ไทยเบฟ ดัน "บิสโตร เอเชีย" เขย่าคู่แข่งอาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม

ไทยเบฟ ดัน "บิสโตร เอเชีย" เขย่าคู่แข่งอาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม

"บิสโตร เอเชีย" หนึ่งในขุมพลังแห่งอาณาจักรอาหารและเครื่องดื่มของ "ไทยเบฟ" เปิดเกมรุกเขย่าธุรกิจภัตตาคาร-ร้านอาหารพรีเมียม ภายใต้การนำทัพของ "ไพศาล อ่าวสถาพร" ลูกหม้อรุ่นบุกเบิกแบรนด์ “โออิชิ” พร้อมนำนวัตกรรมดิจิทัลเคลื่อนธุรกิจสู่โลกยุคใหม่ สู่เป้าหมาย ช้างใหญ่!

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา "ไพศาล อ่าวสถาพร" มือปั้นร้านอาหารญี่ปุ่นรุ่นบุกเบิกสร้างแบรนด์ "โออิชิ" เจ้าตำรับอาหารญี่ปุ่น หรือ KING OF JAPANESE FOOD  สู่การรับภารกิจปลุกปั้น "บิสโตร เอเชีย" ซึ่งเวลานี้กำลังเข็นไพลอตโปรเจกต์ต่างๆ ออกสู่ตลาดเปิดเกมรุกเต็มตัว! ด้วยปรากฎการณ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ลูกค้า สร้างสีสัน เขย่าคู่แข่งบรรดาร้านอาหาร ภัตตาคารระดับพรีเมียม 

พอร์ตธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ภายใต้อาณาจักร "บิสโตร เอเชีย" ครอบคลุมทั้งอาหารไทย จีน ตะวันตก เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แม้สาขาจะน้อย แต่มาก! ในเชิงมูลค่าทีเดียว 

 

 

สะท้อนได้ชัดเจน จากผลประกอบการพลิกจากขาดทุนตลอดห้วง 7-8 ปีที่ผ่านมา กลับมาเป็น "บวก" และมีทิศทางที่ดีแบบยกพอร์ตทีเดียว Bottom Line ของตัวเลขที่ดีขึ้นชัดเจนนั้น เป็นทั้งพลังและความท้าทายต่อก้าวรุกนำพา 6 แบรนด์ในมือเติบโตต่อเนื่อง

"บิสโตร เอเชีย" มีทั้งแบรนด์เก่าแก่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมายาวนาน แบรนด์แกะกล่องภายใต้ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ประกอบไปด้วย บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI) ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK Athenee) หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN) โซ อาเซียน (SO Asean Café & Restaurant) สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) และ ศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street)  นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยง อีกด้วย 

 

“ธุรกิจต้องโตต่อ! สร้างพอร์ตแบบโออิชิ แต่เน้นมูลค่าในความเป็นตลาดพรีเมียม วางเป้าหมาย (ก่อนเกษียณ) อยากผลักดันยอดขายทะยานสู่ 2,000-3,000 ล้านบาท ใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ บิสโตร เอเชีย ขยับสู่ช้างใหญ่...ให้กับไทยเบฟในอนาคตต่อไป”

ไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟ กล่าวถึงเป้าหมายและความท้าทายของการเคลื่อนทัพใหญ่ในครั้งนี้ให้เติบโตสอดรับไปกับ "Passion 2025" ของไทยเบฟ ที่ประกอบไปด้วย 

"Build"  สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับ และเพิ่มตลาดที่น่าสนใจ 

"Strengthen"  เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในระดับอาเซียน "Unlock"  นำศักยภาพของบริษัทมาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด ทั้งมุมทรัพยากรภายในและเครือข่ายพันธมิตร

ไพศาล อ่าวสถาพร ย้อนความว่า ออกสตาร์ท บิสโตร เอเชีย กับการดูแลแบรนด์ที่มีผลประกอบการเป็นลบ!  หากแต่ทยอยปลดล็อกข้อจำกัดก่อนฟื้นทำกำไร! และผลักดัน 6 แบรนด์ในมือเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่าสวนกระแสกำลังซื้อและเศรษฐกิจชะลอตัวในห้วงวิกฤติโควิด-19 

