ง

ตอนนี้หัวเว่ยหันมาเน้นที่อุปกรณ์เครือข่ายและเซิร์ฟเวอร์คลาวด์ แต่ผู้นำอียูกำลังผลักดันให้รัฐบาลห้ามใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในเครือข่าย 5จี

ขณะที่คู่แข่งโดยตรงอย่างโนเกียและอีริคสันกำลังหาโอกาสสำหรับบางธุรกิจ เมื่อประเทศยุโรปเมินหัวเว่ย และทั้งสองบริษัทส่งตัวแทนระดับสูงมาร่วมงาน

 เอริก ซู ผู้บริหารหัวเว่ยเคยกล่าวก่อนงานว่า เขาจะใช้งานเอ็มดับเบิลยูซี แสดงสินค้า “ที่จะช่วยผู้ให้บริการเครือข่ายตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปไม่หยุด และเปิดโอกาสสำหรับการเติบโตใหม่”

ในภาพรวม จีเอสเอ็มเอกล่าวว่า งานโชว์สี่วันจะมีโอเปอเรเตอร์และผู้ผลิตมาร่วมเกือบ 750 ราย ผู้ร่วมออกบูธ 2,000 ราย

เศรษฐกิจดิจิทัลสร้างจีดีพีโลก

รายงาน“ขับเคลื่อนการพัฒนา: ผลกระทบของการลงทุนด้านไอซีทีต่อเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่หัวเว่ยทำกับพันธมิตรเผยแพร่ในงานเอ็มดับเบิลยูซีพบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% มีแนวโน้มช่วยเพิ่มจีดีพีโลก 1% ในระยะยาว และเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นกว่า 50% ของจีดีพีโลกในปีนี้

รายงานระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีเศรษฐกิจดิจิทัลโตเร็วสุดตลอด 10 ปีข้างหน้า ตามด้วยอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก

รายงานฉบับนี้ทำขึ้นในเดือน ธ.ค.2565 สำรวจประชาชน 500 คนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นผู้บริหารบริษัท 400 คน ผู้กำหนดนโยบาย 50 คน และนักลงทุนสถาบันอีก 50 คนรวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศชั้นนำของโลก โอเปอเรเตอร์ที่รู้จักกันดีทั่วโลก และองค์กรใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญมากที่สุด

รายงานอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับผลที่มีต่อจีดีพีโลกว่า เมื่อการเชื่อมต่ออัพเกรดจากเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือไปสู่ระดับที่ก้าวหน้ากว่า (จาก 2จีไป3จี, จาก3จีไป4จี) ช่วยเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ราว 15%

“นี่เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าวิวัฒนาการการบูรณาการเครือข่ายจาก4จีไปสู่5จี และแม้แต่ 5.5จี จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพีได้อย่างไร ซึ่งเทคโนโลยี5จีจะช่วยหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล”

รายงานพบว่า การรับและใช้เทคโนโลยีมีสูงมาก เห็นได้จากการใช้เอไอ แมชีนเลิร์นนิง คลาวด์ และเอดจ์คอมพิวติงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก้าวหน้าทุกอย่างจำเป็นต้องมีเครือข่าย5จี เชื่อมต่อความเร็วสูงและเสถียร หรือก้าวหน้าไปกว่านั้นอย่าง 5.5จี

“ที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการลงทุนด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีจะมีจำกัด”

ปัจจุบันเทคโนโลยี5จี กำลังเป็นเทรนด์โลกอย่างชัดเจน คาดว่า ปี 2573 จะมีการเชื่อมต่อผ่านมือถือ 9.8 พันล้านครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการเชื่อมต่อ 5จี 5.3 พันล้านครั้ง ขณะที่สัดส่วนการเชื่อมต่อในระบบ 2จี, 3จี และ 4จีจะลดลง 5จีจะกลายเป็นกระแสหลัก โอเปอเรเตอร์ที่ให้ข้อมูล 91% กล่าวว่า ตอนนี้ให้ความสำคัญกับบริการเชื่อมต่อ5จี (ทั้งผ่านมือถือและบรอดแบนด์ไร้สาย)