จากสำเพ็ง สู่ “เบอร์ 1” สินค้าไลฟ์สไตล์ เจาะแผน “โมชิ โมชิ” โตต่อในอนาคต

จากสำเพ็ง สู่ “เบอร์ 1” สินค้าไลฟ์สไตล์  เจาะแผน “โมชิ โมชิ” โตต่อในอนาคต

"โมชิ โมชิ" ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ที่โตวันโตคืน จากใช้เวลาเพียง 6 ปี มีร้านแรกย่านสำเพ็ง ขณะที่ตั้งต้นธุรกิจครอบครัวค้าขายสินค้ากิ๊ฟช็อป สั่งสมประสบการณ์ 40 ปี ส่องแผนโตเมื่อบริษัทจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพยฯ กับเป้าหมายโตก้าวกระโดด รักษาบัลลังก์แชมป์ระยะยาว

หากมองภูมิทัศน์ของร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ในประเทศไทย หลายแบรนด์แจ้งเกิด เปิดสาขาขับเคี่ยวแข่งขันรุนแรงขึ้น เพราะ “ขุมทรัพย์” ตลาดมีมูลค่ามหาศาล

อีกด้านภาพจำแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ ผู้บริโภคอาจนึกถึงความเป็นสัญชาติ“ญี่ปุ่น”เป็นหลัก เพราะมีทุนซามูไรเข้ามาร่วมมือกับทุนไทย ปักหมุดมีร้านหลายสาขา

เมื่อแบรนด์ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในตลาด ทำให้ผู้เล่นใหม่ๆเข้ามา ต่างใช้กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ของร้าน และเจาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น มินิโซ ของทุนจีน ที่มีความเป็นญี่ปุ่น รวมถึง “โมชิ โมชิ” ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์สัญชาติไทยที่โตวันโตคืน

โมชิ โมชิ มีจุดเริ่มต้นจากการเปิดร้านที่ย่านการค้าอย่าง “สำเพ็ง” ปัจจุบันมีจำนวนร้านทะลุ 100 สาขา เรียบร้อยแล้ว ยิ่งกว่านั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดยังออกสตาร์ทที่ 3% ใช้เวลาเพียง 6 ปี สามารถก้าวเป็น “เบอร์ 1” ร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 37.6%

แผนโตต่อในอนาคตจะเป็นอย่างไร ฟัง “สง่า บุญสงเคราะห์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ MOSHI ฉายภาพ

“สง่า” เท้าความจุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวค้าขายสินค้ากิ๊ฟช็อปมาก่อน จากนั้นขยับสู่ธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์ สร้างการเติบโตต่อเนื่อง โดยตลอดเส้นทางธุรกิจ สั่งสมประสบการณ์ยาวนานถึง 4 ทศวรรษ และกำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น "มหาชน"

ขณะที่ร้านแรกของ “โมชิ โมชิ” ที่เปิดให้บริการแก่ลูกค้าตั้งอยู่ย่านสำเพ็ง ซึ่งขณะนั้นผลตอบรับจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายดีมาก สามารถสร้างการเติบโตยอดขาย และขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ณ มิ.ย.2565 บริษัทมีร้านทะลุ 100 สาขาเรียบร้อยแล้ว ครอบคลุมตลาด 41 จังหวัดทั่วไทย

จากสำเพ็ง สู่ “เบอร์ 1” สินค้าไลฟ์สไตล์  เจาะแผน “โมชิ โมชิ” โตต่อในอนาคต

โดยเฉพาะในปีนี้สามารถเปิดร้านจาก 91 สาขา และเพิ่มจากปี 2557 ที่มี 63 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด ยิ่งย้อนไปปี 2559 ที่กรุยตลาด มีร้านให้บริการเพียง 4 สาขาเท่านั้น

นอกจากร้านเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาดของร้าน “โมชิ โมชิ” คือมีสินค้าหลากหลายเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย โดยทั้งพอร์ตโฟลิโอจำนวนมากกว่า 20,000 รายการ(เอสเคยู) สับเปลี่ยนหมุนเวียนขาย แต่ละปียังออกสินค้าใหม่ 8,000 เอสเคยู มากระตุ้นการตัดสินใจซื้อ การดึงดูดลูกค้า และทำให้เกิดการ “ซื้อซ้ำ”

โดย 12 กลุ่มสินค้า คือสิ่งที่จัดไว้เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมาย เช่น ครื่องใช้ในบ้าน เครื่องเขียน กระเป๋า และของใช้แฟชั่น ฯ และขาดไม่ได้ กลยุทธ์ “ราคา” เริ่มต้นที่ 20 บาท ทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

