‘ไทยเบฟ' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน 'ช้าง โคลด์ บรูว์' สู้ 'สิงห์'

‘ไทยเบฟ' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน 'ช้าง โคลด์ บรูว์' สู้ 'สิงห์'

'ไทยเบฟ' เดินหมากเสริมแกร่งตลาดเบียร์ จัดทัพ “ช้าง โคลด์ บรูว์” ตีโอบ “เบียร์สิงห์” หลัง “ช้าง คลาสสิก” พอร์ตใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดใกล้ “เบอร์1” ทุกขณะ พร้อมเปย์งบก้อนโตกว่า 1,000 ล้าน โฟกัสทำกิจกรรมกับเอเย่นต์ ลุยเจาะร้านค้าทั่วไปกว่า 4-5 แสนแห่งทั่วประเทศ

ตลาดน้ำเมาสีอำพัน “แสนล้าน” แข่งเดือด! “เบียร์ช้าง” เดินเกมไล่ล่าตำแหน่ง “ผู้นำ” อย่างต่อเนื่อง วางหมากรบ ปักธง ช้างคลาสสิค ลุยตลาดแมส สร้างการเติบโต ส่วนแบ่งตลาดเข้าใกล้ “เบอร์ 1” อย่าง “ลีโอ” ในรอบ 13 ปี

ล่าสุด เดินหมาก “ช้างโคลด์ บรูว์” เขย่า “สิงห์” ชิงคอทองแดงเซ็กเมนต์ “แมสพรีเมี่ยม”

3 ผู้บริหาร นำทัพโดย “เลสเตอร์ ตัน” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พร้อม 2 ขุนพล “ทรงวิทย์ ศรีธรรม” ผู้บริหารสำนักบัญชีและการเงิน และ “วุฒิพงษ์ หวังสันติธรรม” ผู้อำนวยการฝึกอบรมการขายและพัฒนาเอเย่นต์ แห่งเครือไทยเบฟเวอเรจ บอกเล่าแผนธุรกิจเพื่อผลักดันแบรนด์เบียร์ให้ขึ้นครองบัลลังก์เบอร์ 1 ภายในปี 2568 สอดคล้องกับ Passion to Win 2025 ของบริษัท

ปี 2566 บริษัทจะทำตลาดเบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์ เชิงรุกมากขึ้น เพื่อผลักดันสัดส่วนยอดขายให้แตะ 15% ของพอร์ตโฟลิโอเบียร์ช้างทั้งหมด จากปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมากเพียงอัตรา 1 หลักเท่านั้น ขณะที่เรือธงทำรายได้คือ “ช้างคลาสสิก”

การโฟกัสทำตลาดเบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์ จะเห็นการทุ่มงบก้อนโตกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่

1.ด้านผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ชอบดื่มแบบชิลๆ ไม่หนัก

2.สินค้านวัตกรรม มีบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ใส่เบียร์ได้ 25 กระป๋อง ถังขนาด 5 ลิตร

‘ไทยเบฟ\' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน \'ช้าง โคลด์ บรูว์\' สู้ \'สิงห์\'

ได้เวลารุกร้านค้าทั่วไป 4-5 แสนแห่ง

และ3.ด้านช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้า ที่จะขยายสู่ “ร้านค้าทั่วไป” มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก 4-5 แสนร้านค้า และเป็นช่องทางที่ทรงพลัง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง หากบริษัทเจาะตลาดใหญ่ได้ ย่อมทำให้สัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้น

ที่ผ่านมาเบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์โฟกัสการขายค่อนข้างจำกัดผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรมฯ หรือออนเทรดเป็นหลัก การจำกัดช่องทางจำหน่ายทำให้มีผลต่อการเติบโต

สำหรับงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท น้ำหนักส่วนใหญ่จะเทไปทำกิจกรรมกับ “ร้านค้าทั่วไป” เป็นหลัก บริษัทยังเสริมแกร่งการกระจายสินค้าผ่านหน่วยรถที่มีกว่า 1,500 คัน เจาะทุกพื้นที่ ยังมีพลังของ “เอเย่นต์” รายใหญ่ไม่ต่ำกว่า 300-400 ราย ช่วยต่อจิ๊กซอว์การเติบโตด้วย

‘ไทยเบฟ\' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน \'ช้าง โคลด์ บรูว์\' สู้ \'สิงห์\'

เราไม่เคยใช้เงินกับช้าง โคลด์ บรูว์มากนัก การทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินก้อนโตในรอบหลายปี ซึ่งเราจะใช้สัดส่วนใหญ่ลงไปยังช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากเบียร์ที่จำหน่ายในตลาด 80% จะอยู่ในช่องทางร้านค้าทั่วไป ตอนนี้เรากลับมาแล้ว และเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์ จะหาโอกาสโตผ่านร้านค้าทั่วไป จากที่ผ่านมาเราโฟกัสบางช่องทางเท่านั้น เช่น ออนเทรด และห้างค้าปลีกสมัยใหม่”

ตลาดเบียร์ปี 66 คึกคัก

เมื่อเบียร์ช้าง คลาสสิก จับตลาดแมส และเบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์ จับตลาดแมสพรีเมียม หากมองศักยภาพเซ็กเมนต์ดังกล่าว พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตราว 10%

