เจาะอนาคตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ‘สตรีมมิ่ง’ โอกาสหรืออุปสรรค

เจาะอนาคตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ‘สตรีมมิ่ง’ โอกาสหรืออุปสรรค

เป็นคำถามที่เจอบ่อยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มอง "สตรีมมิ่ง" เป็นโอกาสหรืออุปสรรค เพราะการมีคอนเทนท์เด็ด เพื่อช่วงชิงเวลาของผู้บริโภคให้เสพความบันเทิงบนแต่ละแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอ เจาะอนาคตวงการหนัง ผ่านมุมมองเจ้าจองโรงภาพยนตร์ ผู้กำกับ

เมื่อพ้นผ่านสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด “อุตสาหกรรมภาพยนตร์” กลายเป็นหนึ่งในหมวดที่กลับมาคึกคัก สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ยอดขายตั๋ว โฆษณา ตลอดจนสินค้าและบริการที่ให้ขายบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ 

ทว่า ก้าวข้ามวิกฤติโรคระบาด แต่ความท้าทายใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังเป็นการต่อกรกับแพลตฟอร์มออนไลน์ “สตรีมมิ่ง” ที่ชิงเวลาของการเสพสื่อบันเทิงของผู้บริโภคให้อยู่บ้าน มากกว่านอกบ้าน อีกด้านจุดด้อยหรือ Pain point ที่แวดวงหนังต้องเจอคือ “หนังไทย” คนไทยไม่ดูบ้าง สวนทางกับต่างประเทศ ซึ่งคอนเทนท์ในบ้านหรือ Local เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

โจทย์หินมากมาย งานสัมมนา iCREATOR 2022 จึงหยิบหัวข้อ “What's Next for Movie 4.0? อนาคตวงการภาพยนตร์ โลกคู่ขนานโรงหนังและโลกออนไลน์” โดยมีกูรูในวงการให้ความเห็น ประเดิมที่ สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองโลกโรงหนังถูก “ดิสรัป” มาตลอด แต่ละยุคแตกต่างกัน เช่น มีวิดีโอ วีซีดี ฯ ที่ดึงผู้บริโภคให้เสพคอนเทนท์ความบันเทิงอยู่ที่บ้าน(Home Entertainment) กระทั่งล่าสุดคือ “สตรีมมิ่ง”

“ธุรกิจโรงหนังโดนกระทบมาตลอด จากเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน แต่เชื่อว่าการดูหนังจะได้อรรถรส ประสบการณ์สมบูรณ์แบบต้องดูที่โรง” 

ขณะที่การทำธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงหนังปรับตัวตลอด เมื่อมีเทคโนโลยีดิสรัป บริษัทก็นำเทคโนโลยี ดิจิทัลมายกระดับการฉายหนัง นำระบบเสียงสุดล้ำ ตลอดจนที่นั่ง จากปกติ ไปสู่การนำ “ที่นอน” มาตอบโจทย์คนดูทุกเซ็กเมนต์แบบ Customize ด้วย 

นอกจากนี้ โรงหนังไม่ได้ทำหน้าที่แค่ฉายหนังอีกต่อไป เพราะกลายเป็นพื้นที่นำเสนอคอนเทนท์ทางเลือกให้คนดู ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดคอนเสิร์ตไอดอลดังเกาหลีใต้ “บีทีเอส” ถ่ายทอดสดศึกแดงเดือด The Match Bangkok Century Cup 2022 ตลอดจนอีเวนท์อื่นๆ เป็นต้น 

อีกจุดแข็งที่ทำให้โรงหนังยืนหยัดสู้การช่วงชิงเวลาผู้บริโภคมาเสพความบันเทิงนอกบ้านได้ คือ “ภาพยนตร์” ที่สตูดิโอ ผู้สร้างต่าๆยังทุ่มเงินมหาศาลผลิตหนังฟอร์มยักษ์ป้อนโรงหนังเป็น Window แรก

 

“ยืนยันคอนเทนท์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ต่างจากสตรีมมิ่ง เราดูหนังฮอลลีวู้ด ฟอร์มยักษ์ เช่น แบล็ก อดัม แบล็ค แพนเธอร์ ผู้ผลิตสร้างเพื่อป้อนโรงหนังก่อน”

ปัจจุบันหนังไทยถูกมองว่าตรงจริตคนดูลดลง กลายเป็น “คนไทยไม่ดูหนังไทย” แต่ “สุวิทย์” เชื่อว่าหนังไทยมีศักยภาพในการเติบโต เช่น ไทบ้าน เดอะซีรีส์ โฟร์คิงส์ ผลตอบรับดีเกินคาด 

“คนไทยไม่ดูหนังไทย..ไม่จริง! แค่กระแสตอบรับต่างกัน หนังไทยมีศักยภาพ หากพัฒนาบท ทำโปรดักชั่นดี” 

ด้านผู้สร้าง ผู้กำกับหนังไทย ผู้รังสรรค์ “คอนเทนท์” อย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ แอน(Faces of Anne) เล่าว่า อดีตการสร้างหนังเข้าฉาย ค่อนข้าง “จำกัดโรง” ขณะที่การเกิดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง จะเป็นระบบนิเวศที่เอื้อ สร้างประโยชน์ให้กับผู้ผลิตคอนเทนท์ คนดูมากขึ้น สามารถขยายวงจรสินค้าหรือหนังได้มากขึ้น  

 ขณะเดียวกันยอมรับว่ายุคนี้การดึงกลุ่มเป้าหมายให้ออกมาดูหนังที่โรงเป็นสิ่งที่ต้อง “ออกแรง” มากขึ้น เพราะการดูผ่านสตรีมมิ่ง ทุกคนสามารถกดข้าม เพิ่มสปีดหนังได้ เพราะ “อำนาจ” อยู่ในมือคนดูอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือประสบการณ์รับชม การดูหนังที่บ้านอยู่ๆอาจมีรถไอติมขับผ่านมีเสียงกระทบการดู เป็นต้น 

“เราเชื่อเสมอโรงหนังศักดิ์สิทธิ์ มอบประสบการณ์ที่ดี แม้หลายครั้งเราเห็นคอมเมนต์ผู้ชมบ่นดูหนังในโรงยืดยาด แต่ไม่บ่นกับสตรีมมิ่งเพราะกดข้ามได้ ช้าเร็วคุมได้หมด อำนาจอยู่ในมือ” 

ภัทนะ จันทร์เจริญสุข ผู้อำนวยการสร้าง เจ็บเจียนตาย(Hurts Like Hell) กล่าวว่า การเกิดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เป็น “โอกาส” ของผู้ผลิต สร้างหนังหน้าใหม่ เพิ่มความหลากหลายคอนเทนท์ตอบโจทย์คนดูมากขึ้น 

“เมื่อก่อนผลิตหนังป้อนโรงมีความเสี่ยงด้านรายได้จากการขายตั๋ว พอมีสตรีมมิ่งเรารับรู้รายได้ก่อน เป็นโอกาส และเป็นเวทีให้แข่งกับต่างประเทศได้ด้วย”

ทว่าการทำคอนเทนท์ให้ถูกจริตคนดูแต่ละแพลตฟอร์มไม่ง่าย อย่างซีรีส์เจ็บเจียนจาย เป็นหนังสารคดีม็อกอัพ(Mockumentary)ที่ทำการวิจัยข้อมูลต่างๆในวงการมวยจริงๆราว 1 ปี ผลิตแล้วนำเสนอให้เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งถูกปรับแต่งเรียงตอนใหม่ตามคัมภีร์เพื่อ “ตรึงคนดู” ตั้งแต่เริ่ม 

อนาคตโลกภาพยนตร์ยังเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ทั้งคนดู คอนเทนท์ รวมถึงแพลตฟอร์ม เพราะบางค่ายซื้อกิจการ “เกม” บางค่ายมีอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการซีนเนอร์ยี ต่อยอดธุรกิจจะเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการต้องติดตาม 

“ในอนาคตสตรีมมิ่งคงมีลูกเล่นเพิ่ม แต่การทำหนังให้มีคุณภาพ ถือเป็นหัวใจสำคัญ”