BCG โมเดลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์     

BCG โมเดลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง | สกล  หาญสุทธิวารินทร์     

การประขุมสุดยอดผู้นำเอเปค ปี 2565 ที่กรุงเทพ ระหว่างวันที่16-18 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดลงไปแล้ว ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองปฏิญญาเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok Goals) ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG

แนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว  เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการทำงานพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่เผยแพร่อยูบนเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สรุปความเป็นมาของ BCG

คือ BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแนวคิดพื้นฐานคือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ3รูปแบบไปพร้อมกัน คือ B เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างฯกลับมาใช้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง B และC ต้องอยู่ภายใต้ G คือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ซึ่งรัฐบาลได้นำไปใช้เป็นแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

มีการตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular -Green Economy:BCG Model) และคณะคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 325/2563 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2563

เพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนฯ และจัดทำแผนงานขับเคลื่อน ฯ   และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสาขาต่างฯ รวม 11คณะ

                ตัวอย่างเศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการดำเนินการแล้ว

               การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช

                 การผลิตเอทานอล  มีพืชหลายชนิดที่สามารถใช้ผลิตเอทานอลได้ เช่นพืชที่ใช้ผลิตน้ำตาล  ได้แก่อ้อย พืชประเภทแป้ง เช่นข้าว  หัวมันสำปะหลังมันฝรั่ง   ที่น่าสนใจคือ การใช้มันสำปะหลัง ที่บางฤดูกาลมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ผลิตเอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วยพยุงราคามันสำปะหลังได้

นอกจากนี้ยังสามารถนำของเหลือจากการผลิตน้ำตาล คือกากน้ำตาลอันเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนผลิตเอทานอลได้อีก และจากเอทานอลก็นำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตสุรา หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ      

นอกจากใช้เอทานอลผลิตสุราและแอลกอฮอล์ล้างมือแล้ว   ยังสามารถนำเอทานอลใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน โดยใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรงหรือใช้ผสมกับน้ำมันเบนซิน ตามสูตรที่กำหนดเป็นน้ำมันแกสโซฮอล ก็ได้

                การผลิตไบโอดีเซล

                  โดยใช้น้ำมันพืชบางชนิดเช่นน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบผสมกับน้ำมันดีเซลตามอัตราส่วนที่กำหนดเป็นไบโอดีเซลหรือนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาผ่านกรรมวิธี ผลิตเป็นไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลได้

                 ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชที่แพร่หลายมานาน เช่นผงชูรสสำหรับปรุงอาหารผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง   น้ำมันปาล์มนอกจากใช้ทอดอาหารแล้ว ยังใช้ผลิตเป็นเนยเทียม ครีมเทียมใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูป หลายชนิด เช่นคุกกี้ ขนมกรอบต่างฯ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นโปรตีนจากพืชที่ผลิตออกมาในรูปแบบหลายแบบสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์กำลังเป็นที่นิยมกันมาก      

  ยาจากพืช

                  ใช้พืชสมุนไพรหรือสารสกัดจากสมุนไพรเป็นยาโดยตรง หรือใช้พืชหรือสารสกัดจากพืชเป็นส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันซึ่งมีมากมายหลายชนิด

                   วัคซีนจากพืช

                  ในช่วงการระบาดของโควิด19 ที่รัฐบาลต้องระดมฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิกันโควิด -19 ให้ประชาชน มีบางช่วงวัคซีนขาดแคลน เนื่องจากต้องซื้อและนำเข้าจากต่างประเทศ  นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาทดลองค้นคว้าผลิตวัคซีนจากใบยาสูบ ซึ่งผ่านการทดลอง ตามขั้นตอนแล้ว

              เครื่องสำอางจากพืช

             มีการใช้พืชสมุนไพรหรือผลิตผลจากพืชหลายชนิด เป็นเครื่องสำอางจากธรรมชาติโดยตรง  หรือใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชหรือส่วนประกอบของพืช เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง เช่นใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบของการผลิตสบู่  รวมทั้งเครื่องสำอางหลายชนิด

              การผลิตก๊าซชีวมวล

                 การใช้เศษวัสดุ จากพืชทีเหลือจากการผลิต  ผลิตก๊าซชีวมวล แล้วใช้ก๊าซชีวมวลไปใช้ในโรงไฟฟ้าผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า                             

                กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

                ปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมาย สำหรับ BCG Model มาใช้บังคับเป็นกฎหมายกลางสำหรับ BCG Model จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาต่อไป

แต่ก็มีกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายฉบับที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเศรษฐกิจของ เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นโดยตรง เช่น

             - การผลิตอาหารจากพืช อยู่ภายใต้บังคับของ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522    

     - การผลิตเครืองสำอางจากพืช อยู่ภายใต้บังคับของ พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558

             - การผลิตยาและวัคซีนจากพืชอยู่ภายใต้บังคับ ของพระราชบัญญัติ ยา พ.ศ. 2510

            -  การใช้สมุนไพร อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562    

           -  การผลิตฟ้าจากแก๊สชีวมวล เป็นการประกอบกิจการไฟฟ้า อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

            - การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช อยู่ภายใต้บังคับ ของ พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายกำกับและควบคุมผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่หมายรวมถึงผู้กลั่นและผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

โดยให้คำนิยามของคำว่าน้ำมันเชื้อเพลิงไว้คือ “น้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันมันดีเซล  น้ำมันเตา 

น้ำมันมันหล่อลื่นและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น ก๊าซธรรมชาติ    น้ำมันดิบ หรือสิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็น วัตถุดิบในการกลั่นหรือผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวข้างต้น

และให้หมายความรวมถึงสิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือเป็นสิ่งหล่อลื่น ตามที่รัฐมนตรีกําหนดให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                  ทั้งนี้ มีประกาศกระทรวงพลังงานลงวันที่ 21 มกราคม 2548 กำหนดให้เอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งจะใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์หรือผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง  เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งแยกออกแตกต่าง จากเอทานอลที่ใช้ผลิตสุราและแอลกอฮอล์ทางการแพทย์

                เศรษฐกิจสีเขียว                  

               สำหรับเศรษฐกิจสีเขียว อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลนั้น มีกฎหมายที่น่าจะนำมาบังคับใช้ให้เศรษฐกิจสีเขียวบรรลุผลได้ในระดับหนึ่ง มีหลายฉบับ

เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535  พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.2535   พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 

และหากยังมีช่องว่างที่กฎหมายที่มีอยู่เดิมครอบคลุมไม่ถึง ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตรากฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับอุดช่องว่างนั้นต่อไป