‘ทรูควบดีแทค’ ฝ่ากระแส “ต้าน” ‘ดีลใหญ่ข้ามปี65’ - จับตาปี 66 จุดเปลี่ยน

‘ทรูควบดีแทค’ ฝ่ากระแส “ต้าน”  ‘ดีลใหญ่ข้ามปี65’ - จับตาปี 66 จุดเปลี่ยน

ดีลที่เขย่าสมรภูมิธุรกิจ สร้างแรงกระเพื่อม ส่งผลกระทบอย่างมาก ข้ามปี 2565 หนีไม่พ้น ดีลระดับแสนล้านบาท ระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” ที่ประกาศเดินหน้าควบรวมกิจการเมื่อปลายปี 2564 สุดท้ายได้ “ไปต่อ” กรุงเทพธุรกิจ ยกให้เป็นดีลแห่งปี ขณะที่ปีนี้ เป็นอีกปีที่เกิดดีลใหญ่มากมาย

ดีลที่เขย่าสมรภูมิธุรกิจ สร้างแรงกระเพื่อม ส่งผลกระทบอย่างมาก หนีไม่พ้น ดีลระดับแสนล้านบาท ระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” ที่ประกาศเดินหน้าควบรวมกิจการไปเมื่อปลายปี 2564 สุดท้ายได้ “ไปต่อ” หลังบอร์ด กสทช. ใช้เวลากว่า 9 เดือนพิจารณาว่าจะ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” ให้เบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในตลาดเดียวกันรวมบริษัทกันได้หรือไม่

ในที่สุดมติบอร์ด กสทช. สรุปว่า มีอำนาจแค่ “รับทราบ” การควบรวมดังกล่าว ทำให้ทรูและดีแทคสามารถควบรวมกิจการกันได้เลยโดยปริยาย

 

ย้อนไทม์ไลน์สู่เทคคัมพานี

วันที่ 22 พ.ย. 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็น เทคคอมพานี รับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

แถลงการณ์ครั้งนั้น ระบุว่า การรวมกิจการดังกล่าว บริษัทมองว่าการดำเนินธุรกิจจากนี้ หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จะต่างจากเดิมอย่างมาก จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, AI, IoT, Cloud และอวกาศ ขณะที่ บริษัทที่ตั้งใหม่ จะมีขนาดที่ใหญ่มาก คาดว่า จะมีรายได้ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ราว 83,000 ล้านบาท

เสียงค้านระงมหวั่นผูกขาดยาว

พลันสิ้นสุดแถลงการณ์บอกเหตุผลถึงการควบรวม เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นทันที เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าทรูที่มีสถานะเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 2 และดีแทคผู้ให้บริการอันดับที่ 3 จะทำให้มีลูกค้ารวมกันในทันทีเกินกว่า 50 ล้านราย และจะเหลือผู้เล่น 2 ราย ไม่เกิดการแข่งขัน เมื่อเหลือเพียงเอไอเอส และบริษัทใหม่หลังควบทรูดีแทค จะมีส่วนแบ่งตลาดไล่เลี่ยที่รายละ 50% ประชาชนโดนลอยแพ เพราะค่าบริการในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงท่าทีต่อการควบรวมในครั้งนี้

ปฏิกริยาของ บอร์ดกสทช.ช่วงที่ประกาศควบรวมเหมือนโยนเผือกการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะบอร์ด กสทช.ชุดนั้น เป็นชุดรักษาการ บอร์ดชุดใหม่อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ แม้ทรูและดีแทค ทำหนังสือแจ้งการควบรวมไปยังสำนักงาน กสทช.ไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 แต่บอร์ด กสทช.ทำได้เพียงแบ่งรับแบ่งสู้ขอประวิงเวลา

