เปิดใจครั้งแรก!เจ้าพ่อโรงหนัง 'วิชา พูลวรลักษณ์' ขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ
เปิดใจครั้งแรก!หลังเจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์” ขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ กำเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท แก้โจทย์การเงิน เคลื่อนธุรกิจต่อ ย้อนเวลาได้ “ขายหุ้น SF ไหม?” คำตอบคือ..ขายครับ!
ช่วงโรคโควิดระบาดกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อผู้คน ธุรกิจหลายเช็คเตอร์ เป็นภาพที่ทุกคนรับรู้ดีในวงกว้าง ทว่า การเผชิญ “วิกฤติ” ดังกล่าว มีความ “รุนแรง” มากน้อยแตกต่างกันไป และบางคนมักมองสถานการณ์เหมือน K-Shape ที่มีบางส่วนอยู่บนยอด K ได้ประโยชน์ บางส่วนสาหัสสากรรจ์จริงๆ
เมื่อภาคธุรกิจเผชิญการ “ล็อกดาวน์” ระยะเวลามากน้อยไม่เท่ากัน แล้วแต่ “รัฐ” มีเกณฑ์พิจารณาป้องกัน “ความเสี่ยง” การเกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาด แต่ย้อนไปช่วงเวลาที่ผ่านมา “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” ถูก “ปิดให้บริการ” ยาวนานกว่า 100 วัน!!
ธุรกิจที่เคยขายตั๋วหนัง สร้างกระแสเงินสด รายได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นไม่มีรายได้ แต่ “แบกรายจ่าย” ทุกวัน จากค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายอีกสารพัด นั่นทำให้เจ้าพ่อโรงหนังอย่าง “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เคยนิยามธุรกิจที่ทำมากว่า 2 ทศวรรษ ว่าเป็นปีแห่งความมืดมิด หรือ The Dark Year เพราะทำให้บริษัท “ขาดทุน” เป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี(ปี 2563 แรงกระแทกจากโควิดเต็มๆ) จนเจ้าตัวไม่อยากดูงบการเงินเลยด้วยซ้ำ
ฉายา “เจ้าพ่อโรงหนัง” ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะต้องต่อสู้กับสารพัดอุปสรรค เพื่อสร้างการเติบโต ช่วงอยู่ท่ามกลางวิกฤติ “วิชา” หยิบหนังพยัคฆ์ร้าย 007 ตอน No Time To Die หรือพยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ มาบ่งบอกถึงการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างไรวรัสมฤตยู
คัมภีร์สู้ที่ช่วงมืดมิด ลุกมาทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะพาให้ธุรกิจโรงหนังของ “เมเจอร์รอดพ้นวิกฤติ” คือการขายป๊อปคอร์น นอกโรงภาพยนตร์ การสร้างหนังไทย เมื่อโรงหนังเปิดให้บริการต้องยอมเป็นหน่วยกล้าตาย เสี่ยง “ฉายหนัง” อย่าง "อีเรียมซิ่ง” ทำเงินเป็นกอบเป็นกำคนเดียวกว่า 200 ล้านบาท
“ช่วงโควิด หนังที่ทำให้ทีมงานเมเจอร์ มีกำลังใจ คืออีเรียมซิ่ง เพราะตอนนั้นคนอื่นเอาหนังออกจากโรงหมด แต่เรานำเข้ามาฉาย เราต้องทำ สุดท้ายกินคนเดียว 200 กว่าล้าน” วิชา เล่า
ขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ เสริมสภาพคล่อง
ทว่า การ Fight Back วิกฤติ ยังอีกหนึ่งการตัดสินใจครั้งใหญ่คือการ “ขายสินทรัพย์” เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากธุรกิจโรงหนังจอมืด ฉายไม่ได้ พอเปิดให้บริการก็ไม่มีคอนเทนท์มาดึงคนดู และภาพรวมสตูดิโอ หรือหลายค่ายหนังไทย “อ่อนแรง” ถ้วนหน้าจากโควิด ถ้าไม่แก้ไขปัญหา “สภาพคล่อง” อาจต้องตัวใครตัวมัน แต่ใครที่มีสินทรัพย์เหลือย่อมนำไปทำประโยชน์ แก้ปมปัญหาการเงินได้
วิชา ฉายภาพธุรกิจชัดๆ ก่อนเลือกขายสินทรัพย์ หากมองสตูดิโอค่ายหนังในสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง ไร้ปัญหาเรื่องการเงิน ไม่มี “หนี้เสีย” แต่สตูดิโอต่างจากโรงภาพยนตร์ตรงที่มี “ต้นทุนคงที่” แม้ไม่ฉายหนัง แต่หนังยังเก็บไว้ทำเงินภายหลังได้ แต่โรงหนังไม่ฉายหนังไม่ได้!
