5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร

5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ  สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร

ธุรกิจร้านไม่ใช่ Passion สุกี้ไม่ใช่เมนูโปรด ประสบการณ์บริหารธุรกิจไม่มาก แต่ "นัทธมน" กลับปั้น "สุกี้ตี๋น้อย" ประสบความสำเร็จเติบโตพันล้าน สเต็ปต่อไปสลัดภาพธุรกิจครอบครัว เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แตกพอร์ตร้านอาหาร เพื่อมั่งคั่ง มันคงทั้งครอบครัว พนักงาน

“สุกี้ตี๋น้อย” เป็นแบรนด์น้องใหม่วัยกระเตาะ ทำตลาดเพียง 5 ปี มี 42 สาขา ประสบความสำเร็จกวาดยอดขายทะลุ “พันล้านบาท” ในเวลาอันสั้น อีกทั้งชื่อชั้นแบรนด์กลายเป็น Top of Mind ของสาวกผู้คลั่งไคล้บุฟเฟต์และสุกี้ ด้วยราคา “คุ้มค่า” อาหารมีมาตรฐาน และรสชาติถูกปากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

เรื่องราวของ “สุกี้ตี๋น้อย” เป็นที่รับรู้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง ทว่า ในงานวันนักการตลาด หรือ “Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer” จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย นัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” มาบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จผ่านหัวข้อ “Mission - Action - Success”

ปูมหลังการมาทำธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” ของ “นัทธมน” อาจทราบกันว่าเกิดจากหมด Passion หลังทำงานประจำเพียง 3 ปี กับบทบาทการนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมหรูหรามาทำตลาดในประเทศไทย

ครอบครัวมีพื้นฐานทำธุรกิจร้านอาหาร “เรือนปั้นหยา” ซึ่งพ่อแม่ทำหน้าที่ดูแล สั่งสมประสบการณ์ แต่เจ้าตัวไม่เคยคลุกคลีกับกิจการของที่บ้าน นอกจาก “รับฟัง รับรู้” สิ่งที่พ่อเล่า ไม่เคยสัมผัสการทำธุรกิจเลย

การตัดสินใจทำธุรกิจร้านอาหารประเภท “สุกี้” เกิดจากมองเห็นช่องว่างตลาด ทั้งเรื่องเวลาการเปิดให้บริการ 12.00-05.00 น. อยากให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่เลิกงานดึก เช่น พนักงานห้างร้านต่างๆ มีโอกาสทาน “บุฟเฟ่ต์” ในราคาคุ้มค่า

“เราอยากทำร้านอาหารราคานี้(ปัจจุบัน 219 บาทต่อหัวจาก199บาทต่อหัว) ทำไมไม่ใครเสนอสิ่งดีๆให้ผู้บริโภคได้สังสรรค์ ปาร์ตี้กับเพื่อน แบบไม่ต้องคิดมาก อยากให้คนรับประทานรู้สึกเหมือนมาทานอาหารที่ห้าง ภัตตาคาร”

 

5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ  สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร

มากกว่านั้น เหตุที่เลือก “สุกี้” เพราะมอง “โอกาสขยายสาขา” จึงต้องเลือกร้านอาหารที่บริหารจัดการ ควบคุมง่าย เนื่องจากตนเองไม่ใช่เชฟ หรือคนทำขนมอบ กลับกันเป็น “นักแก้ปัญหา” (FYI จบการศึกษาป.ตรี Economics and Finance จาก University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย และป.โท Marketing & Management ด้าน Luxury Brand จาก Emlyon Business School ประเทศฝรั่งเศส)

“Passion เฟิร์น ไม่ใช่การทำอาหาร แต่คือการ Solve problems เพื่อให้เราเติบโตได้ถึงที่สุด อันนี้คือสิ่งทีเ่ฟิร์นชอบจริงๆ ไม่ว่าจะทำร้านอาหารแบบไหน เฟิร์นอยากทำให้เต็มที่ๆสุด และการเป็นผู้บริหาร ต้องมีทักษะการผู้นำ เฟิร์นชอบคุยพนักงาน รับฟังเพื่อแก้ปัญหา พาทีมให้เติบโต จะเป็นสุกี้ไม่หรือสุกี้ ทำได้หมด ขอแค่ให้สำเร็จ และมอบสิ่งดีๆให้ลูกค้า”