ขณะที่ตลาดเบียร์โดยรวมมีมูลค่าระดับ “แสนล้านบาท” แบ่งเซ็กเมนต์เป็น แมส 81% แมสพรีเมียม 15% พรีเมียม 2% และอีโคโนมีหรือตลาดล่าง 2% หากเจาะพอร์ตโฟลิโอเบียร์ของไทยเบฟ มีสินค้าตอบสนองทุกตลาด เบียร์ช้างลคลาสสิกแข่งตลาดแมส ช้าง โคลด์ บรูว์ บุกแมสพรีเมียม เฟเดอร์บรอยสู้ศึกพรีเมียม และอาชาลงสนามอีโคโนมี

ตลาดเบียร์แมสพรีเมียม ส่งสัญญาณโตในระยะยาว “เลสเตอร์” มองเทรนด์ที่จะทรงอิทธิพลต่อตลาด ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มที่ตอบสนองการดื่มง่ายหรือชิลมากขึ้น ขณะที่แบรนด์ต่างๆจัดกิจกรรม คอนเสิร์ตเอาใจสายรีแล็กซ์ ชอบความชิลๆ สบายๆกันอย่างคึกคักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

‘ไทยเบฟ\' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน \'ช้าง โคลด์ บรูว์\' สู้ \'สิงห์\'

“มองว่าเทรนด์การบริโภคเบียร์ชิลๆ จะเติบโตในระยะยาว”

นอกจากนี้ ภาพรวมเบียร์แสนล้านปี 2566 จะเติบโตเช่นกัน แรงส่งเกิดจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ห้างร้านต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคออกไปทำงาน ใช้ชีวิต ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์นอกบ้านมากขึ้น ที่สำคัญอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดหมายเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น กระตุ้นการบริโภค

“มั่นใจตลาดเบียร์ปีนี้คักคัก แม้ภาวะเศรษฐกิจยังยากลำบาก แต่การท่องเที่ยวมีนักเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้น ส่วนผู้คนก็ออกจากบ้านไปใช้ชีวิต ร้านค้ากลับมาเปิด และจะมีเทศกาลสงกรานต์เป็นแรงส่งอีก ที่ผ่านมาการติดตามรายงานผลการขาย ตลาดเบียร์โตต่อเนื่องด้วย”

‘ไทยเบฟ\' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน \'ช้าง โคลด์ บรูว์\' สู้ \'สิงห์\'

ภาพรวมไตรมาส 1 ของไทยเบฟ(ปีงบประมาณ ต.ค.65-ก.ย.66) เบียร์สร้างยอดขาย 37,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% และยอดขายเชิงปริมาณเติบโต 4.5%

“การโฟกัสเบียร์ช้าง โคลด์ บรูว์ครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายพอร์ตเบียร์แมสพรีเมียมของช้างเป็น 15% ภายในปีนี้”

‘คาราบาว’ ผู้ท้าชิง ‘ช้าง-สิงห์’

ตลาดเบียร์ปี 2566 ยังมีความเคลื่อนไหวใหญ่ เมื่อมีผู้ท้าชิงหน้าใหม่เข้ามาอย่าง “คาราบาวกรุ๊ป” ที่ประกาศจะส่งสินค้าเข้าตีตลาดด้วย หลังจากทำเครื่องดื่มชูกำลังมานาน 20 ปี ปั้นแบรนด์ “คาราบาวแดง” ประสบความสำเร็จ และยังมีธุรกิจ “สุรา” ภายใต้อาณาจักร จิ๊กซอว์ต่อไปคือเบียร์ จะเสริมพอร์ตโฟลิโอ และสร้างอำนาจต่อรองการขายผ่านช่องทาง “ออนเทรด”

แหล่งข่าวจากไทยเบฟ กล่าวว่า สำหรับทุกผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดเบียร์เป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ ยิ่งเป็น “คาราบาวกรุ๊ป” ที่สร้างความสำเร็จในการทำเครื่องดื่มชูกำลังและสุราด้วย

‘ไทยเบฟ\' เร่งเกมขึ้นผู้นำเบียร์ เท 1,000 ล้าน ดัน \'ช้าง โคลด์ บรูว์\' สู้ \'สิงห์\'

ขณะที่ “ผู้นำ” อย่างบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่มีเบียร์ในพอร์ตโฟลิโอหลากหลาย เช่น สิงห์ เจาะตลาดพรีเมียม และลีโอเป็นเบอร์ 1 ในตลาดแมส เมื่อข้อมูลที่ไทยเบฟรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระบุส่วนแบ่งการตลาดเข้าใกล้คู่แข่งมากขึ้น ทำให้ปีนี้เห็นความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 แบรนด์ค่อนข้างคึกคัก

อย่างเบียร์สิงห์ มีการออกฉลากใหม่ 4 แบบ ซึ่งเป็นยุคการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ของแบรนด์ คือปี 1933 หรือปี 2476 จุดเริ่มต้น ตามด้วยปี 1957 ปี 1990 และ ปี 2018 ส่วนผลิตภัณฑ์ลีโอ มีการร่วมมือกับร้านมัลติแบรนด์ดังจากประเทศญี่ปุ่น ATMOS ออกคอลเล็กชั่นแนวสตรีทลายเสือดาว โดยมีผู้บริหารทั้ง "ภูริต ภิรมย์ภักดี" ซีอีโอของบุญรอดบริวเวอรี่ แม่ทัพการตลาด "ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล" ใส่เสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ พร้อมเป็นนายแบบถ่ายภาพลงบนสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง