"ลิน" สานภารกิจ "สวีท ครีเอเชั่น" ลุยน้ำตาล 0 แคลอรี เกาะเทรนด์สุขภาพ

"ลิน" สานภารกิจ "สวีท ครีเอเชั่น" ลุยน้ำตาล 0 แคลอรี เกาะเทรนด์สุขภาพ

การหมั่นเติมความหวานอย่างพอเหมาะให้ชีวิต เป็นหนึ่งในรสชาติของความสุข ซึ่ง "น้ำตาล" เป็นคำตอบ ทว่า ท่ามกลางเทรนด์สุขภาพมาแรง "ลิน" ภายใต้กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง จึงลุยปั้น "ดีไลท์ พลัส" น้ำตาล 0 แคลอรี ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย สานเป้า สวีท ครีเอชั่น

เมื่อรสชาติของชีวิตนั้นมีหลากหลาย และหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนต้องการคือ “ความหวาน” เพื่มเติมเต็มความสุขในแต่ละวัน

แต่ถ้ามองมาที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับความหวาน “น้ำตาล” อาจนำโด่ง และหากพูดถึงองค์กรเก่าแก่ที่คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำตาล “กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง” ย่อมมีชื่อชั้นติดอยู่แถวหน้าของเมืองไทย เพราะถือเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 2

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ดำเนินธุรกิจมา 76 ปี จุดเริ่มต้นความหวานหรืออุตสาหกรรมน้ำตาล ปัจจุบันเติบใหญ่ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและใหม่ๆ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า กากน้ำตาลหรือโมลาส คลังสินค้า และอาคารสำนักงาน(ออฟฟิศ) เป็นต้น

“กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอยู่มา 76 ปี เราเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยจุดเริ่มต้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาล คุณปู่(สุรีย์ อัษฎาธร)ได้พัฒนาเครื่องจักรเพื่อผลิตน้ำตาลเอง” อัจฉรา งานทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เท้าความเป็นมา

องค์กรอยู่มานาน ตลาดโลกรู้จักกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองหรือแบรนด์ TRR เป็นอย่างดี ขณะที่การทำตลาดในประเทศเจาะลูกค้ารายย่อยผ่านแบรนด์ “ลิน” มีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

ทว่า แนวทางการสร้างแบรนด์เป็นไปในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้เล่นคนสำคัญ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมความหวานตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

\"ลิน\" สานภารกิจ \"สวีท ครีเอเชั่น\" ลุยน้ำตาล 0 แคลอรี เกาะเทรนด์สุขภาพ นอกจากผู้บริโภครายย่อย(B2C)อีกกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ(B2B) ทั้งเครื่องดื่ม ขนมหวานและเบเกอรีต่างๆ ซึ่งหากเจาะลึกในกลุ่มหลัง บริษัทมีกิจกรรมสำคัญอย่าง Lin Thailand Sweet Creation ทำต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2565 มีการย้ายสถานที่จัดมาเมืองทองธานี และผลตอบรับจากพันธมิตร คู่ค้าในวงการเบเกอรีอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมเปิดเวทีให้บรรดานักปั้นน้ำตาลหรือ Fondanct Icing โชว์ฝีมือ ซึ่งผู้ชนะจะได้ไปแข่งขันในเวทีโลกที่ประเทศอังกฤษ โดยมีลินเป็นผู้สนับสนุนด้วย

“ลินพัฒนาน้ำตาลเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกไลฟ์สไตล์ แต่หนึ่งในสิ่งที่แบรนด์ค้นพบตัวเอง คือการเป็นผู้สร้างสรรค์เมนู เพิ่มคุณค่าและรสชาติความอร่อย สร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ที่บางครั้งอาจคิดไม่ถึง”

ที่ผ่านมา ลินมีการพัฒนานวัตกรรมความหวานป้อนร้านเบเกอรีและขนมหวาน ไม่จำกัดแค่น้ำตาล แต่มีไซรัป น้ำตาลคลุมเค้กสำเร็จรูป(Fondant Icing) น้ำตาลคลุมและปั้นแต่งเค้ก(Fondant Icing)สีต่างๆ ซึ่งเป็นรายแรกที่ตอบโจทย์ลูกค้า หลังจากน้ำตาลดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ น้ำตาลเบเกอรี(Caster Sugar) ฯ ซึ่งวงการเบเกอรีรู้จักเป็นอย่างดี

“ลินคือแบรนด์ที่มีความครีเอชัน ทำให้เบเกอรี เครื่องดื่มของร้านมีตัวตน มีซิกเนเจอร์ เพิ่มคุณค่าให้ผู้ประกอบการ”

ปัจจุบันเทรนด์สุขภาพมาแรง ผู้บริโภคเริ่มตระหนักเรื่อง “ความหวาน” ลดบริโภคน้ำตาล มองหาสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล รวมถึงการจัดเก็บภาษีความหวาน มีผลกระทบต่อธุรกิจ “ลิน”ไม่นิ่งเฉยกับกระแส จึงปรับตัว และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “ลินไซรัป” 0 แคลอรี เพื่อตอบสนองตลาด โดยยังคงทำให้เค้ก เบเกอรีต่างๆมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มและรสชาติอร่อยเช่นเดิม

นอกจากนี้ เพื่อให้การรุกตลาดสุขภาพชัดเจน จึงปั้นแบรนด์ “ดีไลท์ พลัส” เป็นเรือธง พร้อมมองเป้าหมายสุขภาพผู้บริโภคในการนำเสนอสินค้าให้ตรงความต้องการ

สุรภี ธนสารสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวเสริมว่า แบรนด์ดีไลท์ พลัส เป็นแบรนด์สินค้าความหวานที่เหมือนใส่ใจเป้าหมายสุขภาพของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบทานอาหารสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวาน ลินมีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เลือก ส่วนการสื่อสารกับร้านเบเกอรี กลุ่ม B2B เน้นย้ำคุณภาพ และการปรับสูตรใช้กับเมนูขนมหวาน เบเกอรีได้อย่างลงตัว โดยยังคงความ “อร่อย” ที่เป็นหัวใจของร้านด้วย

“ลินมองภาพแบรนด์เป็นสวีท ครีเอชั่น ไม่แค่น้ำตาล และต้องการสร้างสรรค์ให้ธุรกิจเบเกอรี เครื่องดื่มต่างๆ มีเมนูที่ยูนีกเป็นของตัวเอง จุดประกายให้ธุรกิจต่อยอดได้”

\"ลิน\" สานภารกิจ \"สวีท ครีเอเชั่น\" ลุยน้ำตาล 0 แคลอรี เกาะเทรนด์สุขภาพ ที่ผ่านมา ลินจึงมีการเสิร์ฟความหวานแบบโอมากาเสะ ลูกค้าต้องการอะไร แบรนด์จะผสมผสานไซรัปลงในเมนูต่างๆเพื่อสร้างสิ่งใหม่ให้ลูกค้า จนเกิดเมนูซิกเนเจอร์ ไว้เสิร์ฟผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายต่อไป สร้างการเติบโตทุกฝ่ายหรือ win-win strategy 

อย่างไรก็ตาม แม้เทรนด์ผู้บริโภคจะเปลี่ยน แต่คาดการณ์ธุรกิจน้ำตาลยังขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและความต้องของโลก โดยในประเทศจะเห็นการฟื้นตัวของการบริโภคน้ำตาลแตะระดับ 24-25 ล้านกระสอบ หลังจากโควิด-19 ระบาดฉุดการบริโภคลดลง 1-2 ล้านกระสอบ