จนในที่สุดบอร์ดตัวจริงได้รับโปรดเกล้าฯ 5 คนช่วงวันสงกรานต์ และประชุมนัดแรกทันที ลงมติว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และจัดโฟกัส กรุ๊ป 3 กลุ่ม ฟังความเห็นจากภาคเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ประชาชน และนักวิชาการ ทำให้แผนควบรวมต้องเลื่อนออกไป

ดัชนีกระจุกเงินเฟ้อค่าโทรพุ่ง

เสียงจากโฟกัส กรุ๊ปทั้ง 3 รอบ โดยเฉพาะภาคเศรษฐศาสตร์ บ่งชี้ว่าหลังการควบรวมสำเร็จจะทำให้การกระจุกตัวเพิ่มขึ้น การแข่งขันก็มีดัชนีชี้วัดระดับความรุนแรง Herfindahl-Hirschman Index หรือ HHI ชี้ว่าหากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงรายเดียวจะเป็น 100% โดยค่าจะอยู่ที่ 10,000 แต่เมื่อใดที่ผู้แข่งขันเยอะขึ้นค่าจะลดลงจนใกล้ศูนย์ซึ่งเท่ากับตลาดนั้นเกิดการแข่งขันที่เสรี แต่หากดูหลังเกิดการควบรวม ดัชนีจะเพิ่มขึ้นจาก 3,578 ไปที่ 4,823 เพิ่มขึ้นถึง 32.4% ซึ่งสำนักงานกสทช.ระบุไว้ในกฎหมายว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย

หลังสิ้นสุดรับฟังความเห็นโฟกัส กรุ๊ป บอร์ดกสทช.มีมติวันที่ 24 สิงหาคม 2565 มติ 3 ต่อ 2 ทำหนังสือส่งไปถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เพื่อสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับชัดเจนว่า บอร์ดกสทช.ถือกฎหมายที่มีอำนาจชัดเจนพิจาณาเรื่องนี้

ย้อนไปดูตัวกฎหมายการก่อตั้ง กสทช.องค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติก็เพื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561

ตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน

วันที่ 20 ต.ค. 2565 เป็นวันดีเดย์ตัดสินเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมกสทช.พิจารณาตั้งแต่ 9.30 น. และสิ้นสุดลงในเวลาเกือบ 21.00 น. ใช้เวลาในการประชุม 11 ชั่วโมง ด้วยมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจ ด้วยคะแนน 2:2:1

สิ่งที่จะต้องจับตาดูต่อจากนี้  ปี 2566 คือทรูและดีแทค ต้องส่งรายงานความคืบหน้าควบรวม และการรายงานต้นทุนอัตราการให้บริการมายังบอร์ดให้รับทราบ โดยบอร์ดกสทช.กำหนดวันเรียกประชุมร่วมของผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทในวันที่ 27 มกราคม 2566 นี้ด้วย เพื่อลงมติตั้งบริษัทใหม่ก่อนไปจดทะเบียนบริษัทใหม่

‘ดีลใหญ่ ปี 65’ สะเทือนโลกธุรกิจ

ปี 2565 ยังเป็นปีที่เกิดอีกหลายดีลใหญ่ เช่น เอไอเอส ฮุบ 3บีบี ขึ้นผู้นำบรอดแบนด์ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส พี่ใหญ่ในสมรภูมิ ส่งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ครือ เอดับบลิวเอ็น (AWN)เทคโอเวอร์ 3บีบี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ภายใต้กลุ่มบริษัทของ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท การขยับตัวครั้งนี้ของเอไอเอส มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นจังหวะที่ดีล“ทรูควบดีแทค”เกิดขึ้นพอดี

