BIG ทุ่ม 5,000 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจน

BIG ทุ่ม 5,000 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจน

เปิดแผนบีไอจี ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรม ทุ่มลงทุนกว่า 5,000 ล้าน ใน 5 ปี ชูนวัตกรรมไฮโดรเจน กุญแจแก้วิกฤติโลกร้อน นำร่องภาคขนส่งใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ จับมือพันธมิตรเตรียมเปิดสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนแห่งแรกในไทย

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เปิดเผยว่า วิกฤติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นเมกะเทรนด์ของผู้ผลิตทั่วโลกที่ถูกกดดันให้ต้องหันกลับมาคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงการกำหนดนโยบายโดยภาครัฐในหลายประเทศ เพื่อเร่งให้เกิดการลดการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ บีจีไอ ในฐานะผู้ผลิตก๊าซอุตสาหกรรมสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อาทิ ปิโตรเคมี โรงกลั่น เหล็ก กระจก อาหาร ยานยนต์ รวมถึงโรงพยาบาล ถือเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก จึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนบทบาทให้ บีไอจี กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแก้ วิกฤติโลกร้อน (Climate Technology) ตอบโจทย์การสร้างสังคมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

BIG ทุ่ม 5,000 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจน

ล่าสุด Air Products บริษัทแม่ของบีไอจีในสหรัฐประกาศแผนลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน 3 เมกะโปรเจกต์ ตั้งโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำสู่การเป็นผู้นำตลาดไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (Hydrogen for Mobility) และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไฮโดรเจนจะเป็นกุญแจสำคัญในการและเอาชนะความท้าทายของวิกฤติโลกร้อน และบรรลุเป้าหมายของ Air Products และ บีไอจี ในการลดปล่อยคาร์บอน 1 ใน 3 ภายในปี 2030 และเน็ตซีโร่ในปี 2050

สำหรับแผนการลงทุนในไทย นายปิยบุตร เปิดเผยว่า บีไอจี ได้กำหนดโรดแมปงบลงทุน 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า โดยบีไอจีจะนำร่องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน ในภาคการขนส่งซึ่งมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30% เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้ไทยบรรลุเป้าหมายเป้าหมายเดียวกันในปี 2065 ตามที่ได้ประกาศเจตจำนงไว้ในการประชุม COP26 ปีที่ผ่านมา

"ในอนาคตเทคโนโลยีหลักที่จะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุดสำหรับภาคการขนส่งคือ ยานยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) ซึ่งจะตอบโจทย์การใช้งานต่างวัตถุประสงค์ โดยพลังงานไฮโดรเจนจะเหมาะสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนในระยะทางไกล เช่น รถไฟ รถบรรทุก เครื่องบิน ขณะที่รถยนต์นั่งเองก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีโมเดลเชื้อเพลิงไฮโดรเจน"

BIG ทุ่ม 5,000 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจน

โดย บีไอจี เตรียมเปิดตัวโครงการแรก ที่จับมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ โตโยต้า เปิดสถานีบริการเติมก๊าซไฮโดรเจนแห่งแรกในไทยที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท โดยจะมีการขยายโครงการเพิ่มเติมในปีถัดไปด้วยงบลงทุนเบื้องต้น 500 ล้านบาท และในปี 2025 เกิดแผนการใช้ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

"ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐโดยการบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในแผนพลังงานแห่งชาติ และการบังคับใช้กฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอนจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ภาคขนส่งของไทยสามารถบรรลุการลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างจริงจัง"

สำหรับเทคโนโลยีด้านการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก บีไอจี ได้มีการพัฒนา 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 

  1. การผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งบีไอจีเป็นบริษัทก๊าซอุตสาหกรรมแห่งแรกในไทยที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) จากองค์การการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
  2. การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิตเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน
  3. การใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับภาคขนส่ง อุตสาหกรรมและพลังงาน เพื่อลดการสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจาก เชื้อเพลิงฟอสซิล และก๊าซธรรมชาติ
  4. การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับใช้ประโยชน์และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CCUS) ทั้งนี้ บีไอจี อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ ปตท. เอสซีจี องค์กรชั้นนำ โดยการจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในไทย