จับตาอนาคต“ติ๊กต็อก” หลังสหรัฐห้ามหน่วยงานราชการทั่วปท.ใช้

จับตาอนาคต“ติ๊กต็อก” หลังสหรัฐห้ามหน่วยงานราชการทั่วปท.ใช้

วันที่ 23 มี.ค.นี้ "โซว จื่อ โจว" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของติ๊กต็อกจะเข้าให้การกับคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ(อีแอนด์ซี) เกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของแอปพลิเคชันติ๊กต็อก

รวมถึงความสัมพันธ์ของติ๊กต็อกกับรัฐบาลจีนผ่านทางไบต์แดนซ์ซึ่งเป็นบริษัทแม่

เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า คณะกรรมการอีแอนด์ซี ประกาศเกี่ยวกับการไต่สวนดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) โดยระบุว่า โจวจะเข้าให้การกับคณะกรรมการสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก

ด้าน“แคธี แมคมอร์ริส ร็อดเจอร์ส” สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐวอชิงตันและเป็นประธานของอีแอนด์ซี ระบุว่า “ติ๊กต็อกที่มีไบต์แดนซ์เป็นเจ้าของอนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันได้ และชาวอเมริกันมีสิทธิ์รับรู้ว่าการกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการที่ติ๊กต็อกจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องเยาวชนของพวกเราให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์”

ขณะที่โฆษกของติ๊กต็อก ระบุว่า พวกเขายินดีที่จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับติ๊กต็อก, ไบต์แดนซ์ และพันธสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมการอีแอนด์ซีที่จะดำเนินการเพื่อขจัดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ

แต่โฆษกระบุว่า ข้อกล่าวหาของร็อดเจอร์สที่ว่า ติ๊กต็อกได้เผยแพร่ข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ล่าสุด วานนี้ (31ม.ค.)คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ วางแผนที่จะลงมติห้ามใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกทั่วสหรัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่ง“ไมเคิล แมคคัล” ประธานคณะกรรมาธิการจากพรรครีพับลิกัน บอกว่า ติ๊กต็อกจะทำให้รัฐบาลจีนมีช่องที่จะเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่อยู่ในสมาร์ตโฟนของชาวอเมริกัน

ขณะนี้หน่วยงานราชการในสหรัฐถูกห้ามดาวน์โหลดติ๊กต็อกลงมาติดตั้งในอุปกรณ์ของรัฐบาล แต่ประชาชนทั่วไปยังสามารถใช้ แอปนี้ได้ตามปกติ ซึ่งในสหรัฐมีผู้ใช้งานติ๊กต็อกประมาณ 100 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น 

หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐมองว่า ติ๊กต็อกเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์หรือหวังผลทางการเมืองให้ผู้ใช้งานในสหรัฐได้ดู หรือการล้วงข้อมูลสำคัญ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลด้านสุขภาพ
 

บริษัทผู้พัฒนาติ๊กต็อกยืนยันว่า บริษัทไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้ และรัฐบาลจีนไม่เคยเข้ามาแทรกแซงหรือควบคุมการทำงานของติ๊กต็อก และพยายามที่จะอธิบายเรื่องนี้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการตั้งข้อสงสัยจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐได้

นอกจากนี้ “เบรนแดน คารร์” สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการสื่อสารของสหรัฐ (เอฟซีซี) เรียกร้องให้กูเกิล เจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ แอ๊ปเปิ้ล ผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการไอโอเอส ถอดแอพพลิเคชั่นติ๊กต็อก ออกจากแพล็ตฟอร์ม รวมถึงไม่ให้ดาวน์โหลดในแอปสโตร์ด้วย โดยระบุว่าติ๊กต็อกกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมของจีน

ทั้งยังกดดันทั้งสองบริษัทโดยให้เวลาพิจารณาถอดติ๊กต็อกออก จนถึงวันที่ 8 ก.ค.หากยังไม่มีการถอดออกตามคำร้อง ทั้ง 2 บริษัทต้องเข้าชี้แจงว่าทำไมถึงไม่ถอด และยังส่งจดหมายถึง ‘นายซุนดาร์ พิไช’ ซีอีโอกูเกิล และ ‘นายทิม คุ๊ก’ ซีอีโอแอ๊ปเปิ้ล โดยในจดหมายอธิบายว่า ติ๊กต็อก เป็นภัยต่อความมั่นคงต่อชาวอเมริกัน เพราะข้อมูลต่างๆ จะถูกสอดแนมโดยรัฐบาลจีน

ก่อนหน้านี้ วุฒิสภาสหรัฐลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจาก"จอช ฮอว์ลีย์" สมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งว่าด้วยการห้ามไม่ให้พนักงานของรัฐใช้ติ๊กต็อกบนอุปกรณ์ของรัฐบาล ถือเป็นการดำเนินการปราบปรามบริษัทจีนครั้งล่าสุด ท่ามกลางความวิตกกังวลด้านความมั่นคงของชาติ

นอกจากนี้ การห้ามใช้ติ๊กต็อกยังถูกบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่า 1.66 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐสามารถดำเนินงานไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.ปี 2566 โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรอง