วันศุกร์เอ็นจอย...เหงาหงอยวันจันทร์ สัญญาณของโรคเบื่องาน

วันศุกร์เอ็นจอย...เหงาหงอยวันจันทร์  สัญญาณของโรคเบื่องาน

คงไม่ผิดหรอกที่จะบอกว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ หลายคนคงกำลังประสบปัญหาเบื่องานประจำที่ต้องทำอยู่ซ้ำๆ ทุกวัน

และเมื่อการทำงานคืบคลานจนผ่านพ้นถึงวันศุกร์ในช่วงเย็นประมาณ 18.00 น. ก็กลายเป็นช่วงที่คนทำงานตื่นตัว และมีความสุขมากที่สุด หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า TGIF เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเตรียมตัวต้อนรับสุดสัปดาห์แสนสุขที่กำลังจะมาถึง 

แต่พอเริ่มถึงวันอาทิตย์คนวัยทำงานก็เริ่มวิตกจริตกังวลกับสิ่งที่ต้องเผชิญในวันต่อมาอีกครั้ง อารมณ์ห่อเหี่ยวจิตตกไม่อยากให้ถึงเช้าวันจันทร์ทุกที เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า Monday Blue ซึ่งเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มเบื่อหน่ายกับงานที่เรากำลังทำอยู่

  • สัญญาณที่หนึ่ง TGIF : Thank God It Friday

วันศุกร์ใครๆ ก็ติดแฮชแท็ก #TGIF แล้วเคยนึกสงสัยไหมว่าหมายถึงอะไร? TGIF ย่อมาจาก Thank God It’s Friday ก็แปลเป็นไทยเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่ถึงวันศุกร์ซะที!”

ขอบคุณพระเจ้า ในที่สุดก็เดินทางมาถึงการทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์อย่างเป็นทางการ เหนื่อยมาตั้งสี่วันแล้ว พอถึงวันศุกร์ ชีวิตเริ่มจะมีพลังหลังจาก 16.00 น. เป็นต้นไป

อาจจะคิดว่าก็ปกตินี่ ใครๆ ก็เฝ้ารอวันหยุดหลังจากที่ต้องตื่นนอนแต่เช้า เผื่อเวลาสภาพจราจร คนแน่นขนัดบนรถไฟฟ้า เครียดกับงานล้นมือ มาตลอด 4-5 วัน เพื่อได้พักผ่อนกันทั้งนั้น เพราะวันหยุด เป็นวันที่เราได้ใช้เวลาตามใจตัวเอง ตั้งแต่เวลานอนจนถึงเวลาตื่น ไม่ต้องเผื่อเวลาสภาพจราจร คนแน่นขนัดบนรถไฟฟ้า เครียดกับงานล้นมือ เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นในทุกวันทุกสัปดาห์ จนกลายเป็นจุดร่วมของชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ไปแล้ว

นี่เป็นสัญญาณแรกของโรคเบื่องาน อาการ TGIF นั้นเกิดขึ้นจากภาวะความเครียดในการทำงานสะสมแต่ละวัน จนตัวเราเริ่มมีความรู้สึกโหยหาถึงวันหยุดที่ไม่ต้องทำงาน รู้สึกว่าวันทำงาน คือวันที่ทำให้ชีวิตของคุณไม่มีความสุข แค่คิดถึงกองงานที่ต้องทำในสัปดาห์นั้นก็รู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว และเมื่อวันศุกร์มาถึง และเราจะดี๊ด๊า คึกคักขึ้นมาทันที รอคอยที่จะปลดปล่อยความเครียดที่สะสมมาตลอดสัปดาห์

  • สัญญาณที่สอง : MONDAY BLUE

สัญญาณที่สองของโรคเบื่องาน คือ MONDAY BLUE อาการรักวันศุกร์ หมดสนุกวันจันทร์ แค่พูดคำว่าวันจันทร์ก็ท้อ เหมือนเป็นคำต้องห้ามสำหรับพนักงานออฟฟิศและนักเรียนนักศึกษาอย่างไรอย่างนั้น และไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาสากล คือตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสี่โมงเย็น แต่ละคนก็มีช่วงเวลาโปรดักทีฟต่างกัน พอต้องมาทำงานวันจันทร์เวลาเดิมๆ ที่รู้สึกว่าเราก็ยังไม่แอคทีฟมากพอ ก็เลยยิ่งทำให้เบื่อมากขึ้นไปอีก

อาการเกลียดวันจันทร์มีอยู่จริง และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย

การศึกษาจาก Lehigh University’s College of Business สหรัฐอเมริกา ในปี 2021 ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Information System Research ว่า อาการเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues) คือความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ กับการกลับมาทำงานหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า พนักงานที่ต้องมาทำงานในเช้าวันจันทร์นั้นมีอัตราความดันโลหิตสูงขึ้น ในขณะที่คนว่างงานหรือพวกฟรีแลนซ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตในเช้าวันจันทร์ 

และมีบทความของ CNBC ระบุไว้ว่า พนักงานจะรู้สึกไม่มีความสุขมากที่สุดในเวลา 11.17 น.ของเช้าวันจันทร์ กลับกันพวกเขาจะรู้สึกแฮปปี้ที่สุดในเวลา 15.47 น.ของวันศุกร์ ดังนั้นอาการเกลียดวันจันทร์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ได้ เมื่อถามว่า “ทำไมคนเราต้องเกลียดวันจันทร์” เรามาดูความเห็นพนักงานออฟฟิศกันดีกว่า ว่าทำไมพวกเขาถึงเกลียดวันจันทร์เข้าไส้

“เหนื่อย จากการหยุดยาวมาสองวัน รู้สึกยังพักไม่เต็มที่ก็ต้องมาทำงานอีกแล้ว ร่างกายล้า”

“เพราะวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ แล้วทุกคนแห่กันออกจากบ้านทั้งนักเรียนทั้งคนทำงาน รถมันติด คนเยอะ มัน drain energy มากกว่าวันอื่น”

เรามาขยายความเรื่อง Monday Blues อย่างละเอียด ๆ คือ ภาวะหดหู่ หงอยเหงา เศร้าซึมในเย็นวันอาทิตย์ และรู้สึกกลัวหรือกังวล ว่าวันจันทร์กำลังจะมาอีกแล้ว และต้องกลับเข้าสู่โหมดการทำงานเต็มตัวไปอีกทั้งสัปดาห์

ซึ่งภาวะเศร้า ๆ นี้ก็ไม่ได้จัดเป็นภาวะผิดปกติในทางจิตวิทยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า Monday Blue อาจเป็นสัญญาณของปัญหาบางอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ เป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคเบื่องาน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น เครียดเพราะปริมาณงานที่รับผิดชอบอยู่มีมากเกิน กังวลใจกับหน้าที่สำคัญที่ต้องแบกไว้บนบ่า เบื่อระบบที่ทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ มีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านายจู้จี้จุกจิก หรือ งานที่ทำอยู่น่าเบื่อซ้ำสากจำเจไม่ท้าทาย รู้สึกไม่ชอบงาน แต่ต้องทนทำงานไปวัน ๆ ไร้จุดมุ่งหมาย กำลังรู้สึกเบื่องานที่ทำ เบื่อสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และรู้สึกว่าการทำงานเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งที่ไม่อยากกลับไปเจออีก

  • อย่าปล่อยให้อาการเบื่องานวันจันทร์บั่นทอนทั้งสัปดาห์

เบื่อ เครียด เหวี่ยง กับวันจันทร์ที่ต้องเริ่มงาน? อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะแต่ละวันเราใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าในห้องนอนเสียอีก ยังไม่นับรวมเวลาในการเดินทางไปออฟฟิศและกลับบ้าน แต่ถ้าเราได้ทำงานที่รักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กร ก็ช่วยสร้างแรงจูงใจ ให้ตื่นมาทำงานด้วยความรู้สึกแฮปปี้ ตรงกันข้ามถ้ามีปัญหากับงานจนจัดการอารมณ์ไม่ได้ แน่นอนว่าส่งผลต่อจิตใจและร่างกาย หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้ตกอยู่ในภาวะเบื่องาน หมดไฟ หรือหมดใจในการทำงาน จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

แต่ถ้าทุกคนเกลียดวันจันทร์แล้วพาให้งานเสีย องค์กรแย่ลง คงไม่ดีแน่ ถ้าพนักงานในองค์กรคิดเหมือนกันหมด ศักยภาพในการทำงานลดลงแน่นอน ภาพรวมบริษัทก็อาจจะแย่ลงด้วย 

ทางออกทางหนึ่งขององค์กร ที่สามารถทำได้ ก็คือ กำหนดนโยบาย Work From Home วันจันทร์ เหมือนเป็นการให้พนักงานเตรียมพร้อมสำหรับการมาทำงานทั้งออฟฟิศ คือไม่ได้ให้หยุดงาน แต่อนุโลมให้ทำงานที่บ้านได้ หรือหากไม่มีการ Work From Home ในวันจันทร์ ก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนเวลาเข้างานเป็น 10 โมง พนักงานได้นอนพักผ่อนเพิ่มอีกหน่อย และไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด คนเยอะ ที่ยิ่งบั่นทอนพลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก