วิกฤติค่าครองชีพ-เศรษฐกิจตกต่ำ โจทย์หิน "ท่องเที่ยวไทย" พระเอกตัวจริงปี 66

วิกฤติค่าครองชีพ-เศรษฐกิจตกต่ำ โจทย์หิน "ท่องเที่ยวไทย" พระเอกตัวจริงปี 66

“ภาคการท่องเที่ยว” จะเป็น “กันชน” หรือ “พระเอกตัวจริง” ของเศรษฐกิจไทย? จะถดถอยหรือพลิกฟื้นในปี 2566 หลังเผชิญมหาวิกฤติโควิด-19 นานร่วม 3 ปี มีปัจจัยลบรุมเร้า ความท้าทายรอบด้านรออยู่ โดยเฉพาะปัญหา “เศรษฐกิจตกต่ำ” และ “วิกฤติค่าครองชีพ”

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ททท.เชื่อมั่นว่า “คนอยากเที่ยว” หลังอัดอั้นมาตลอด 2-3 ปี เกิดกระแส “เที่ยวล้างแค้น!” เที่ยวให้สาแก่ใจ เพราะการท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ ไม่เกี่ยวกับว่ามีเงินหรือไม่มีเงิน แต่เกี่ยวกับว่าอยากไปหรือไม่อยากไปมากกว่า ประกอบกับในช่วงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางหนีหนาว ทั้งยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ “ราคาพลังงาน” ที่ปรับสูงขึ้นจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และกำลังกลายเป็น “วิกฤติค่าครองชีพ” ในประเทศฝั่งตะวันตก ส่งอานิสงส์แก่ภาคท่องเที่ยวไทย

“ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยในปี 2566 นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไร ยังมีปัญหาราคาพลังงาน ค่าครองชีพ ราคาอาหาร อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ แม้จะมีข่าวดีเล็กๆ ว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐน่าจะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังมีวิกฤติโลกร้อน ความปั่นป่วนของธรรมชาติ การเผชิญหน้ากันของ 2 ยักษ์โลกทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจอนาคต อาจทำให้ความต้องการท่องเที่ยวน้อยลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มคนที่ต้องการเที่ยวล้างแค้นนั้น มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน”

ส่วนประเด็นที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็น “พระเอกตัวจริง” ในปี 2566 ททท.ค่อนข้างมั่นใจเกี่ยวกับ “ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ว่าอยากเดินทางมาประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผลสำรวจของ “เอ็กซ์พีเดีย” บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ของโลก ระบุว่า “กรุงเทพฯ” ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมามากที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความโดดเด่นด้าน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศไทย เช่น อาหาร เป็นตัวชูโรง!

“ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นของภาคการท่องเที่ยวไทย” ผู้ว่าการ ททท.มั่นใจ

รัฐบาลตั้งเป้าหมายพลิกฟื้นรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยกลับมาให้ได้ 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 17.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่ากับว่าปีหน้าต้องมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 50% ของจำนวน 39.9 ล้านคนเมื่อปี 2562 หรือคิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน โดยยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีน ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ คาดการณ์มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยไม่ต่ำกว่า 180 ล้านคน-ครั้ง

“หากถามว่าเป้าหมายปี 2566 เป็นไปได้หรือไม่นั้น มั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะเป็นพระเอกตัวจริงได้ไม่ยาก เพราะเป้าหมายที่กล่าวมานั้น ยังไม่ได้รวมตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ยังต้องติดตามว่าจะเปิดประเทศเมื่อไร”

ส่วนประเด็น “นักท่องเที่ยวจีน” จะกลับมาเมื่อไร ก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีการเปิดประเทศจีนหลังการประชุม 2 สภาของประเทศจีนในเดือน มี.ค.2566 แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ททท.ฟันธงว่าภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ประเทศจีนเปิดแน่! แต่จะเป็นการเปิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทยอยเปิดเริ่มจากบางพื้นที่ก่อน และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปได้เฉพาะบางประเทศเท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างที่ทุกคนทราบกันดี

“ประเทศไทยมีธรรมชาติสวยงาม ทะเลสวย อาหารไทยอร่อย และมีคำพูด ไทย-จีน พี่น้องกัน ทั้งสองประเทศไม่มีความขัดแย้งในหน้าประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์ที่ดีในลักษณะครอบครัว ทำให้ประเทศไทยยังอยู่ในใจชาวจีน และน่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆ ที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวได้”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว “ยุคหลังโควิด-19” ซึ่งยินดีจ่ายในสิ่งที่สมควรจะได้ หากประเทศไทยต้องการ “นักท่องเที่ยวคุณภาพ” ต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวคุณภาพก็ต้องการคุณภาพด้านการท่องเที่ยวที่สูงด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสร้าง “ระบบนิเวศ” ทางการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพของสินค้า!

“ถ้าเราไม่มีสินค้าดี ก็ไม่สามารถเอานักท่องเที่ยวคุณภาพมีกำลังซื้อสูงอย่างที่เราต้องการเข้ามาได้ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับคุณภาพด้านซัพพลาย ให้เป็นเครื่องจักรตัวใหม่ที่สร้างการเติบโตและพลิกฟื้นด้านการท่องเที่ยว ก้าวสู่บทใหม่ (New Chapter) พลิกโฉมภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบน 2 ขา ขาที่ 1 คือการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ มุ่งสร้างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ใช้โมเดล BCG และขาที่ 2 คือ การท่องเที่ยวจะต้องนำเอา ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เข้ามาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณภาพการให้บริการ”

ดังนั้น ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนระบบนิเวศได้ จะเป็นการพลิกฟื้น พลิกโฉม สู่ระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) พร้อมๆ กับการสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพและใช้จ่ายสูง นี่คือจุดที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยในยุคหลังโควิด-19 เป็น “พระเอกตัวจริง!”