อีลอน มัสก์’ ซีอีโอเทสลา ประกาศซื้อ ทวิตเตอร์ เมื่อเดือน เม.ย. ด้วยเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นดีลที่สร้างความคึกคัก ทำให้หุ้นทวิตเตอร์พุ่ง 22% จากนั้นมีข่าวล้มดีลซื้อทวิตเตอร์ช่วงกลางปี และเกิดเป็นคดีฟ้องร้องยืดเยื้อระหว่างมัสก์และแพลตฟอร์มแต่ในที่สุด มัสก์ได้ตกลงซื้อแพลตฟอร์มและขึ้นเป็นซีอีโอทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในเทสลาน้อยลงเกิดความกังวลว่ามัสก์อาจทุ่มเทให้กับทวิตเตอร์มากกว่าเทสลาบวกกับนโยบายของมัสก์ต่อแพลตฟอร์มและพฤติกรรมของมัสก์ที่แสดงออกผ่านโซเชียลทำให้หลายคนไม่พอใจ

“เซ็นทรัล” ปิดดีล 1.8 แสนล้าน “เซลฟริดเจส” เป็นอีกบิ๊กดีลประวัติศาสตร์มูลค่าร่วม 1.8 แสนล้านของ กลุ่มทุนไทยยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัล” แห่งตระกูลจิราธิวัฒน์ และพันธมิตรระดับโลก “ซิกน่า” ประกาศ “ปิดดีล” เข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges Group) จากตระกูลเวสตัน ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลก้าวสู่ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรีระดับโลก ครอบคลุม 8 ประเทศในทวีปยุโรป และแฟลกชิพสโตร์บนทำเลที่ดีที่สุดของเมืองต่างๆ โดยเฉพาะห้างเซลฟริดเจส บนถนนออกซ์ฟอร์ดใจกลางกรุงลอนดอน ปลายทางแห่งการช้อปปิ้งอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องมาเยือน

‘กัลฟ์’ขยายอาณาจักร เบอร์ 1 ‘อินทัช’ ซื้อหุ้น ‘ไทยคม’ หลังจากปี 2564 “สารัชถ์ รัตนาวะดี” หุ้นใหญ่บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ปิดดีลซื้อหุ้นบมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH และขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 46.07% ล่าสุด GULF เข้าซื้อหุ้นบมจ.ไทยคม หรือTHCOM สัดส่วน 41.13% ราคาหุ้นละ 9.92 บาท มูลค่า 4,472 ล้านบาท จาก INTUCH พร้อมทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (tender offer) ของ THCOM จำนวน 645,231,020 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 58.87% เป็นการซื้อในราคาเดียวกันที่หุ้นละ 9.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวม 6,400 ล้านบาทรวมมูลค่าลงทุน10,873 ล้านบาท

GULF มองผลประโยชน์การเข้าไปลงทุนใน THCOM มีความน่าสนใจ และเหมาะสมกับบริษัทในหลายมิติ ทั้งด้านยุทธศาสตร์ การเติบโต และเพิ่มศักยภาพการต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

‘ดีลล่ม’

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ยังเป็นปีที่เกิด อภิมหาดีลใหญ่ “ล่ม” SCBX – BITKUB ซูเปอร์ดีลแห่งปี ที่ไปไม่ถึงจักรวาลนฤมิต หลังคณะกรรมการ บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 มีมติให้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ในเวลานั้น ซื้อหุ้น บริษัทบิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ซูเปอร์ดีลนี้ในเวลานั้น ถูกตีมูลค่ารวมที่เอสซีบีต้องจ่ายสูงถึง 17,850 ล้านบาท ปูทางให้ บิทคับ ไปสู่ยูนิคอร์นตัวที่สอง

แต่สุดท้าย ข่าวซูเปอร์ดีลนี้ยังไร้คำตอบที่ชัดเจนจากปากทั้งสองฝ่าย และในที่สุดวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาเอสซีบีเอกซ์ หรือ SCB ประกาศแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่ประชุมคณะกรรมการบล.ไทยพาณิชย์มีมติให้บริษัทยกเลิกธุรกรรมการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นอันจบดีลที่หลายคนเฝ้ารอมานาน

และสุดท้าย ดีลร่วมทุนของ 2 บริษัทอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการ “สินเชื่อ” ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มก็ “ล่ม” ไปแล้วเช่นกัน