เปิดวิสัยทัศน์ "อำพลฟูดส์" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่

เปิดวิสัยทัศน์ "อำพลฟูดส์" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่

เปิดวิสัยทัศน์ "อำพลฟูดส์" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่ ประกาศเป้าหมาย ใน 3 ปีข้างหน้า วางเป้าหมายขยายยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมวางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเต็มสูบ

เส้นทาง 35 ปี ของ "อำพลฟูดส์" ภาพรับรู้และการจดจำของผู้บริโภคคือ การเป็นผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมตอบสนองความต้องการตลาดและผู้บริโภค โดยมีแบรนด์พอร์ตโฟลิโอของอาณาจักรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกะทิชาวเกาะ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพวี-ฟิท ผลิตภัณฑ์น้ำแกงพร้อมปรุง รอยไทย น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ คิงไอแลนด์ เป็นต้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทผลิตสินค้าคุณภาพ ทำการตลาด สร้างแบรนด์ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย สามารถสร้างยอดขายทะยานสู่ 4,000 ล้านบาทในปี 2564 ทว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ "ทรานส์ฟอร์ม" จากผู้ผลิตสู่ "ตัวแทนจำหน่ายสินค้า" หรือดิสทริบิวเตอร์ เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ได้นำสินค้ามาร่วมกันสร้างการเติบโต จนปัจจุบันมีสินค้าจากพันธมิตรมาอยู่ร่วมอาณาจักร หรือ House of Ampolfood มากกว่า 10 แบรนด์

ล่าสุด ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ ได้นำทัพทีมงานและ "พันธมิตร" ร่วมประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อสานเป้าหมายยอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท พร้อมวางกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเต็มสูบ

ดร.เกรียงศักดิ์ ประเดิมเล่าเส้นทางความสำเร็จขององค์กรในปี 2564 สามารถสร้างยอดขายสินค้าเกือบ 4,000 ล้านบาท การเติบโตดังกล่าวสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าในพอร์ตโฟลิโอมีความแข็งแกร่งจนครองใจคนไทยอย่างแท้จริง

เปิดวิสัยทัศน์ \"อำพลฟูดส์\" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่

ขณะเดียวกัน กลยุทธ์การทำตลาด การเปิดศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ 74 แห่ง ภายในเดือนตุลาคม 2565 ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายร้านค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) ทั่วไทยประมาณ 300,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 75% ของประเทศไทย ถือเป็น "กระดูกเหล็ก" และฐานข้อมูล (Big Data) ที่ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจมากขึ้น

ส่วนภารกิจจากนี้ไป อำพลฟูดส์ ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง เนื่องจากเป็นจุดแข็งสร้างการเติบโตให้องค์กรมายาวนาน แต่จะเพิ่มบทบาทการเป็น "ตัวแทนจำหน่ายสินค้า" โดยจะรวมพลังกับพันธมิตรในการทำงานร่วมกันทั้งพัฒนาสินค้า ทำการตลาด กระจายสินค้า มุ่งไปข้างหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

"กลุ่มอำพลฟูดส์ มุ่งสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า แต่จุดเด่นที่สร้างความแตกต่างคือ การนำจุดแข็งขององค์กรไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น พัฒนายกระดับมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้า ดูแลระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า แบ่งปันองค์ความรู้ด้านการทำตลาด และจากนี้ไปจะคล้องมือกับพันธมิตร ไว้วางใจกันเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต"

เปิดวิสัยทัศน์ \"อำพลฟูดส์\" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่

ดร.เกรียงศักดิ์ ย้อนจุดเริ่มต้นเป็นดิสทริบิวเตอร์ เกิดจากประสบการณ์ขายน้ำปลาร้า "แซ่บไมค์" ของ ไมค์ ภิรมย์พร เป็นแบรนด์แรก จากนั้นขยายสู่สินค้าใหม่ๆ เช่น วุ้นเส้นตรา "ต้นน้ำ" เครื่องดื่มชูกำลัง "คอมมานโด" เครื่องดื่มรสน้ำผึ้งมะนาวโซดา "แม็กซี่" เป็นต้น

