“เอสเอ็มอี” ในโลกยุคใหม่

“เอสเอ็มอี” ในโลกยุคใหม่

ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมีหลายเจ้าที่ประสบความสำเร็จ แม้จะก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาดมาได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องสะดุ้ง เช่น การเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่อาจทำให้เอสเอ็มอีบางเจ้าต้องสะดุดหยุดลง

ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก หรือ กลุ่มเอสเอ็มอี เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย เอสเอ็มอี นับเป็นธุรกิจที่ร่วมขับเคลื่อนประเทศ เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในภาพรวมของธุรกิจประเทศไทย ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีหลายรายพัฒนากิจการจนประสบความสำเร็จ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทยหลายๆ คน จากเอสเอ็มอี ก้าวสู่บิ๊กคอร์ป ก็มีให้เห็นมากมาย กลับกัน เอสเอ็มอีที่ล้มเหลว ไม่สามารถนำพาธุรกิจไปสู่หมุดหมายที่ตั้งไว้ ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

หลังผ่านพ้นวิกฤติ โควิด-19 มา แนวโน้มและโอกาสการเติบโตเอสเอ็มอีในประเทศไทย “ยังมี” ค่อนข้างมาก ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม โลกพูดถึงโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ความพร้อมของเอสเอ็มอีไทย ในการขยายธุรกิจ ส่งสินค้าออกไปขายในแถบยุโรป หรืออเมริกาได้ ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การทำคาร์บอน เครดิต เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นแปลว่า จากนี้ไป เอสเอ็มอี ต้องปรับตัวตามโลก ให้ความสำคัญการทำธุรกิจแบบ BCG มากขึ้น

แต่เอสเอ็มอีไทย ยังต้องเผชิญหลากหลายอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ก้าวกระโดดเหมือนในต่างประเทศ ข้อจำกัดหลายอย่างที่เอสเอ็มอีในไทยเจอ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ การปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก และเมื่อไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ เอสเอ็มอีต้องหันไปพึ่งดอกเบี้ยที่สูง ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทย ยังต้องเจอการกู้เงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10% ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ย 4% เท่านั้น

การปรับตัวไม่เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอี ที่จะขึ้นเวทีต่อสู้ในโลกที่ขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรง อย่างเรื่อง BCG ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ กลับพบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่ค่อยเข้าใจโมเดล BCG มากพอ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายเล็กๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อจากนี้ คือ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องของ BCG มากขึ้น เพราะอนาคตจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้มหาศาล รวมไปถึงเทรนด์การทำธุรกิจที่นับจากนี้ จะเน้นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โลกที่เปลี่ยนไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม ส่งผลให้เกิดปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย ต้นทุนพลังงานค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลงเรื่อยๆ พฤติกรรมตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วน ท้าทาย เอสเอ็มอีเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เอสเอ็มอี ต้องปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ต ปักหมุดแนวทางธุรกิจที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยน ดึงเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ สร้างทักษะที่ทรงพลังให้พนักงานในองค์กร ปรับตัวให้ไว พร้อมรับได้ทุกสถานการณ์​