ปัจจุบัน “สุกี้ตี๋น้อย” กลายเป็นแบรนด์หัวหอกทำเงินจาก 42 สาขา แต่ปี 2566 บริษัทวางแผนเปิดร้านใหม่เพิ่มไม่ต่ำกว่า 10 สาขา และบุกต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก แม้ปีนี้จะเปิดร้านที่ “บางปะอิน” อยุธยาฯ แต่ยังมองเป็นเขตปริมณฑล อนาคตยังมองตลาด “ประเทศเพื่อนบ้าน” ด้วย

สำหรับการลงทุนร้านใหม่เฉลี่ยใช้งบราว 15 ล้านบาท บางแห่งเป็นร้าน เดี่ยวหรือ Stand alone ลงทุนสูง บางทำเลแค่ตกแต่งร้าน ใช้เงินลงทุนน้อยแตกต่างกัน แต่ขนาดของร้านยัง “ใหญ่” เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค่ากลุ่มเป้าหมาย พร้อมมีพื้นที่อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะที่จอดรด เบื้องต้นขนาดร้านอยู่ที่ 600-700 ตารางเมตร(ตร.ม.)

5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ  สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร การเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ “สุกี้ตี๋น้อย” เนื้อหอมสำหรับทุนต่างๆ ซึ่งล่าสุด บริษัทมีพันธมิตรใหม่เข้ามาถือหุ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่ง “นัทธมน” มองว่าเป็น “โบนัส” ของการก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน 20 30 หรือ 40 ปี มีระบบควบคุมที่ดี อีกทั้งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสลัดภาพ “ธุรกิจครอบครัว” สู่การบริหารโดยมืออาชีพมากขึ้น

“เรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นโบนัสจริงๆ ซึ่งดีใจ และถือเป็นก้าวต่อไปข้างหน้า ที่สำคัญกว่านั้นคือทำให้เราไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจครอบครัว อยากสลัดภาพธุรกิจครอบครัว เพื่อบริหารอย่างมืออาชีพ มีการควบคุมที่ดี เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อทำให้เราแข็งแกร่งกว่าเดิม จึง Appriciate การเข้าตลาดฯ”

นอกจากขยายสาขา การสร้างพอร์ตโฟลิโอให้ “อาณาจักร” ธุรกิจร้านอาหารภายใต้ “บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป” เป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญ ซึ่ง “นัทธมน” หมายมั่นจะแตกร้านอาหารประเภทอื่นๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ “สุกี้” เท่านั้น

“เราอยากเป็นมากกว่าร้านสุกี้ อยากมีพอร์ตร้านอาหารหลายแบรนด์ ทั้งจากซื้อกิจการและสร้างแบรนด์ใหม่เอง แต่ตอนนี้ขอโฟกัสสุกี้ตี๋น้อยก่อน”

 เมื่อยังอุบหมวดร้านอาหาร แต่คอนเซปต์สร้างการเติบโตต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ คุณภาพและบริการดี อาหารสะอาดมีมาตรฐาน และราคาคุ้มค่า

“มาตรฐานบริการ ความสะอาด อาหารสดอร่อย ราคาจับต้องได้ ลูกค้าไปแล้วไม่ผิดหวัง ร้านอาหารมีแค่นี้ ”