“เราต้องจ่ายเงินเดือน จ่ายนี่นั่นเต็มไปหมด” วิชา สะท้อนภาระที่แบก แต่ปัจจัยดังกล่าว ทำให้สตูดิโอกลัวขั้นสุดเช่นกันว่า “โรงหนังจะล้มหายตายจากไป” มองภาพใหญ่ตลาดโรงหนังเอเชียยังแข็งแกร่ง เพราะหนี้ไม่มากนัก ส่วนโรงหนังในสหรัฐฯ ปีหน้าเหนื่อย!
รายได้ไม่เข้า รายจ่ายออกตลอด สุดท้ายกลางปี 2564 เจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา” จึงตัดสินใจนำทัพ “เมเจอร์ฯ” ขายหุ้นทั้งหมด 647.2 ล้านหุ้น ที่ถือในบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ SF ในราคาหุ้นละ 12 บาท แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน)หรือ CPN เป็นวงเงิน 7,765 ล้านบาท จากที่เข้าไปลงทุนเกือบ 20 ปี
หลังขายหุ้น "วิชา" ไม่ได้แสดงความเห็นให้รับรู้ แต่ล่าสุด ในการแถลงแผนธุรกิจประจำปี "กรุงเทพธุรกิจ" ได้พูดคุยกับผู้นำเบอร์ 1 ถึงที่มาที่ไป ทำไมเลือกขายหุ้น SF เกลี้ยงพอร์ต
“แต่ละคนแก้วิกฤติด้วยวิธีที่แตกต่างกัน” เขาเล่าและยกตัวอย่างธุรกิจโรงแรมของกลุ่มไมเนอร์ฯ ซึ่งเพิ่มทุนทันทีเพื่อเสริมสภาพคล่องหลังธุรกิจกระทบได้ 3 เดือน
3 Pillars ต้องหาทางแก้โจทย์การเงิน
การขายหุ้น SF ไม่ใช่ทางเลือกเดียวของ “วิชา” เพราะเจ้าตัวเล่าว่า 3 Pillars ที่ “ต้องทำ” ได้แก่
- บริหารจัดการกระแสเงินสด
- บริหารคน
- กำหนดกลยุทธ์
อาจลุยโมเดลธุรกิจเดิม หรือแบบใหม่ ซึ่งด้านบริการจัดการกระแสเงินสด มองว่าไม่ยาก เพราะคือ “Destiny” หรือเรื่องโชคชะตา
“ไม่ใช่คุณวิชาเลือกขายสยามฟิวเจอร์เป็นช้อยส์แรก ผมมีออฟชั่นของผม เพราะรู้ว่าทุนเท่านี้ไม่พอแน่ ตอนนั้นจะเพิ่มทุนเลย ง่ายๆ แต่ต้องจ้องว่าโควิดจะยืดเยื้อไหม ถ้าเพิ่มทุนเพิ่มเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่เพิ่ม สัดส่วนหนี้เราจะสูงขึ้น Balance Sheet น่าเกลียด” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี และระหว่างการตัดสินใจแก้โจทย์ เคลื่อนธุรกิจให้รอดพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก โควิดไม่หมดไปด้วย
“วิกฤติยังไม่มาด้วยนะ” เขาหัวเราะ และประเมินธุรกิจโรงหนังของไทยปัญหาทางการเงินยังไม่มาเยือน อาจต้องรออีกปี ส่วนสหรัฐฯ รับแรงกระแทกเรียบร้อย เพราะมีบริษัทจำนวนมากแบกหนี้ท่วม