เครื่องมือสำคัญ นั่นคือ การปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งเมนูอาหารให้เข้ากับตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์และลูกค้าเป้าหมาย! ที่ลงลึกแต่ละแบรนด์ให้แตกต่างไปตาม “ทำเล” ช่วงเวลาเปิดบริการ เช่น หากร้านอยู่ในอาคารสำนักงาน จะมีชั่วโมงการขายสั้น เสาร์-อาทิตย์ ปิดบริการ จับลูกค้าได้เฉพาะมื้อกลางวัน ฉะนั้นจะต้องเน้นทำยอดขายช่วงเวลากลางวันให้ได้มากที่สุด 

“ช่วง 6 เดือนแรกเน้นปรับเปลี่ยน วางโครงสร้างการทำงาน บริหารจัดการใหม่ เพื่อพลิกรายได้ให้กลับมาเป็นบวกให้ได้!”

เมื่อเป้าหมายชัด "Pain Point" ที่มีถูกแก้ไขไปทีละเปลาะ พร้อมๆ กับการเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะ บริการดีลิเวอรี่ การแตกไลน์ ต่อยอด จากแบรนด์ที่แข็งแรง ผ่าน ชุดของขวัญ จัดเลี้ยง แม้กระทั่งบริการ "เชฟเทเบิ้ล" เป็นการเพิ่มแวลู สร้างมูลค่าเพิ่ม นำสู่ยอดขายที่พุ่งทะยาน!

ไทยเบฟ ดัน \"บิสโตร เอเชีย\" เขย่าคู่แข่งอาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม

เป็นที่มาของความสำเร็จก้าวแรกของ "บิสโตร เอเชีย" พลิกกำไรได้ภายใน 7 เดือน โดยผลประกอบการเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เติบโตกว่า 280% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 และสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด 29% ขณะที่ผลประกอบการปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) เติบโตถึง 76%

เมื่อหยุดเลือดไหล! ถึงเวลาเดินหน้าขุมพลัง! ทั้งหมดเคลื่อนทัพบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง  

ล่าสุด ส่งเรือธง ฟู้ด สตรีท (Food Street) ศูนย์อาหารดิจิทัล โดยมีสาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นต้นแบบ ในการขยายเครือข่าย วางแผนเปิดบริการที่โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) ปลายปี 2567

ปัจจุบัน ฟู้ดสตรีท ให้บริการ 4 สาขา นอกเหนือจากศูนย์ฯ สิริกิต์ ได้แก่ เดอะสตรีท รัชดา, CW Tower และ สาขาอาคารไทยเบฟสำนักงานใหญ่ ที่ยังอยู่ในรูปแบบเก่า 

ไทยเบฟ ดัน \"บิสโตร เอเชีย\" เขย่าคู่แข่งอาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม

ฟู้ด สตรีท จะเป็น โชว์เคส "ฟู้ดสตรีทดิจิทัล" ที่มาเขย่าเกมพลิกโฉมหน้าธุรกิจ "ศูนย์อาหาร" ในเมืองไทยอีกเช่นกัน 

ฟู้ด สตรีท  ถูกสร้างขึ้นเป็นหนึ่งตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเครือ ภายใต้แพลตฟอร์มศูนย์อาหารแนวใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน!  โดยมี สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดบริการเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พื้นที่ 900-1,000 ตร.ม.เป็นแฟลกชิพและต้นแบบของประสบการณ์ใหม่ ที่ได้นำระบบ “ดิจิทัล” มาใช้เต็มรูปแบบผ่านตู้ “คีออส” ที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูอาหาร และสั่งจากตู้แล้วไปรับที่ร้านที่เลือกไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวสั่งหน้าร้าน

ตู้คีออสนี้ยังรองรับการชำระเงินได้ทุกระบบทั้งแอพพลิเคชั่น คิวอาร์โค้ด รวมทั้งอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แรบบิทเพย์ และบัตรเครดิตต่างๆ รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกของดิจิทัล ช่วยแก้ Pain Point โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์ประชุม และมักประสบปัญหา “การใช้เงินสด” ขณะที่ลูกค้าชาวไทยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวเพื่อ “แลกบัตร”  ไม่ต้องเสียเวลารอคิวที่หน้าร้านอาหารอีกด้วย