ปัจจุบันมีสินค้าเสริมทัพจากพันธมิตรแบรนด์ระดับโลกและเอสเอ็มอีเพิ่ม เช่น เครื่องดื่มรสนมกลิ่นผลไม้ "ยังฟัน" ของบริษัท อีลี่ กรุ๊ป เครื่องดื่มโคล่า "อาร์ซี" แบรนด์ร้อยปีจากสหรัฐ สาหร่ายอบกรอบ "แดซอง" กะปิกุ้งเคยแท้ "หลวงไก่" ของศิลปินหลวงไก่ น้ำปลาร้าต้มสุกยูเอชทีรายแรกของไทย "เอ็มทีบายแม่ตุ๊ก" เครื่องเทศและสมุนไพร "ปราชญา" เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่มอำพลฟูดส์ได้ผนึกคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาหลักสูตร "UTCC Food Works" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเรียนรู้ เข้าใจกลยุทธ์ ติดอาวุธการทำตลาด ก่อนนำสินค้ามาให้บริษัทจัดจำหน่าย เนื่องจากหลายรายมองว่าการกระจายสินค้าต้องสร้างยอดขายเติบโตได้

"วันนี้กลุ่มอำพลฟูดส์ได้รับความไว้วางใจจากหลากหลายแบรนด์มาอยู่ภายใต้เครือ แต่การที่เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จสร้างยอดขายเติบโต เพราะสินค้าดีจริง และมีการส่งเสริมการตลาดด้วย"

ช่องทางจำหน่ายสินค้ามีหลากหลายมากขึ้น หนึ่งใน "ขุมทรัพย์" แห่งโอกาสที่ ดร.เกรียงศักดิ์ เล็งไว้นานนับสิบปีคือ "ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ" จึงร่วมมือกับ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด ในเครือสบายเทคโนโลยี เปิดตัว "G Vending" เจาะกลุ่มเป้าหมายทำเลโรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน ประเดิม 10 ตู้ และเสริมทัพสู่ 500-1,000 ตู้ ภายใน 3 ปี และนำสินค้าในเครือไปวางจำหน่ายกับตู้ "เวนดิ้งพลัส" ซึ่งมีมากถึง 7,000 ตู้ทั่วประเทศไทย

"นอกจากโอกาสการขายสินค้า บริษัทมองการใช้ตู้ G Vending ในการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดสร้างแบรนด์ เพิ่มการมองเห็นสินค้าแก่กลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่า คุ้มอย่างยิ่ง"

อำพลฟูดส์ ยังมีแผนผนึกกำลังกับ "ค่ายทีวีดิจิทัล" เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าสู่ต่อยอด "ช้อปปิ้งออนไลน์" ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นเทรนด์ตอบโจทย์ผู้บริโภคในอนาคต มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม "AMPOLFOOD Family" เพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า และลุยลอยัลตี้โปรแกรมต่างๆ เป็นต้น

นอกจากสร้างการเติบโตยอดขาย ดร.เกรียงศักดิ์ ยังเดินหน้าแผนพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการมากมาย เช่น ระดมสมาชิกจิตอาสา "อำพลฟูดส์อาสา" ทำภารกิจเพื่อสังคม การร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ช่วยเหลือลิงกังในประเทศไทยที่ได้รับการทารุณกรรม ถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้งในประเทศไทย ให้ความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์แก่เกษตรกร และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ "มังกี้ ไอส์แลนด์" นำรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการดังกล่าว แม้ในไทยสินค้ายังไม่ฮิต แต่ในต่างประเทศผู้บริโภคตอบรับสินค้าดี

ด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอำพลฟูดส์ ยึดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สานต่อโครงการกล่องวิเศษตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเรียกคืนบรรจุภัณฑ์กล่อง UHT นำมารีไซเคิลเป็นโต๊ะและเก้าอี้นักเรียนกว่า 28 ล้านชิ้น เพื่อบริจาคแก่โรงเรียนกว่า 10,000 ชุด เป็นต้น

"กลุ่มอำพลฟูดส์ดำเนินธุรกิจภายใต้ โมเดล BCG เพื่อสร้างสมดุลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม จากนี้ไปจะขยายขอบข่ายการทำงาน นำสิ่งที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคแล้วบริหารจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจอย่างยั่งยืน"

เปิดวิสัยทัศน์ \"อำพลฟูดส์\" เคลื่อนธุรกิจโตยั่งยืน ผนึกพันธมิตรขยายโอกาสธุรกิจใหม่