ข้อสัญญาเหตุสุดวิสัย และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ข้อสัญญาเหตุสุดวิสัย และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ข้อสัญญาที่บริษัทหลาย ๆ บริษัทต้องเปิดกลับมาดูกันว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร คงหนีไม่พ้นข้อสัญญาเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า force majeure 

หากย้อนไปดูที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 8 กำหนดนิยาม "เหตุสุดวิสัย" ว่า "เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น"

และใน ป.พ.พ. มาตรา 219 กำหนดว่า "ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น…"

ข้อสัญญาเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัย จะเป็นเหมือนหลักการตาม ป.พ.พ. มาตรา 219  คือ จะเป็นข้อสัญญาที่สามารถทำให้ การที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือปฏิบัติตามสัญญาล่าช้า  ไม่ถือว่าผิดสัญญาหรือมีความรับผิด

ข้อสัญญาเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัยส่วนมาก จะมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ไฟไหม้ การนัดหยุดงาน สงคราม การก่อการร้าย การจลาจล  ความวุ่นวายทางการเมือง การ ระบาดของโรคติดต่อ ข้อจำกัดการเดินทาง การขาดแคลนวัตถุดิบ

ข้อสัญญาเหตุสุดวิสัย และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ในช่วงการระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 นั้น มีคดีความที่มีประเด็นการตีความเรื่องความหมายของเหตุสุดวิสัยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 หรือนโยบายของภาครัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น

ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ฝ่ายคู่สัญญาที่ได้รับผลกระทบ สามารถอ้างเพื่อจะปฏิเสธไม่ต้องรับผิดชอบ จากการที่ตนไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติตามสัญญาล่าช้าหรือไม่ ถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาลในหลาย ๆ ประเทศ  

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้วยังมีเรื่องของเรือเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ปิดทางเดินเรือทำให้การขนส่งทางทะเลติดขัด และเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งสินค้าข้ามประเทศซึ่งกระทบหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเป็นวงกว้าง

ข้อสัญญาเหตุสุดวิสัย และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ล่าสุดข้อสัญญาเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัยกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน อีกทั้งในปัจจุบัน สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกานั้น

ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ บริษัทต้องกลับมาดูข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยในสัญญาของตนเองว่า เหตุสุดวิสัยนั้นรวมถึงอะไรบ้างและไม่รวมถึงอะไรบ้างและมีความครอบคุลมที่พอเพียงหรือยัง

หนังสือพิมพ์ Nikkei ของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการสำรวจเรื่องการตรวจทานและแก้ไขข้อสัญญาจากมุมมองความเสี่ยงเรื่องการลงโทษและตอบโต้ทางเศรษฐกิจ บริษัทกว่าร้อยละ 20 ให้คำตอบว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจทานปรับเปลี่ยนข้อสัญญาโดยพิจารณาจากมุมความเสี่ยงด้านการลงโทษและตอบโต้ทางเศรษฐกิจ

และมีบริษัทกว่าร้อยละ 17 ที่บอกว่า กำลังอยู่ในระหว่างตรวจทานปรับเปลี่ยนข้อสัญญาหรือมีแผนที่จะตรวจทานข้อสัญญาจากมุมความเสี่ยงด้านการลงโทษและตอบโต้ทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขข้อสัญญานั้น ส่วนใหญ่จะมีการแก้ไขข้อสัญญาเพื่อเพิ่มเรื่องการใช้นโยบายการลงโทษทางเศรษฐกิจ ให้นับเป็นส่วนหนึ่งของเหตุสุดวิสัยด้วย

ข้อสัญญาเหตุสุดวิสัย และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มคำรับรองในสัญญาว่าคู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่ได้เป็นบริษัทที่อยู่ใน sanction list และการเพิ่มคำรับรองในสัญญาว่าไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับกิจการทางทหารในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

ในส่วนของที่มาของความกังวลด้านความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น ลำดับแรกเป็นเรื่องสถานการณ์ในรัสเซีย และรองลงมาจะเป็นเรื่องความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกาและจีน และลำดับที่สามเป็นเรื่องของสถานการณ์ของจีนและไต้หวัน

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาร้อนระอุและมีการพัฒนาการอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง ผู้ประกอบธุรกิจควรพิจารณาตรวจทานสัญญาของตัวเองอีกครั้งว่าข้อสัญญาที่มีอยู่นั้นป้องกันความเสี่ยงในส่วนนี้ไว้ดีพอหรือไม่

คอลัมน์ Business&Technology Law 
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล 
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น
[email protected]