“นัทธมน” ย้ำภาพตนเองเป็นนักแก้ปัญหา มากกว่าผู้คลั่งไคล้ธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่เปิดร้านแรก ปัญหาที่พบเจอจากเข้าไปดูแลร้านเองทุกวัน คือเห็นเมนูไหน สั่งน้อย ไม่มีคนสั่ง เมนูออกช้า จะโละทิ้งทันที หาเมนูใหม่มาแทนที่ เพื่อ “ลดสต๊อกของสด” ที่อาจทำให้เงินทุนจม รวมถึงเคยมี “น้ำจิ้มแจ่ว” เสิร์ฟ แต่ลูกค้าไม่นิยม ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้สต๊อกหมุนเวียนตลอดเวลา หรือการบริหารพนักงาน ที่ปัจจุบันมีกว่า 4,000 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เสิร์ฟ บริการไม่ดี ขาดความใส่ใจ(Hopitality) หน้างอ ฯ ย่อมโดนตำหนิจากลูกค้า จึงต้องอบรม พัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

เมื่อเมนูไม่ทำเงิน โละ แล้วเมนูอร่อยในร้านสุกี้ตี๋น้อย คืออะไร “นัทธมน” บอกว่า ขายดีสุดยกให้หมูสามชั้น สันคอ ประเภทหมูทั้งหมด ครองใจสายกินบุฟเฟต์ รวมถึงเต้าหู้ชีส ส่วนสาขาขายดีอยู่ที่รัตนาธิเบศร์ เพราะมีจำนวนที่นั่งราว 80 โต๊ะ ส่วนการขายหากมีลูกค้า 500-600 คนต่อวันต่อสาขาเป็นแรงส่งสร้างการเติบโต

5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ  สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร “รอคิวนาน” อาจเป็น Pain point สำหรับร้าน แต่บริษัทมีนำแพลตฟอร์ม “QueQ” มาให้บริการ เพื่อให้คนรอทำกิจกรรมอื่นไปก่อน อนาคตยังจัดการได้ดีกว่านี้ โดยมองการหากิจกรรมให้ลูกค้าทำระหว่างรอ ซึ่งจากการที่ตนเองเคยไปรอคิวร้านเบอร์เกอร์แบรนด์จากสหรัฐฯ ที่เปิดในอิตาลี มีแจกถั่วให้ลูกค้าระหว่างรอ เป็นต้น

จากร้านแรกสู่ 42 สาขา ยอดขายทะลุ “พันล้าน” และกำลังเข้าตลาด “นัทธมน” มองทุกอย่างเกินความคาดหมาย

“จากวันนั้นถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่บริษัทเติบโต แต่ตัวเฟิร์นเติบโตขึ้นมากเหมือนกัน เฟิร์นเริ่มธุรกิจตอนอายุ 25 ปี ประสบการณ์ทำงานออฟฟิศแค่ 3 ปี ไม่เคยบริหารใคร ไม่เคยมีทีมงานของตัวเอง ผู้จัดการแต่ละคนอายุมากกว่าเฟิร์นหมดเลย ประสบการณ์ 10-30 ปี มาถึงจุดนี้ได้ เกินความคาดหมายจริง”

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความสำเร็จที่มี “นัทธมน” ยกให้ประสบการณ์จากพ่อ นำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย ผสานเทคโนโลยี เพื่อบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน

“จะเป็นผู้บริหารใหญ่โตได้ นำประสบการณ์พ่อมาทั้งหมด เพื่อปรับใช้บริหารธุรกิจ”

5 ปี ‘สุกี้ตี๋น้อย’ จัดทัพเข้าตลาดฯ  สลัดภาพธุรกิจครอบครัว แตกพอร์ตร้านอาหาร จากคนไม่ชอบทานสุกี้ กลับเปิดร้านสุกี้ตี๋น้อย และต้องทานบ่อยขึ้นจนทำเงินมหาศาล จากคนไม่มี Passion ธุรกิจร้านอาหาร แต่แก้โจทย์บริหารสร้างการเติบโต เป้าหมายใหญ่ของ “นัทธมน” ต้องการทำให้ “ครอบครัว” ของตนเองมีความมั่นคัง ไม่แค่มั่งคั่ง และพนักงานหลายพันชีวิตมีหน้าที่การงาน มีเงินเพื่อส่งต่อให้ความเป็นอยู่คนในครอบครัวดีขึ้น

“เฟิร์นอยากให้ครอบครัวสบาย มีธุรกิจที่มั่นคง และเรากำลังให้โอกาสพนักงานมั่นคงด้วย”