สมาคมโรงแรมไทย วอนนายกฯใหม่ กำกับ "ท่องเที่ยว" โดยตรง ยกเป็น "วาระแห่งชาติ"

สมาคมโรงแรมไทย วอนนายกฯใหม่ กำกับ "ท่องเที่ยว" โดยตรง ยกเป็น "วาระแห่งชาติ"

“สมาคมโรงแรมไทย” แนะนายกฯ คนใหม่เร่งเกียร์เศรษฐกิจไทย วอนดูแลกำกับ “ภาคท่องเที่ยว” โดยตรง ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” บูรณาการความร่วมมือทุกกระทรวง ย้ำไทยเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก รับการเติบโตก้าวกระโดด เป้าทัวริสต์ต่างชาติ 80 ล้านคนเทียบเท่า “ฝรั่งเศส” ใน 5 ปีข้างหน้า

วานนี้ (9 ก.พ.) บนเวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย Economic Drives #เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” จัดโดย โพสต์ทูเดย์ x เนชั่นกรุ๊ป ตัวแทนภาคเอกชนร่วมสะท้อนศักยภาพการเติบโตและแนวทางการขับเคลื่อนภาคธุรกิจหลักของเศรษฐกิจไทยให้โดดเด่นบนเวทีโลก ในหัวข้อ Gear Up กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

 

++ วอนนายกฯคนใหม่กำกับ ‘ท่องเที่ยว’ โดยตรง

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ดึงภาคการท่องเที่ยวมากำกับดูแลเอง และให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทย เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนถึง 39.9 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

โดยปี 2565 มีจำนวน 11.5 ล้านคน ฟื้นตัว 29% ขณะที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.3 ล้านคน ฟื้นตัว 33% เมื่อเทียบกับจำนวน 19 ล้านคนของปี 2562 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 50% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย เรียกว่าน่าดูเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่โดดเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made Attraction)

ตอนนี้ประเทศไทยถูกจารึกบนแผนที่โลกในฐานะเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก กรุงเทพฯเองก็มีชื่อเสียงเหมือนนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว จึงอยากให้ภาคท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติของทุกกระทรวง เพราะภาคท่องเที่ยวสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ถึงระดับฐานราก มีศูนย์กลางการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ให้เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกันวางกลยุทธ์สอดรับการเติบโต ล่าสุดทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มเป็น 80 ล้านคน เท่าๆ กับในประเทศฝรั่งเศส หรือเติบโตเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด”

 

++ จี้เพิ่มขีดแข่งขัน หลัง ‘ปลอดภัย-สิ่งแวดล้อม’ รั้งท้าย

พร้อมรับมือความท้าทายมากมายที่ยังรออยู่ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านท่องเที่ยว โดยจากการจัดอันดับของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ล่าสุดเมื่อปี 2564 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 36 จาก 117 ประเทศทั่วโลก แม้อันดับในภาพรวมจะไม่ได้เลวร้าย แต่สิ่งที่ภาคท่องเที่ยวไทยสามารถพัฒนาได้ คือเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่อันดับ 92 เรื่องการให้ความสำคัญแก่ภาคท่องเที่ยวจากภาครัฐอยู่อันดับ 88 นอกจากนี้เรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับ 97 นี่คือเรื่องที่อันดับของประเทศไทยไม่ค่อยดีนัก

 

++ หนุนแข่งขันเท่าเทียม เจาะตลาดคุณภาพ

อีกความท้าทายของภาคท่องเที่ยวไทยคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัจจุบันแรงงานภาคท่องเที่ยวชาวไทยกำลังไหลออกไปต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนออกจากระบบหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แล้วไม่กลับมา ด้วยการเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันต้องการให้ภาครัฐแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมที่พัก ซึ่งมีทุกระดับตั้งแต่ที่พักในชุมชนจนถึงโรงแรม 6 ดาว เพื่อยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้อยู่ในกฎเกณฑ์เท่าเทียมกัน จากการแข่งขันของซัพพลายล้นตลาด หลังธุรกิจให้เช่าบ้านพักที่เสนอขายผ่านแพลตฟอร์ม แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) เข้ามาในตลาด

ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก การจัดสรรเงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ค่าเหยียบแผ่นดิน) อัตรา 300 บาทต่อคนที่จะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่ 1 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวในการพัฒนาขีดความสามารถ และการรวบรวมดาต้าแบบเรียลไทม์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนทำตลาด คาดการณ์นักท่องเที่ยวในอนาคต

“ภาครัฐมักจะพูดเสมอว่าต้องพัฒนาภาคการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ มองว่าตลาดแห่งโอกาสคือการขยายฐานกลุ่มนักเดินทางไมซ์ (MICE : การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Medical & Wellness Tourism) กลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาว รวมถึงกลุ่มดิจิทัลนอแมด หรือ รีโมตเวิร์กเกอร์ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในมุมโลก รวมถึงการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวทางเรือครุยส์ และการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น”