"วีเอฟเอส" ชี้เทรนด์ทัวริสต์ยื่นขอวีซ่า บริการ "ส่วนบุคคล" มาแรง!

"วีเอฟเอส" ชี้เทรนด์ทัวริสต์ยื่นขอวีซ่า บริการ "ส่วนบุคคล" มาแรง!

“วีเอฟเอส โกลบอล” (VFS Global) ผู้บริหารจัดการศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า ลุยดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2566 มุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก ทั้งการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน สุขภาพและความปลอดภัย และโซลูชันส่วนบุคคลสำหรับลูกค้า

ปัจจุบัน “วีเอฟเอส” ในประเทศไทยมีสาขาที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต นอกเหนือจากการให้บริการ eVOA” (e-Visa on Arrival หรือการทำวีซ่าสำหรับเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยาน ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่) และ eExtension” แล้ว เครือข่ายศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า (VAC) ของวีเอฟเอสในพื้นที่ดังกล่าว สามารถรองรับการยื่นขอวีซ่าจากรัฐบาลประเทศต่างๆ กว่า 21 แห่ง เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย เลบานอน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และยูเครน

เกาชิค กอช หัวหน้าภูมิภาคออสเตรเลียเอเชีย วีเอฟเอส โกลบอล เล่าว่า "วีเอฟเอส โกลบอล" เห็นความต้องการบริการจำนวนมากที่นำมาใช้ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น บริการตรวจสอบเอกสารผ่านดิจิทัล (Digital Document Check) บริการยื่นคำร้องขอวีซ่าผ่านออนไลน์ (Digital Application Services (DAS) บริการส่งวีซ่าให้ถึงบ้าน (Visa at Your Doorstep (VAYD) และอื่นๆ ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์แบบไร้สัมผัสในลักษณะที่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ บริการ VAYD ที่ช่วยให้ยื่นคำร้องขอวีซ่าแบบครบวงจร รวมถึงการยื่นแบบไบโอเมตริกที่บ้าน หรือที่ทำงานของลูกค้า เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดหลังเกิดโรคระบาด

สำหรับแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวโลกในปี 2566 มองว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นเล็กน้อยเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเดินทางในช่วงหลังการแพร่ระบาด ประการแรกคือนักท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย การตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งจุดประกายความต้องการบริการดิจิทัลที่ยืดหยุ่น และบริการแบบไร้การสัมผัส

“ข้อพิสูจน์ถึงแนวโน้มดังกล่าวคือ การบริการส่วนบุคคลได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น บริการส่งคำร้องขอวีซ่าจากที่บ้าน สำนักงาน หรือสถานที่อื่นๆ ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดยความต้องการบริการส่วนบุคคลจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5 เท่าในปี 2565 และ 3 เท่าในปี 2564” 

บวกกับแนวโน้มการเดินทางทั่วโลกที่กำลังมาแรงอย่าง Revenge Travel” หรือ “เที่ยวไปให้หายแค้น” หลังจากถูกล็อคดาวน์ด้วยโควิด-19 มานาน ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ และยกเลิกข้อจำกัดสำหรับการเดินทางต่างประเทศ สังเกตเห็นถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ด้วยบริบทนี้ บริการต่ออายุวีซ่า e-Extension ของไทยจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวในการต่อวีซ่าได้ด้วยความสะดวกและง่ายขึ้น อีกทั้งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขยายเวลาการพำนักในประเทศไทยได้นานขึ้นอีกด้วย ยังถือเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวและสร้างแรงดึงดูดการใช้เวลาวันหยุดได้มากขึ้นทั้งยังช่วยขับเคลื่อนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวตามแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยเมื่อเดือน ต.ค. 2565 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกับวีเอฟเอส โกลบอล เปิดตัวระบบการขออนุญาตเพื่ออยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวรูปแบบใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ หรือ “e-Extension” สำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบโดย วีเอฟเอส โกลบอล แพลตฟอร์มบริการดังกล่าวมีข้อดีหลายประการ ผู้ใช้บริการสามารถยื่นสมัครออนไลน์และชำระเงินค่าธรรมเนียมทางออนไลน์ที่ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องส่งหนังสือเดินทาง และประหยัดเวลา ขั้นตอนอนุมัติรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ไม่จำเป็นต้องมีสำเนาเอกสาร หรือพกเงินสดไปดำเนินการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกต่อไป

บริการใหม่นี้จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักเดินทางเป็นก้าวแรกในการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเดินทางที่มีความปลอดภัย หลังสังเกตเห็นพฤติกรรมการของนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ความต้องการบริการดิจิทัลส่วนบุคคลมีเพิ่มมากขึ้น และเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเดินทางใน “ยุคนิวนอร์มอล”

“เมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังของนักท่องเที่ยวแล้ว ทำให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากจะเลือกใช้บริการต่อวีซ่าทางออนไลน์ใหม่นี้ และคาดหวังว่าผลที่จะตามมาคือการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวแบบทวีคูณ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของไทย ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือผลระยะยาว เช่น การสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นในไทย โดยปัจจุบัน วีเอฟเอส มีพนักงานมืออาชีพประมาณ 275 คนในประเทศไทย”

นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ วีเอฟเอส โกลบอล ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ e-Visa On Arrival (e-VOA) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการสำหรับผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์ที่ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) และอีก 14 ประเทศ ผู้โดยสารของสายการบินที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย และจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ www.thaiairways.com จะได้รับลิงก์เชื่อมโยงมาสมัคร e-Visa On Arrival บนเว็บไซต์ของ VFS Global ได้อย่างสะดวกสบาย