หนึ่งในการตัดสินใจขายหุ้น SF เนื่องจาก “นพพร วิฑูรชาติ” ผู้ก่อตั้งและแม่ทัพธุรกิจ SF มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงปรึกษา “วิชา” ว่าไม่ไหวแล้ว ต้องขาย Exit แล้วล่ะ
วิชา พูลวรลักษณ์
“คุณวิชาช่วยหน่อย ผมก็บอก..โหย! นี่ Covid Time นะ จะไปขายให้ใคร ขายเทกระจาดหรือเปล่า ขายของถูก จึงไม่คิดจะขาย”
ทว่า ราคาหุ้น SF ที่อยู่ระดับ 6 บาทต่อหุ้น มีผู้เสนอราคาให้หุ้นละ 8 บาท เกิดความดีใจ เพราะหากเป็นตัวเอง จะซื้อหุ้นทั้งหมดเช่นกัน สุดท้ายเจรจาซื้อขายกันได้ที่หุ้นละ 12 บาท จากที่ควรจะได้เงินมูลค่า 4,000 ล้านบาท กลายเป็นเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” เกือบ 8,000 ล้านบาท(ปิดดีลที่ 7,765 ล้านบาท) เป็น Big Different และ Good Price จึงตอบตกลง
ย้อนเวลาได้ ยังคงขายหุ้น SF
“เพื่อนๆชอบแซวว่า พี่บุญเยอะ เรา Exit SF(ขายกิจการ) ได้เงิน 8,000 ล้านบาท” เงินที่ได้มานอกจากสางหนี้ ยังเสริมสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้นำไปขยายธุรกิจโรงหนัง ปรับภาพลักษณ์ ดึงเทคโนโลยีระบบฉายหนังล้ำๆมาตอบโจทย์คนดูด้วย
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขายหุ้น SF แม้ “เมเจอร์ฯ” จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ “วิชา” ให้เกียรติผู้ถือหุ้นเดิมตลอด หากเวลานั้นไม่ต้องการขายทิ้ง ก็จะไม่ดำเนินการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นหนึ่งในการบริหารธุรกิจ แก้โจทย์การเงิน ซึ่งมองว่าง่ายไม่ซับซ้อน เพราะวิกฤติทำให้รายได้หาย หนี้สูงขึ้น ต้องเพิ่มทุน หาทางลดหนี้ หาเงินกู้ระยะสั้นเป็นสะพานข้ามความจำเป็นในการลดหนี้ เสริมสภาพคล่อง ซึ่งในมิติของ “เมเจอร์ฯ” หนี้ไม่ได้มากนัก
“หนี้เราไม่เยอะ แต่พูดตรงๆ ก็หืดขึ้นคอนะ เพราะเจอโควิดเข้าไปไม่ใช่แค่ 6 เดือน แต่เป็นปีเลย”
ล่าสด “วิชา” มีโอกาสเจอผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ ยังมีการคุยกันเล่นๆว่า..พี่ๆ ถ้าวันที่เลือกได้ ไม่ขายหุ้น SF เนี่ย จะเอาไหม?
“ไม่ครับ” เพราะได้ราคาที่ดี แม่ทัพทำงานไม่ได้ จึงเป็นคำตอบที่มาพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดีของเจ้าพ่อโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์” ที่ต้องแก้โจทย์การเงินเพื่อรักษาธุรกิจหลัก(Core business) โรงหนังซึ่งเป็น Passion ของเส้นทางแม่ทัพ