BA ขาดทุน 2,125 ล้านบาทปี 65 ชี้สัญญาณบวกรายได้โต 125% รับเที่ยวไทยคัมแบ็ค!

BA ขาดทุน 2,125 ล้านบาทปี 65 ชี้สัญญาณบวกรายได้โต 125% รับเที่ยวไทยคัมแบ็ค!

“บางกอกแอร์เวย์ส” หรือ BA เผยผลประกอบการปี 2565 ขาดทุน 2,125.9 ล้านบาท ชี้สัญญาณบวก ขาดทุนลดลง 75.3% จากรายได้รวม 12,742.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 มียอดผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน รับท่องเที่ยวไทยคัมแบ็ค

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) เปิดเผยว่า จากทิศทางของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 โดยมียอดจำนวนผู้โดยสารนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยสะสมรวมกว่า 5.4 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปี 2565
บริษัท มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 394.8 และมีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 76.1 มีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3,150.8 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.7 โดยในภาพรวมเป็นไปตามคาดการณ์

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัท มีรายได้รวมเท่ากับ 12,742.1 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารร้อยละ 609.8 รายได้จากธุรกิจสนามบินร้อยละ 465.4 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินร้อยละ 71.6 มีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.0 จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและค่าบริการผู้โดยสารเป็นหลัก

ปี 2565 บริษัทเปิดให้บริการเส้นทางบินทั้งหมด 24 เส้นทาง ประกอบไปด้วยเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทาง และ เส้นทางบินระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง โดยบริษัทได้ทยอยปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีปริมาณความต้องการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ กรุงเทพฯ - สมุย, กรุงเทพฯ - เชียงใหม่, กรุงเทพฯ - พนมเปญ และสมุย - สิงคโปร์ รวมถึงการกลับมาให้บริการปฏิบัติการบินในเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ส่งผลให้มีปริมาณที่นั่งจำนวน 3.4 ล้านที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 40.4 ของช่วงปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 โดยบริษัท ย่อยได้จัดตั้งกองทรัสต์ และนำทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT) เข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกันยายน 2565

บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สอดรับต่ออุปสงค์การเดินทางของผู้โดยสาร และตอกย้ำในปณิธานความเป็นผู้นำธุรกิจสายการบินระดับภูมิภาค ซึ่งล่าสุดบริษัท ได้รับรางวัลสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก และสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2565 และได้รับการจัดอันดับที่ 23 สาขาสายการบินยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2565 จากการประกาศผลของสกายแทรกซ์ เวิลด์ แอร์ไลน์ อวอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากวงการธุรกิจการบินนานาชาติ

บริษัท ตระหนักถึงการดำเนินการด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม พลังงาน ผ่านนโยบาย และการจัดการของบริษัท ส่งผลให้สนามบินสมุย และสนามบินตราด ได้รับรางวัล สนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport) ประจำปี 2564 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงการดำเนินงานภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร จึงนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาวะที่ท้าทาย อีกทั้งบริษัท ยังเล็งเห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านช่างอากาศยานให้มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนเพื่อให้การสนับสนุน และยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้สามารถก้าวไกลทัดเทียมสากล

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์