'กระทิงแดง' สูตรคลาสสิคขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท มีผล 1 มี.ค. 66

'กระทิงแดง' สูตรคลาสสิคขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท มีผล 1 มี.ค. 66

ในที่สุด ก็ขึ้นราคา "กระทิงแดง" ปรับราคาสูตรคลาสสิคขาย 12 บาท ส่วนสูตรเอ็กซ์ตร้า ผสมวิตามินเอ บี ซี และสูตรอื่นยังกัดฟันตรึงราคาเดิม 10 บาท

กระทิงแดง แบรนด์เครื่องดื่มให้พลังงานระดับโลก ประกาศปรับราคาขายปลีกเฉพาะ “กระทิงแดง สูตรคลาสสิค” จาก 10 บาท เป็น 12 บาท เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 การปรับราคาครั้งนี้เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนกระทิงแดงสูตรอื่น ๆ ยังคงตรึงราคาเดิม 10 บาท ได้แก่ กระทิงแดง เอ็กซ์ตร้า เอบีซี, กระทิงแดง เอ็กซ์ตร้า ซิงค์ และทีโอเปล็กซ์ – แอล และยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้าไว้เหมือนเดิมทุกประการ

นางประไพภักตร์ ไวเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโกลบอล (F&B) กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า กระทิงแดงมีความพยายามในการตรึงราคาเครื่องดื่มในราคาเดิมให้นานที่สุด แต่จากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาเฉพาะ “กระทิงแดง สูตรคลาสสิค”

"เราจะปรับราคาสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยกระทิงแดงในอีก 3 สูตรยังคงราคาเดิมไว้ที่ 10 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค”

กระทิงแดง

"กระทิงแดง" ย้ำกันชัดๆสูตรไหนขึ้นราคา สูตรไหนกัดฟันตรึงราคาไว้

สำหรับกระทิงแดง ขวดแก้ว มีให้เลือกทั้งหมด 4 สูตร ได้แก่กระทิงแดง คลาสสิค: เครื่องดื่มให้พลังงานผสมวิตามินบี 12  วิตามินบี 6 สูง มีทอรีน 800 มิลลิกรัม(มก.) กระทิงแดง เอ็กซ์ตร้า เอบีซี (ฝาแดง) เครื่องดื่มให้พลังงานผสมวิตามินเอสูง วิตามินซีและวิตามินบี 12 สูง มีทอรีน 800 มก.

ส่วนกระทิงแดง เอ็กซ์ตร้า ซิงค์ (ฝาดำ)  เครื่องดื่มให้พลังงานผสมซิงค์สูง สังกะสี มีวิตามินบี 12 สูง มีทอรีน 800 มก. และสูตรทีโอเปล็กซ์ – แอล (กระทิงแดงขวดเล็ก) เครื่องดื่มให้พลังงานรุ่นแรกของกระทิงแดง มีวิตามินบี 6 และมีทอรีน 850 มก.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังหมื่นล้านบาท แบรนด์แรกที่ขยับราคาก่อนใครคือ "เอ็ม-150"(M-150) ของค่ายโอสถสภา ที่ปรับจากขวดแก้วราคา 10 บาท เป็น 12 บาท แต่กลับทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง และบริษัทต้องออกสินค้าราคา 10 บาทตัวใหม่ เพื่อเป็นการแก้เกม

นอกจาก "กระทิงแดง" อีกบิ๊กแบรนด์ที่ต้องการขึ้นราคาคือ "คาราบาวแดง" เนื่องจากแม่ทัพใหญ่ระบุการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงสุด ทั้งราคาน้ำตาลพุ่ง ขวดแก้วแพงจากค่าพลังงานสูง รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมด้วย