สภาพนิติบุคคลของบริษัทร้าง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

สภาพนิติบุคคลของบริษัทร้าง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท จะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการถอนทะเบียนบริษัทร้าง โดยบัญญัติไว้ที่ส่วนที่ 11 การถอนทะเบียนบริษัทร้าง เมื่อมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22

โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 ได้ยกเลิกบทบัญญัติส่วนที่ 11 การถอนทะเบียนบริษัทร้างเดิม และเพิ่มใหม่ เป็นหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทร้าง มาตรา1273/1 ถึงมาตรา1273/ 4

หลักการของหมวด 6 ที่เพิ่มขึ้นใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ นอกเหนือจากการเพิกถอนทะเบียนบริษัทที่ไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการงานแล้ว เพิ่มการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ไม่ได้ค้าขายหรือประกอบกิจการแล้วด้วย

การพิจารณาว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการแล้ว ถือตามแนวปฏิบัติเดิม คือมิได้ส่งงบการเงิน 3 ปีติดต่อกัน

นอกจากนี้เพิ่มบทบัญญัติให้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนสำหรับห้างหุ้นส่วนบริษัทที่เลิกกันแล้วอยู่ระหว่างการชำระบัญชี แต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชี

หรือการชำระบัญชีแล้วเสร็จแล้วแต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการชำระบัญชีที่เสร็จสิ้นแล้ว หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีด้วย

เมื่อนายทะเบียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กำหนดในมาตรา 1273/1 หรือ 1273/2 และเมื่อสิ้นเวลาตามที่กำหนดในมาตราดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น

นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกจากทะเบียนได้ ในทางปฏิบัติจะมีการประกาศรายชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาด้วย

บทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาทำให้สถานะของห้างหุ้นส่วนบริษัทร้างมีความชัดเจนมากคือ เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกจากทะเบียน ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น เป็นอันสิ้นสภาพนิติบุคคลนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน

แต่ถ้าบุคคลใดหรือเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนบริษัทนั้นต้องเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นถูกขีดชื่อออก ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนสู่ทะเบียนได้

และเมื่อศาลสั่งให้กลับคืนสู่ทะเบียนแล้ว ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมอันใกล้เคียงที่สุดกับฐานะเดิม เสมือนไม่เคยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย โดยศาลจะวางกำหนดหรือเงื่อนไขก็ได้ ทั้งนี้ต้องร้องขอภายในสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนให้ขีดชื่อออก

สภาพนิติบุคคลของบริษัทร้าง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

  • ผลของการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทช่วงที่เป็นบริษัทร้าง

การดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่เป็นบริษัทร้าง ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้กลับคืนสู่ทะเบียน มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ ที่ถือเป็นแนวบรรทัดฐานได้คือ

  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558

วินิจฉัยว่า ป.พ.พ.มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2551

บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้ง เมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน

เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 ส.ค.2554) ศาลยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2554 

และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่

  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2559

วินิจฉัยว่า การที่ศาลแพ่งสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียน แม้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะมีบทบัญญัติ ให้ถือว่าบริษัทจำเลยยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใดๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทและบรรดาบุคคลอื่นๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนว่าบริษัทจำเลยคงอยู่ตลอดมานั้น ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่ง 

แต่เมื่อในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ศาลแพ่งยังมิได้มีคำสั่ง จำเลยจึงไม่มีสภาพบุคคล นอกจากนี้เมื่อได้ความว่าโจทก์เองเป็นผู้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร

จดชื่อจำเลยคืนเข้าสู่ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทก็เพื่อที่จะมาดำเนินคดีล้มละลายแก่จำเลย ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลแพ่งมีคำสั่งก่อนแล้วค่อยไปดำเนินการฟ้องคดีล้มละลาย 

ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยที่โจทก์มิได้มีคำขออย่างใดเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ และคำสั่งศาลแพ่งไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งและข้อกำหนดใดๆ ที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าในขณะฟ้องคดีนี้จำเลยมีสภาพนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2564 

วินิจฉัยว่า ขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนา แม้จะมีผู้ลงชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ

แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว แจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2564 

วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วตามความในมาตรา 1273/3 จำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 2 ออกเสียจากทะเบียน

โจทก์ยื่นฟ้องในวันเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น ขณะฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้