“โมชิ โมชิ มีเป้าหมายในการผลักดันสินค้าของเราให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค”

 เวลาเพียง 6 ปี บริษัทสร้างการเติบโตจนเป็น “ผู้นำ” แต่การโตต่อในอนาคต “สง่า” ต้องการเป็นการ “ก้าวกระโดด” จึงวางแผนเชิงรุกหลายด้าน ทั้งการขยายสาขา ซึ่งจะเห็นร้านใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 20 สาขา มองโอกาสทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด หัวเมืองหลัก เมืองรอง

จากสำเพ็ง สู่ “เบอร์ 1” สินค้าไลฟ์สไตล์  เจาะแผน “โมชิ โมชิ” โตต่อในอนาคต

ห้างค้าปลีก เป็นอีกทำเลต้องการเปิดร้าน เพราะห้างค้าปลีกและไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่บริษัทเปิดให้บริการมีสัดส่วนกว่า 15% เท่านั้น พื้นที่ว่าง สะท้อน “โอกาส” ทางการตลาดในการเปิดร้านเพิ่ม รวมถึงการเตรียมเปิดร้านเดี่ยวหรือ Stand Alone 2 แห่ง ในต่างจังหวัด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของ “แฟรนไชส์” ในอนาคตเพื่อช่วย “สปีด” การเติบโตยอดขาย

“การเปิดโมชิ โมชิ สแตนอะโลน จะทดสอบการวางสินค้าหรือโปรดักท์มิกซ์ เพื่อรับรู้รายได้ กำไร สำหรับแฟรนไชส์ หากสร้างผลตอบแทนได้สำเร็จตามที่ตั้งไ้ จะขยายแฟรนไชส์ไปตามหัวเมืองต่างๆได้เร็วขึ้น”

 

บริษัทยังมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่สู่ตลาดราว 8,000 เอสเคยูต่อปี ทั้งคอลเล็คชั่นใหม่ สินค้าลิขสิทธิ์จากคาแรกเตอร์การ์ตูนแบรนด์ดังระดับโลกมาเสริมทัพ การออกสินค้าตามเทศกาล ซีซันต่างๆ เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ แบ็คทูสคูล ฮาโลวีน ฯ เหล่านี้จะสร้างยอดขายให้เติบโตได้

การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า การนำสินค้าขายดีไปยังร้านสาขาต่างๆ สินค้าไหนขายช้าจะจัดโปรโมชั่น “ราคา” เพื่อกระตุ้นการซื้อ เป็นต้น

ขณะที่การผลักดัน “กำไร” จะให้ความสำคัญกับหมวดสินค้าขายดี ทั้งผลิตเพิ่ม พัฒนาแพ็คเกจจิ้งให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

“กำไร” ของโมชิ โมชิ ถือว่าอยู่ระดับสูง 7-10% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของยักษ์ค้าปลีกในสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ซีพีออล์ โฮมโปร ฯ ซึ่งอยู่ระดับ 5%

จากสำเพ็ง สู่ “เบอร์ 1” สินค้าไลฟ์สไตล์  เจาะแผน “โมชิ โมชิ” โตต่อในอนาคต

ขุมทรัพย์สินค้าไลฟ์สไตล์ใหญ่แค่ไหน “สง่า” หยิบข้อมูลตลาดรวมของค้าปลีกมีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 1.4% แนวโน้ม 4 ปีข้างหน้า(ภายในปี 2569) การเติบโตเฉลี่ย 7.5% ขณะที่สินค้าไลฟ์สไตล์มีมูลค่าเพียง 3,000-5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% เท่านั้น ทว่าการเติบโตสูงถึง 11.2% ภายในปี 2569 การเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.4%

“โอกาสของสินค้าไลฟ์สไตล์มีมหาศาล จากสัดส่วนตลาดปัจจุบันเพียง 0.2% ของภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก”

นอกจากเปิดร้าน ในอนาคต บริษัทยังมองการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อนำไปต่อยอดกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงทำตลาดเจาะลูกค้าเป็นรายบุคคลหรือ Personalize ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากแผนดังกล่าว บริษัทคาดการณ์ยอดขายในอนาคตจะเติบโตก้าวกระโดด และรักษาความเป็น “ผู้นำ” ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดต่อไป

“โมชิ โมชิ เราเป็นบริษัทคนไทย ที่เริ่มต้นธุรกิจ จากมีส่วนแบ่งตลาด 3% ที่ผ่านมายังเจอบทท้าทายหนัก อย่างวิกฤติโควิด แต่ขับเคลื่อนจนผ่านพ้นมาได้ สร้างการเติบโต มีกำไร อนาคตข้างหน้า ผมมุ่งหวังจะโตก้าวกระโดด”