“การทำฟู้ดคอร์ท ในปัจจุบัน ต้องมีแบรนด์ และใช้แบรนด์เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า เป็นเรื่องสำคัญ แม้การทำฟู้ด คอร์ท จะดูเหมือนแค่การนำร้านอาหารชื่อดัง อร่อยๆ มารวมอยู่ในศูนย์ แต่ลึกลงไปแล้ว การสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ทั้งจากบริการใหม่ๆ ร้านค้า หรือแม้แต่การดีไซน์ บรรยากาศ จะเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง"

ฟู้ด สตรีท  ไม่เพียงเข้ามาช่วยแก้ Pain Point ให้ลูกค้าเท่านั้น  แต่เข้ามาช่วยยกระดับความสามารถหรือทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงาน นำสู่การเปิดสาขาใหม่ และเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างค่อนข้างมาก

สำหรับ "ฟู้ด สตรีท" สาขาศูนย์ฯสิริกิติ์ ให้ความสำคัญกับการเลือกร้านอาหาร การดีไซน์บรรยากาศ ฉีกแนวไปจากทั่วไปที่เป็นลานนั่งโล่งๆ โดยทำเป็นโซนนิ่ง แบ่งเป็น 4 โซน คือ “ละเมียด-ละมัย-จี๊ดจ๊าด-จัดจ้าน” เลือกใช้สีหรือการดีไซน์ให้เข้ากับโซนให้อารมณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนกับการนั่งในฟู้ด คอร์ท ทั่วไป ที่เหมือนกันหมด ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้น

พร้อมความหลากหลายของเมนูอาหาร ตั้งแต่ข้าวราดแกงไปจนถึงหูฉลาม ในราคาที่จับต้องได้ง่าย  มีไฮไลต์ร้านอาหารมิชลิน สตาร์  ร้านเพ้ง คั่วไก่ และร้านราดหน้า 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือ  โดยร้านค้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือร้านประจำ 18 ร้านค้า และอีก 8 ร้านค้าที่เป็นร้านค้าหมุนเวียนตามฤดูกาล เปลี่ยนทุก 3 เดือน

อย่างไรก็ดี เวลานี้ "บิสโตร เอเชีย" ยังอยู่ระหว่างศึกษา “โรบอต คุ้กกิ้ง” เพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนและ "เชฟ" ขาดแคลน

"อะไรที่ต้องพึ่งเชฟควรต้องใช้โรบอตที่มีความเสถียรในการปรุงรสชาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารจีนยากสุด! นับเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเตรียมพร้อม"  

ไพศาล ย้ำว่า บิสโตร เอเชีย ไม่เพียงมุ่งขยายเครือข่ายร้านอาหารตาม “จังหวะ” และ “โอกาส”  ซึ่งจะมีการพัฒนาแบรนด์ใหม่ต่อเนื่อง หากแต่ยังมุ่งสร้างรายได้และสร้างแบรนด์แข็งแกร่งผ่านธุรกิจแห่งอนาคต ได้แก่ แพ็คเกจฟู้ด, กิ๊ฟบาสเก็ต และฟู้ดแฮมเปอร์ เรียกว่าต่อยอดทั้งเชิงคุณค่าและมูลค่าได้อย่างงาม 

ขณะเดียวกัน การเดินหน้าของธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารต้องเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่าง “อาหาร” และ “เครื่องดื่ม” ในเครือไทยเบฟ เป็นทั้งการ "ซินเนอร์ยี" ของพลังธุรกิจในเครือและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งไปพร้อมๆ กัน     

ในเร็วๆ นี้ บิสโตร เอเชีย เตรียมเปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ลำดับที่ 7 ในสไตล์ยูโรเปี้ยนฟู้ดที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ปักหมุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมเสิร์ฟก่อนการประชุม "APEC 2022"

ท้ายที่สุด แต่ยังไม่สุดท้าย แม่ทัพแห่งบิสโตร เอเชีย "ไพศาล อ่าวสถาพร" ย้ำว่า ตลาดต่างประเทศเป็นอีกเป้าหมายใหญ่ของ "บิสโตร เอเชีย" ว่าที่ช้างใหญ่แห่งไทยเบฟ